ประชุมหน่วยงานสาธารณูปโภคพื้นที่กรุงเทพฯ ติดตามการจ่ายท่อประปาเร่งด่วนตามที่ได้ลงนาม MOU ระหว่าง กทม.กับการประปานครหลวง โดยเริ่มจ่ายท่อประปาในเดือน ก.พ.51 นี้ ใน 22 เขต 144 เส้นทาง พร้อมทุ่มงบประมาณ กทม. 91 ล้านบาท ส่วนการขุดเจาะของหน่วยงานสาธารณูปโภคต้องปฏิบัติตามคู่มืออย่างเคร่งครัด
นายพิชัย ไชยพจน์พานิช รองปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการประสานงานด้านสาธารณูปโภคในเขตกรุงเทพมหานคร ระดับอำนวยการ (ปสอ.) ครั้งที่ 1(38)/2551 พร้อมเปิดเผยกับสื่อมวลชนภายหลังการประชุม ว่า การประชุมคณะกรรมการประสานงานด้านสาธารณูปโภคในเขตกรุงเทพมหานคร ระดับอำนวยการ ครั้งนี้ เป็นการติดตามงานที่ได้มีการประสานงานร่วมกับหน่วยงานสาธารณูปโภค และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น การประปานครหลวง การไฟฟ้านครหลวง บ.TOT จำกัด(มหาชน) บ.กสท.โทรคมนาคม จำกัด(มหาชน) กรมโยธาธิการและผังเมือง การทางพิเศษแห่งประเทศไทย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย การรถไฟแห่งประเทศไทย การเคหะแห่งชาติ กรมทางหลวงชนบท กองบัญชาการตำรวจครบาล ให้ดำเนินการไปในทิศทางเดียวกันและอยู่ภายใต้เงื่อนไขการดำเนินการที่กรุงเทพมหานครกำหนดขึ้น
ในที่ประชุมได้ติดตามผลการดำเนินการตามที่ได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมมือในการติดตั้งบริการน้ำประปาเร่งด่วนในพื้นที่กรุงเทพมหานครระหว่างกรุงเทพมหานครกับการประปานครหลวง ระยะที่ 1 ในพื้นที่ 24 เขต จำนวน 149 เส้นทาง ซึ่งการประปานครหลวงได้ดำเนินการประมาณราคาค่าใช้จ่ายพื้นที่ชั้นนอกจำนวน 22 เขต 144 เส้นทาง วงเงินค่าก่อสร้าง 182 ล้านบาท ซึ่งตามข้อตกลงกรุงเทพมหานครจะสนุบสนุนงบประมาณครึ่งหนึ่ง ประมาณ 91 ล้านบาท โดยจะดำเนินการก่อสร้างภายในเดือน ก.พ.51 ซึ่งขณะนี้การประปานครหลวงได้ยื่นขออนุญาตมาที่กองแผนงานและประสานสาธารณูปโภค สำนักการโยธา เป็นจำนวน 13 เขต 52 เส้นทาง โดยจะเร่งรัดการดำเนินการให้ครอบคลุมพื้นที่ที่ยังไม่มีน้ำประปาใช้ทั้งหมดโดยเร็ว
ทั้งนี้กรุงเทพมหานครได้มีการหารือกับการประปานครหลวง (กปน.) และหน่วยงานของกรุงเทพมหานคร สำนักงานเขตรอบนอกของกรุงเทพมหานคร ในการพิจารณาข้อกำหนดทางด้านเทคนิค หรือ MOU เกี่ยวกับหลักเกณฑ์การให้บริการติดตั้งประปา หลักเกณฑ์ค่าดำเนินการ แนวทางการดำเนินการ ซึ่งในเบื้องต้นการกำหนดข้อความใน MOU กำหนดให้กรุงเทพมหานครและการประปานครหลวงออกค่าใช้จ่ายในการดำเนินการคนละครึ่ง ซึ่งเท่าที่ผ่านมาเป็นภาระของการประปานครหลวงมาโดยตลอด ดังนั้นกรุงเทพมหานครจึงได้เข้ามาแบ่งเบาภาระเนื่องจากเป็นเรื่องการให้บริการแก่ประชาชน
นอกจากนั้นการประชุมยังได้ติดตามแนวทางการจัดการเพื่อลดปัญหาการร้องเรียนของประชาชนและแก้ไขปัญหาข้อร้องเรียนที่เกิดขึ้น ซึ่งในพื้นที่กรุงเทพมหานครมีหน่วยงานต่างๆ เข้าดำเนินการก่อสร้าง คือ การประปานครหลวง การไฟฟ้านครหลวง หน่วยงานให้บริการโทรศัพท์ อาทิ บ.ทีโอที บ.กสท. และ บ.ทรู และหน่วยงานอื่นๆ ซึ่งบ่อยครั้งมีการร้องเรียนจากประชาชนในความไม่สะดวกด้านการสัญจรจากการก่อสร้าง ทั้งนี้ส่วนใหญ่เกิดจากการขุดเจาะพื้นถนนหรือทางเท้า ซึ่งปัญหาส่วนใหญ่คือ การก่อสร้างไม่ตรงตามแบบที่ได้รับอนุญาต ติดป้ายประกาศรายละเอียดการก่อสร้าง ไม่เปิดหน้างานเป็นช่วงสั้นๆ แต่เปิดยาวเกิน 50 เมตร ไม่ติดตั้งเครื่องหมายป้องกันอันตราย ไม่ก่อสร้างเฉพาะช่วงเวลากลางคืน ไม่ขนย้ายเศษวัสดุภายใน 24 ชั่วโมงเมื่องานเสร็จ กองวัสดุ เครื่องจักรกีดขวางการจราจร สูบน้ำลงพื้นที่ถนนหรือทางเท้า วางท่อสาธารณูปโภคตัดแนวท่อระบายน้ำ ทำตะแกรงช่องรับน้ำเสียหาย ใช้วัสดุผิดประเภทในการซ่อมหรือคืนสภาพเดิม ซึ่งปัญหาต่างๆ เหล่านี้ต้องได้รับการแก้ไขโดยด่วนเพื่อป้องกันข้อร้องเรียนจากความเดือดร้อนของประชาชน โดยขณะนี้กรุงเทพมหานครได้ปรับปรุงคู่มือดำเนินการด้านสาธารณูปโภคในพื้นที่ และส่งให้ผู้เกี่ยวข้องพร้อมกำชับให้ปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ในคู่มือดังกล่าวจะเน้นด้านความปลอดภัยของประชาชนที่สัญจร