ผลสำรวจการกำกับดูแลกิจการปีนี้ บจ. โดยรวมคะแนนดีขึ้น บริษัท SET100 ทำคะแนนดีกว่าภาพรวม

กรุงเทพฯ--24 พ.ย.--ตลท.

นายชาญชัย จารุวัสตร์ กรรมการผู้อำนวยการ สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย เปิดเผยว่า ในปีนี้ (2551) บริษัทจดทะเบียนไทยมีคะแนนเฉลี่ยจากการสำรวจการกำกับดูแลกิจการบริษัทจดทะเบียนเพิ่มขึ้นเป็น 75 เปอร์เซ็นต์จาก 71 เปอร์เซ็นต์เมื่อปี 2549 ซึ่งเมื่อพิจารณาเฉพาะบริษัทในกลุ่ม SET 100 ก็ยิ่งมีคะแนนดีขึ้น โดยในปีนี้มีคะแนนเฉลี่ยถึง 83 เปอร์เซ็นต์เปรียบเทียบกับ 78 เปอร์เซ็นต์เมื่อปี 2549 “ผลสำรวจในปีนี้สะท้อนให้เห็นว่าบริษัทจดทะเบียนไทยมีพัฒนาการด้านการกำกับดูแลกิจการ (Corporate Governance) ที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และสะท้อนถึงความสำเร็จที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย IOD และสมาคมบริษัทจดทะเบียนได้รณรงค์ให้บริษัทจดทะเบียนให้ความสนใจในเรื่องการกำกับดูแลกิจการได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะบริษัทในกลุ่ม SET 100 ที่นอกจากคะแนนเฉลี่ยจะสูงกว่าบริษัททั้งหมดโดยรวมแล้ว บริษัทเกือบทั้งหมดในกลุ่มนี้ยังมีคะแนนรวมเกินกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป” นายชาญชัยกล่าว เมื่อวันศุกร์ที่ 21 พฤศจิกายน 2551 คณะอนุกรรมการสร้างความรู้ความเข้าใจและประชาสัมพันธ์การดำเนินการเกี่ยวกับ Corporate Governance ในประเทศไทย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) และสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) ได้จัดการสัมมนาเพื่อเผยแพร่ผลสำรวจการกำกับดูแลกิจการของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และตลาดหลักทรัพย์ MAI ประจำปี 2551 โดยนายปกรณ์ มาลากุล ณ อยุธยา ประธานกรรมการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และประธานคณะอนุกรรมการสร้างความรู้ความเข้าใจฯ เป็นผู้เปิดการสัมมนา การสำรวจในครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 6 นับตั้งแต่ได้มีการสำรวจครั้งแรกในปี 2544 และผลสำรวจได้นำเสนอในรายงาน Corporate Governance Report of Thai Listed Companies (CGR) ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาบริษัทจดทะเบียนไทยมีคะแนนที่ดีขึ้นมาโดยตลอด คือ จากคะแนนเฉลี่ยเพียง 50 เปอร์เซ็นต์ในปี 2544 มาเป็น 75 เปอร์เซ็นต์ในปีนี้ ในปี 2551 มีบริษัทจดทะเบียนที่ได้รับการสำรวจจำนวน 448 บริษัท โดยมีการให้คะแนนตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการโครงการกำหนดขึ้นรวม 132 ข้อ ซึ่งอิงตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (Organization for Economic Cooperation and Development – OECD) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย 5 หมวด คือ 1) สิทธิของผู้ถือหุ้น 2) การปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นอย่างเท่าเทียมกัน 3) การคำนึงถึงบทบาทของผู้มีส่วนได้เสีย 4) การเปิดเผยข้อมูลและความโปร่งใส 5) ความรับผิดชอบของคณะกรรมการ ซึ่งผลสำรวจปรากฎว่า บริษัทจดทะเบียนได้คะแนนสูงสุดในหมวดการเปิดเผยข้อมูลและความโปร่งใส รองลงมาคือหมวดสิทธิของผู้ถือหุ้นที่ได้คะแนนเฉลี่ย 88 และ 86 เปอร์เซ็นต์ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม นายชาญชัยจารุวัสตร์ กล่าวว่า “ในหมวดบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการ บริษัทจดทะเบียนยังได้คะแนนเฉลี่ยที่ยังต่ำอยู่คือระดับ 57 เปอร์เซ็นต์ จึงต้องได้รับการพัฒนาและมุ่งเน้นการฝึกอบรมต่อไป” เมื่อพิจารณาคะแนนในภาพรวม ในปีนี้มีบริษัทประมาณ 3 ใน 4 ของบริษัทที่ทำการสำรวจได้รับคะแนนในระดับที่สูงกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ซึ่งถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดี และมี 22 บริษัท (ร้อยละ 5 ของบริษัทที่ทำการสำรวจ) ที่ได้คะแนนในระดับ 90 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป โดยในกลุ่ม SET 100 มีบริษัทที่ได้คะแนนเกินกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ 91 บริษัทจากบริษัทที่ทำการสำรวจ 96 บริษัทหรือคิดเป็นร้อยละ 95 ในขณะที่บริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กก็มีผลสำรวจอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจเช่นกัน โดยมีบริษัทขนาดกลางและเล็กร้อยละ 76 และ 63 ที่ได้คะแนนเกินกว่าร้อยละ 70 เช่นเดียวกัน “ผลสำรวจที่ดีอย่างต่อเนื่องนี้เท่ากับเป็นภาพสะท้อนถึงความสำเร็จของความพยายามของทุกองค์กรที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาการกำกับดูแลกิจการของบริษัทจดทะเบียนไทย ซึ่งนอกจากจะมีพัฒนาการที่ดีขึ้นแล้ว ยังขยายวงกว้างขึ้นอย่างต่อเนื่อง มิได้จำกัดอยู่เฉพาะบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ แต่ยังขยายไปถึงบริษัทจดทะเบียนขนาดเล็ก หรือแม้แต่บริษัทในกลุ่ม MAI ก็ตาม ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดีที่จะช่วยสร้างให้เกิดความเข้มแข็งของตลาดทุนไทยต่อไป” นายปกรณ์ มาลากุล ณ อยุธยา กล่าว ต่อเรื่องนี้ นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า “การที่มีผลสำรวจการกำกับดูแลกิจการโดยพิจารณาจากข้อมูลที่เปิดเผยออกมาในลักษณะนี้ จะช่วยให้ผู้ลงทุนมีข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุนมากขึ้น นอกเหนือจากการพิจารณาข้อมูลทางการเงินและผลประกอบการของบริษัทแล้ว ผู้ลงทุนที่มุ่งหวังลงทุนระยะยาว ควรพิจารณาความน่าเชื่อถือในด้านการกำกับดูแลกิจการของบริษัทประกอบด้วย ซึ่งปัจจุบัน ก.ล.ต. ได้ขอความร่วมมือให้บริษัทหลักทรัพย์นำผลสำรวจที่บริษัทจดทะเบียนได้รับจากโครงการนี้แสดงไว้ในรายงานการวิเคราะห์หลักทรัพย์ด้วย เพื่อให้ผู้ลงทุนมีข้อมูลครบถ้วนรอบด้านประกอบการตัดสินใจลงทุนในบริษัทนั้น” จากผลสำรวจที่ได้พบว่าบริษัทจดทะเบียนของไทยมีแนวปฎิบัติในหลายๆ ด้านที่เทียบเท่ามาตรฐานสากล อาทิเช่น การอนุมัติค่าตอบแทนกรรมการ ที่บริษัทถึงร้อยละ 96 เสนอค่าตอบแทนกรรมการให้ที่ประชุมผู้ถือหุ้นพิจารณาอนุมัติทุกปี และยังมีบริษัทถึงร้อยละ 91 ที่มีการใช้บัตรลงคะแนนในการลงคะแนนเสียงในที่ประชุมผู้ถือหุ้น และมีฝ่ายตรวจสอบภายในซึ่งรายงานตรงต่อคณะกรรมการตรวจสอบ ในขณะที่บริษัทร้อยละ 87 มีการแยกตำแหน่งระหว่างประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เป็นต้น นางภัทรียา เบญจพลชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า “การที่บริษัทจดทะเบียนให้ความสำคัญกับการกำกับดูแลกิจการและพยายามพัฒนาให้ดีขึ้น จะทำให้ตลาดหลักทรัพย์ของไทยมีความน่าเชื่อถือมากขึ้น และสามารถดึงดูดเงินทุนจากนักลงทุนที่ต้องการลงทุนระยะยาวได้มากขึ้น โดยเป็นที่น่าดีใจว่าบริษัทในกลุ่ม SET100 ซึ่งมีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Capitalization) ประมาณร้อยละ 78 ของมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดโดยรวม ได้รับคะแนนจากการสำรวจครั้งนี้อยู่ในเกณฑ์ที่ดีเกือบทั้งหมด” นอกจากนั้น ศ.หิรัญ รดีศรี ประธานกรรมการโครงการกล่าวว่า “โครงการ CGR เป็นโครงการที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล โดยปัจจุบันมีสถาบันกรรมการในประเทศอื่นในแถบเอเซีย นำหลักเกณฑ์และวิธีการของโครงการนี้ไปใช้กับบริษัทจดทะเบียนในประเทศของตนแล้วถึง 4 ประเทศ” Khun Wirawan Munnapinun Senior CG Analyst Thai Institute of Directors Association Tel. 0 2264 0870 ext. 333 Fax. 0 2264 0872

ข่าวสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย+สถาบันกรรมการบริษัทไทยวันนี้

MSC ได้รับการรับรองต่ออายุสมาชิกแนวร่วมต่อต้านคอร์รัปชันของภาคเอกชนไทย ครั้งที่ 2

บริษัท เมโทรซิสเต็มส์คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ MSC ดำเนินธุรกิจเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างครบวงจร ภายใต้วิสัยทัศน์ "เราจะให้บริการอย่างเป็นเลิศแก่ลูกค้าด้วยโซลูชั่นไอทีที่ดีที่สุด" ได้รับการต่ออายุรับรองครั้งที่ 2 เป็นสมาชิกแนวร่วมต่อต้านคอร์รัปชันของภาคเอกชนไทย (Thai Private Sector Collective Action Against Corruption: CAC) จากสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของ MSC ใน การดำเนินธุรกิจภายใต้หลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี ดำเนินธุรกิจอย่างมีคุณธรรม

บริษัท เมโทรซิสเต็มส์คอร์ปอเรชั่น จำกัด (... MSC ได้รับการรับรองต่ออายุสมาชิกแนวร่วมต่อต้านคอร์รัปชันของภาคเอกชนไทย ครั้งที่ 2 — บริษัท เมโทรซิสเต็มส์คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ MSC ดำเนินธุรกิจเ...

นายกรพัส อัจฉริยมานีกูล ประธานเจ้าหน้าที่... GFC คว้า CGR 5 ดาว ตอกย้ำองค์กรกำกับดูแลกิจการระดับ "ดีเลิศ" — นายกรพัส อัจฉริยมานีกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจเนซีส เฟอร์ทิลีตี เซ็นเตอร์ หรือ G...

นายอัฒฑวุฒิ หิรัญบูรณะ (ซ้าย) ประธานกรรมก... SELIC รับประกาศนียบัตรรับรองการต่ออายุเป็นสมาชิกแนวร่วม ต่อต้านคอร์รัปชันของภาคเอกชนไทย (CAC) — นายอัฒฑวุฒิ หิรัญบูรณะ (ซ้าย) ประธานกรรมการ บริษัท ซีลิค ค...

นายกฤชวัฒน์ วรวานิช (ซ้าย) กรรมการ บริษัท... COM7 คว้ารางวัล CAC ต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 2 ตอกย้ำความมุ่งมั่นองค์กรโปร่งใส ต่อต้านคอร์รัปชัน — นายกฤชวัฒน์ วรวานิช (ซ้าย) กรรมการ บริษัท คอมเซเว่น จำกัด ...

บริษัท ออโรร่า ดีไซน์ จำกัด (มหาชน) หรือ ... AURA คว้ารางวัล CGR 2024 ระดับ 5 ดาว ตอกย้ำองค์กรค้าปลีกทองรูปพรรณ กำกับดูแลกิจการที่ดีเลิศ — บริษัท ออโรร่า ดีไซน์ จำกัด (มหาชน) หรือ AURA นำโดย นายอนิวร...

บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้รับผลการประเ... ปตท. คว้าคะแนน CGR ระดับ "ดีเลิศ" ต่อเนื่อง 16 ปีซ้อน — บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้รับผลการประเมินการกำกับดูแลกิจการในระดับดีเลิศ (Excellent CG Scoring)...