รักษากายรักษาใจด้วยหัวใจมนุษย์

กรุงเทพฯ--18 พ.ย.--thainhf

แบบอย่างที่ดีของแนวคิดใหม่ที่เรียกว่า Humanized Health Care (HHC) หรือการแพทย์ที่มีหัวใจของความเป็นมนุษย์ อาจเรียกขานได้ว่านอกจากจะเป็นการรักษากายไปพร้อมๆ กับรักษาใจแล้ว ยังเหนือกว่านั้นด้วยการพัฒนาจิตปัญญาไปในขณะเดียวกันด้วย เส้นทางการพัฒนาจิตปัญญานับวันจะเปิดกว้างมากขึ้นหากรักเรียนรู้ ดังที่นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้ช่วยผู้จัดการแผนงานพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพ มูลนิธิสดศรี–สฤษดิ์วงศ์ (มสส.) สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เผยว่าจากที่โรงพยาบาลต่างๆ ได้ช่วยกันทำเรื่องดีๆ จึงอยากให้ความดีนี้กระจายตัวสู่สังคมวงกว้าง เพราะเชื่อมั่นว่าระบบสุขภาพเป็น ‘จุดคานงัดที่ดี’ ในการสร้างแรงกระทบต่อสังคมโดยรวมเนื่องจากเป็นระบบใหญ่ที่มีผู้คนเดินเข้าออกโรงพยาบาลจำนวนมาก ถ้าสามารถพัฒนาจิตของผู้คนในระบบนี้ได้ทั้งในส่วนผู้ให้บริการ แพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ระดับต่างๆ รวมถึงผู้รับบริการอย่างผู้ป่วย ญาติ และชุมชนก็จะได้รับประโยชน์มาก โดยเฉพาะด้านการพัฒนาสุขภาวะทางจิตวิญญาณและปัญญา “การรักษาส่วนใหญ่ไม่ได้มองคนไข้อย่างเป็นองค์รวม ส่วนมากมองแค่อวัยวะที่ต้องการรักษา จึงเกิดแนวคิดผลักดันสร้างเครือข่ายโรงพยาบาลที่ให้การดูแลผู้ป่วยอย่างครบองค์รวมขึ้นมา เพื่อเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์จะได้มองเห็นองค์รวมของคนไข้จากการเห็นความเป็นมนุษย์ของพวกเขามากขึ้น ขณะเดียวกันมีความสามารถสัมผัสความทุกข์และบำบัดทุกข์ให้คนไข้ ไม่ใช่แค่การรักษาโรค” สำหรับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การแพทย์ที่มีหัวใจของความเป็นมนุษย์ผ่านเรื่องเล่า ‘ความสำเร็จเล็กๆ ที่ยิ่งใหญ่ในใจฉัน’ ในวันเสวนานั้นเรียกได้ทั้งเสียงหัวเราะและน้ำตา ทว่าทั้งหมดทั้งมวลล้วนสะท้อนจิตใจดีงามของแพทย์และพยาบาลผู้ทุ่มเททำงานในหน้าที่ และมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์อันเป็นแบบอย่างแก่ผู้อื่นได้ ดังนันทพร อาจองค์ พยาบาลวิชาชีพ 6 โรงพยาบาลราชบุรีที่เล่าว่า งานที่ทำให้เธอภาคภูมิใจมากสุดคือการเป็นหัวหน้าโครงการ ‘หอผู้ป่วยเอื้ออาทร’ ซึ่งเป็นหอผู้ป่วยอายุรกรรมหญิงบนชั้น 4 ตึกเจ้าฟ้า หอผู้ป่วยเอื้ออาทรคือแบบอย่างความพยายามทำ “โรงพยาบาลให้เป็นบ้าน” ที่เจ้าหน้าที่จะให้การต้อนรับดูแลเอาใจใส่ผู้ป่วยอย่างดีเสมือนญาติ มีต้นรักทำด้วยพลาสติกสำหรับแขวนกระดาษแผ่นเล็กๆ ที่ผู้ป่วยและญาติสามารถเขียนแสดงความรู้สึกหรือคำแนะนำ และมี ‘ห้องเอื้ออาทร’ สำหรับแพทย์ พยาบาลให้คำปรึกษาแก่ผู้ป่วยและญาติเดือนละ 2 ครั้ง นอกจากนั้นยังมีการนิมนต์พระมาที่ตึกเดือนละ 1 ครั้งเพื่อให้ผู้ป่วยร่วมทำบุญ ถวายสังฆทาน ส่วนผู้ที่นับถือศาสนาอื่นก็สนับสนุนให้ประกอบพิธีทางศาสนาในโรงพยาบาลได้โดยไม่มีข้อรังเกียจ ตลอดจนปรับปรุงสิ่งแวดล้อมภายในหอผู้ป่วยให้น่าอยู่อยู่เสมอ เช่น ปรับช่องทางอากาศให้ระบายได้ดีขึ้น ติดภาพทิวทัศน์สวยงามตามฝาผนัง รวมถึงมีมุมให้ความรู้เรื่องอาหารและสุขภาพด้วย ไม่ต่างจากลำดวน แจ้งทับใจ พยาบาลวิชาชีพ 7 งานเวชกรรมฟื้นฟู โรงพยาบาลราชบุรีที่ถ่ายทอดประสบการณ์ว่าเคยดูแลผู้ป่วยที่มีปัญหาข้อเข่าแข็ง งอไม่ได้ ไม่มีญาติ อยู่บ้านหลังเล็กๆ หลังคาผุพังเพียงลำพัง และหลังรักษาไม่หายก็ต้องกลับไปอยู่บ้านคนเดียวในสภาพขาพิการ ตนจึงคิดหาวิธีช่วยให้ผู้ป่วยพึ่งตนเองได้ โดยทำการดัดแปลงรถเข็นให้เหมาะกับผู้ป่วยเพื่อจะสามารถนั่งรถเข็นออกนอกบ้านได้ ในขณะเดียวกันก็ปรับปรุงห้องส้วมให้นั่งถ่ายด้วยตนเองได้ รวมถึงหาเงินบริจาคมาสร้างบ้านให้ใหม่ด้วย “ที่ทำเพราะอยากทำ ไม่ได้ถูกบังคับ ถ้าเกินความสามารถก็พยายามหาคนมาช่วย ทำเท่าที่ทำได้” แม้นถ้อยคำลำดวนจะสั้นๆ หากแฝงฝังความหมายของการให้ที่ไม่ใช่แค่การรักษาโรค แต่เป็นการดูแลจิตใจและสังคมอันลุ่มลึกยิ่ง เช่นเดียวกันกับการพากเพียรกระทำความดีด้วยความอดทนอย่างยาวนานต่อเนื่องของพุทธิพร ลิมปนดุษฎี หัวหน้าตึกอายุรกรรม 1 (ผู้ป่วยชายติดเชื้อเอดส์) พยาบาลประจำตึกผู้ป่วยโรคเอดส์ สถาบันบำราศนราดูร จังหวัดนนทบุรี ที่สะท้อนว่า “สมัครใจรักษาผู้ป่วยโรคเอดส์มาตั้งแต่แรก และทำงานกับผู้ป่วยโรคเอดส์มานาน 20 ปี บางครั้งรู้สึกเหนื่อยบ้าง ท้อบ้าง แต่ก็มีความสุขดี เพราะรู้สึกว่าที่ทำงานเหมือนบ้าน ทีมงานที่มีอยู่ 6 คนก็กลมเกลียวกันดี อยู่กันเหมือนพี่น้อง คนไข้เหมือนคนในครอบครัว แต่การทำงานในช่วงแรกยากลำบากมาก ทีมงานยุคบุกเบิกถูกรังเกียจจากคนรอบข้าง ไม่เว้นแม้แต่เจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลเดียวกัน ทุกคนถูกรังเกียจเหมือนเป็นคนไข้โรคเอดส์เสียเอง ไปซื้อข้าวก็ถูกแม่ค้ารังเกียจ เจ้าหน้าที่ที่นั่งทานข้าวอยู่พากันลุกเดินหนี คนที่เคยรับซักเสื้อผ้าก็ไม่ยอมซักให้ ต้องซักเอง ชุดพยาบาลก็ใส่ไม่ได้ ต้องใส่ชุดอื่น เพื่อให้คนอื่นรู้ว่าเป็นพยาบาลรักษาโรคเอดส์” พุทธิพรเผยความยากลำบากของการนับหนึ่ง ก่อนขยายความว่าที่ทนต่อการถูกรังเกียจมาได้เพราะคิดว่าผู้อื่นไม่เข้าใจ ไม่เคยโทษเขา เพราะเขาอาจไม่รู้ว่าโรคเอดส์ติดต่อได้ 3 ทาง คือ ทางเลือดที่อาจเข้าทางบาดแผลหรือใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน ทารกติดเชื้อเอดส์จากแม่ และเพศสัมพันธ์ ประสบการณ์การรักษาพยาบาลกว่า 20 ปี จนอาจถือได้ว่าเป็นผู้ที่ทำงานกับผู้ป่วยโรคเอดส์นานที่สุดในประเทศไทยนั้นด้านหนึ่งอาจนำความรู้มากมายมาสู่เธอจนเขียนเป็นตำราและเป็นอาจารย์สอนผู้อื่นได้ หากแต่ความรู้เหล่านั้นก็ต้องผ่านการลองผิดลองถูก เสี่ยงเป็นเสี่ยงตายทั้งตนเองและเพื่อนร่วมงานมาก่อน เนื่องจากสมัยนั้นยังไม่มีตำรา มีเพียงผู้ป่วยทั้งหลายเป็นครู ระหว่างการดูแลรักษาผู้ป่วยจึงต้องคิดค้นนวัตกรรมมากมายเพื่อมาตอบสนองความต้องการและขาดแคลน เช่น ช่วยกันประดิษฐ์ฟองน้ำมหัศจรรย์เพื่อป้องกันหูเปื่อย ช่วยคนไข้ให้รู้สึกสบาย ไม่เป็นแผล ไม่ปวด ไม่คัน รวมทั้งยังปรับปรุงหอผู้ป่วยให้น่าอยู่ด้วยการติดภาพตามเสาช่วยคลายเครียด เพิ่มกลิ่นหอมหรืออโรมาตั้งไว้ตามจุดต่างๆ เปิดเทปธรรมะให้ผู้ป่วยฟัง และให้ผู้ป่วยระยะสุดท้ายได้ทำสิ่งที่ต้องการทำมากสุดอย่างการพบภรรยาที่เลิกร้างกันไปนานเพื่อขอโทษ จะได้สบายใจ หมดเรื่องค้างคาใจ การรักษากายไปพร้อมๆ กับการรักษาใจดังตัวอย่างข้างต้นตึงเป็นแบบอย่างที่ดีที่นอกเหนือจะได้เยียวยารักษาคนไข้ทั้งทางกายและจิตใจแล้ว ตัวผู้ปฏิบัติเองยังได้พัฒนาจิต ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม “แผนงานฯ จึงใส่ใจให้เจ้าหน้าที่ที่มีหัวใจของความเป็นมนุษย์เหล่านี้ได้พบปะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน เพื่อให้ได้องค์ความรู้ชุดใหม่ที่สามารถนำมาพัฒนาระบบสุขภาพไปในทางที่ช่วยให้ทุกฝ่าย ทั้งผู้ให้บริการและผู้รับบริการมีสุขภาวะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสุขภาวะทางจิตวิญญาณ” นายแพทย์ประเสริฐสรุป เนาวรัตน์(เล็ก) ชุมยวง www.thainhf.org 02 511-5855 ต่อ 116

ข่าวประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์+ด้วยหัวใจวันนี้

"มูลนิธิ วิชัย ศรีวัฒนประภา" สร้างพลังชีวิตใหม่ด้วยหัวใจแห่งการให้ มอบตู้อบเด็กทารก 10 เครื่อง 10 โรงพยาบาล มุ่งสู่เป้าหมาย 100 เครื่องทั่วไทย

มูลนิธิ วิชัย ศรีวัฒนประภา สานต่อเจตนารมณ์ของการเป็นผู้ให้ ของคุณวิชัย ศรีวัฒนประภา อดีตประธานกรรมการมูลนิธิฯ จัดทำโครงการ "พลังคนไทย พลังใจให้ชีวิต" มอบตู้อบเด็กทารกแรกเกิดให้กับโรงพยาบาลประจำอำเภอต่อเนื่องเป็นปีที่ 7 เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการเพิ่มโอกาสรอดชีวิตให้กับทารกแรกเกิด โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ขาดแคลนอุปกรณ์ทางการแพทย์ ส่งมอบตู้อบเด็กทารกที่มีมาตรฐานระดับสากลแล้วรวม 90 เครื่อง 90 โรงพยาบาล โดยในปี 2568 มูลนิธิฯ เดินหน้าต่อด้วยการส่งมอบตู้อบเด็กจำนวน 10 เครื่องให้กับ 10 โรงพยาบาล เพื่อก้าวสู่

นายอภิชาติ กมลธรรม ประธานเจ้าหน้าที่บริหา... เอ็ม บี เค ร่วมสนับสนุน Run for Love#14 Love is Sharing เดิน-วิ่ง สังคมสดใส ด้วยหัวใจอาสา 2568 — นายอภิชาติ กมลธรรม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายกฎหมาย บริษั...

เรียกได้ว่ายังคงมุ่งมั่นสานต่อโครงการไฟ-ฟ... ข่าวซุบซิบ: คุณมาริสา จงคงคาวุฒิ จากทีเอ็มบี — เรียกได้ว่ายังคงมุ่งมั่นสานต่อโครงการไฟ-ฟ้า (FAI-FAH) โครงการดีๆเพื่อสังคมจากทีเอ็มบี ด้วยกิจกรรมที่อัด...

ประกาศผล โครงการรักลูกอวอร์ด ครั้งที่ 6

ปิดฉากกันไปเรียบร้อยแล้วสำหรับปฏิบัติการตามหาหนังสือดี “คัดสรรสื่อดี สู่ครอบครัวไทย” กับงานประกาศผลรางวัลชนะเลิศ Rakluke Award 2009 ครั้งที่ 6 เมื่อวันพฤหัสบดี ที่ 11 มิถุนายน 2552 และวันศุกร์ ที่ 12 มิถุนายน 2552 ณ ห้องประชุมกัลยาณมิตร บริษัทรักลูกกรุ๊ป จำกัด...

รักษากายรักษาใจด้วยหัวใจมนุษย์

แบบอย่างที่ดีของแนวคิดใหม่ที่เรียกว่า Humanized Health Care (HHC) หรือการแพทย์ที่มีหัวใจของความเป็นมนุษย์ อาจเรียกขานได้ว่านอกจากจะเป็นการรักษากายไปพร้อมๆ กับรักษาใจแล้ว ยังเหนือกว่านั้นด้วยการพัฒนาจิตปัญญาไปในขณะเดียวกันด้วย เส้นทางการพัฒนาจิตปัญญานับวันจะ...

คสม.ขับเคลื่อนแนวทางผลิตแพทย์รุ่นใหม่ที่มีหัวใจความเป็นมนุษย์

เมื่อเร็วๆ นี้ แผนงานพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพ มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ (มสส.) ร่วมกับ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร จัดเวทีขับเคลื่อนเครือข่ายการพัฒนาสุขภาพที่มีหัวใจความเป็นมนุษย์ (คสม.) เรื่อง “Humanized Health Care ใส่หัวใจให้ระบบสุขภาพ”...