กรุงเทพฯ--27 พ.ย.--พีอาร์พีเดีย
สมาคมเครื่องหนังไทยเผยโร้ดแม็ป พัฒนาศักยภาพอุตหสาหกรรมเครื่องหนังของเมืองไทยแบบองค์รวม เพื่อชิงความได้เปรียบด้านการแข่งขันในตลาดโลก ชูความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและผู้ประกอบการ คือปัจจัยหลักของความสำเร็จ
นายธวัฒน์ จิว นายกสมาคมเครื่องหนังไทย กล่าวว่า สินค้าเครื่องหนังของเมืองไทยได้รับการยอมรับจากตลาดโลก ทั้งในด้านคุณภาพของวัตถุดิบ ความประณีตในการผลิต และรูปแบบดีไซน์ที่มีทั้งความเป็นสากลและเอกลักษณ์ความเป็นไทย ซึ่งถือได้ว่าเป็นอุตสาหกรรมหนึ่งที่สร้างรายได้อย่างต่อเนื่องและภาพลักษณ์ที่ดีให้กับประเทศ
ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2551 สินค้าเครื่องหนัง เครื่องใช้ในการเดินทาง และรองเท้า สามารถทำรายได้จากการส่งออกรวมประมาณ 1,500.66 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 52,523 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.44 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2550 สำหรับเป้าหมายมูลค่าการส่งออกทั้งปี 2551 อยู่ที่ประมาณ 1,826 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 63,910 ล้านบาท ซึ่งปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2550 5 เปอร์เซ็นต์ และคิดเป็นสัดส่วน 0.87 เปอร์เซ็นต์ของมูลค่าการส่งออกรวมทั้งประเทศ โดยมีตลาดส่งออกสำคัญ 5 ลำดับแรก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา, ฮ่องกง, เดนมาร์ก, จีน และเวียดนาม ซึ่งทั้ง 5 ประเทศนี้ รวมมีสัดส่วนการตลาดอยู่ที่ 45.30 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่ตลาดอื่นที่มีอัตราการขยายตัวสูง ได้แก่ ปากีสถาน, อินโดนีเซีย และไต้หวัน
“แต่เนื่องจากสภาพความต้องการของตลาดโลกมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา อีกทั้งมีคู่แข่งในหลายประเทศเกิดใหม่เพิ่มขึ้น ในขณะที่ภายในประเทศเองก็มีสินค้าราคาถูกจากประเทศคู่แข่ง อย่าง จีน หลั่งไหลเข้ามา รวมไปถึงสินค้าลอกเลียนแบบ ซึ่งสร้างปัญหาให้กับมาตรฐานของวงการอุตสาหกรรมโดยรวม ทางสมาคมเครื่องหนังไทยจึงได้จัดทำแผนกลยุทธ์การดำเนินการสำหรับอุตสาหกรรมเครื่องหนัง หรือโร้ดแม็ป เพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องหนังของเมืองไทยโดยรวม เพื่อรักษาและเพิ่มระดับความแข็งแกร่งด้านการแข่งขันของสินค้าเครื่องหนังไทย จากคู่แข่งทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงเป็นการกำหนดมาตรฐานให้กับตลาดผู้ใช้สินค้าเครื่องหนังในประเทศอีกด้วย”
นายธวัฒน์ กล่าวต่อว่า ทางสมาคมเครื่องหนังไทยได้รับเกียรติจากศาสตราจารย์ ดร.โนเอล โจนส์ ที่ปรึกษาด้านธุรกิจข้ามชาติและการบริหาร เป็นผู้ดูแลการจัดทำโร้ดแม็ป โดยผลการศึกษาพบว่าปัจจัยสำคัญต่อการพัฒนาศักยภาพของอุตสาหกรรมเครื่องหนังของเมืองไทย เพื่อชิงความได้เปรียบในการแข่งขันกับคู่แข่งจากทั่วโลกนั้น คือการประสานความร่วมมือจากองค์กรที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ทั้งระหว่างภาครัฐและผู้ประกอบการเอกชน และระหว่างผู้ประกอบการด้วยกันเอง
ผลการศึกษาขั้นต้นระบุว่าองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาศักยภาพของอุตสาหกรรมเครื่องหนังแบบองค์รวม ประกอบด้วย 6 ประเภทองค์กร ได้แก่
1) องค์กรที่เกี่ยวข้องกับการสร้างสรรค์และโปรโมทแบรนด์สินค้า
2) องค์กรที่เกี่ยวข้องกับการบริหารผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม การฝึกหัดและพัฒนาฝีมือแรงงาน
3) องค์กรที่เกี่ยวข้องกับงานด้านการสื่อสารและการประสานการดำเนินงานระหว่างองค์กรที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย
4) องค์กรที่เกี่ยวข้องกับงานด้านวิจัยและพัฒนานวัตกรรมสำหรับอุตสาหกรรมเครื่องหนัง
5) องค์กรที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางการตลาด และ
6) องค์กรที่เกี่ยวข้องกับงานด้านรัฐสัมพันธ์ และการสนับสนุนจากภาครัฐ
“ในขั้นต่อไป ทางสมาคมฯ จะเชิญองค์กรที่เกี่ยวข้องในทุกประเภทมาร่วมหารือ เพื่อกำหนดเป็นแผนการดำเนินการในช่วงต่อไป และเชื่อมั่นว่าหากทุกองค์กรให้ความสำคัญและประสานการทำงานร่วมกัน สินค้าเครื่องหนังจะสามารถเติบโตเพิ่มมากขึ้นและรวดเร็วยิ่งขึ้น และจะกลายเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักของประเทศไทย เช่นเดียวกับ การท่องเที่ยว” นายธวัฒน์ กล่าวสรุป
ข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ
ชัยวัฒน์ สิมะวัฒนา / พชรวดี จุโลทัย / ปาณิศา ใจรักษาธรรม
บริษัท พีอาร์พีเดีย จำกัด
โทร 0-2662-0550
มือถือ 08-9811-7937 / 08-5055-1473 / 08-9106-9967
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit