กรุงเทพฯ--6 มี.ค.--กรมทรัพยากรน้ำบาดาล
จากกรณีที่หนังสือพิมพ์ข่าวสดนำเสนอข่าวเด็กนักเรียนโรงเรียนวัดทุ่งเศรษฐี บ้านห้วยบง ต.ป่าเซ่า อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์ จำนวน 60 คน เป็นโรค "ฟันตกกระ" โดยฟันแต่ละซี่มีลักษณะเป็นจุดขาวขุ่น หรือสีเหลืองปนน้ำตาลในเนื้อฟัน คล้ายกับผิวหนังตกกระ สาเหตุมาจากการดื่มน้ำในบ่อน้ำบาดาล ในหมู่บ้านที่อยู่ใกล้กับโรงเรียน ซึ่งมีสารฟลูออไรด์เกินค่ามาตรฐาน ส่งผลกระทบต่อฟันอย่างรุนแรง เนื่องจากสารดังกล่าวกัดกินเนื้อฟัน บางรายรุนแรงเป็นคราบหนา โดยผู้ใหญ่บ้านวอนให้ทางจังหวัดส่งทันตแพทย์เข้ามาช่วยเหลือเป็นการด่วน นั้น
นายโชติ ตราชู รองอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาลเปิดเผยว่า ขณะนี้ได้สั่งการให้ศูนย์ทรัพยากรน้ำบาดาลภาค 12 จังหวัดกำแพงเพชร ซึ่งดูแลรับผิดชอบพื้นที่จังหวัดอุตรดิตถ์ ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปเก็บตัวอย่างน้ำบาดาลในพื้นที่ทั้งหมดและพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อนำไปวิเคราะห์ปริมาณฟลูออไรด์ที่สูงเกินมาตรฐานน้ำดื่ม (0.7 มิลลิกรัมต่อลิตร) และจะเร่งประสานงานกับจังหวัดอุตรดิตถ์เพื่อจัดทำระบบปรับปรุงคุณภาพน้ำเพื่อกำจัดฟลูออไรด์ให้ได้ตามมาตรฐานน้ำดื่ม เพื่อประชาชนจะได้มีน้ำดื่มสะอาด ถูกหลักอนามัยและเป็นการแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำดื่มอย่างถาวร
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมากรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้ดำเนินกิจกรรมการปรับปรุงคุณภาพน้ำ มาอย่างต่อเนื่อง คือ ปี 2547 จำนวน 1,000 แห่ง ปี 2550 จำนวน 200 แห่ง และปี 2551 จำนวน 50 แห่ง ในพื้นที่ของจังหวัดเชียงราย กำแพงเพชร สุโขทัย อุทัยธานี กาญจนบุรี ลำปาง พะเยา นครปฐม และประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วน้ำบาดาลจะมีคุณภาพที่ดี สะอาด แต่มีบางพื้นที่ที่อยู่ใกล้กับแหล่งแร่ หรือหินอัคนีจะทำให้น้ำมีแร่ธาตุเจือปนอยู่สูงกว่าระดับมาตรฐานน้ำดื่ม เช่น ฟลูออไรด์ หากประชาชนดื่มเป็นประจำจะทำให้เกิดโรคฟันตกกระ (ฟันเหลือง) ดังนั้น เพื่อให้ประชาชนมีน้ำดื่มที่สะอาดถูกหลักอนามัย กรมทรัพยากรน้ำบาดาลจึงมีแนวทางในการปรับปรุงคุณภาพน้ำให้มีคุณสมบัติตามมาตรฐานน้ำดื่ม โดยการก่อสร้างระบบปรับปรุงคุณภาพน้ำเพื่อให้ได้มาตรฐานน้ำดื่ม ติดตั้งเครื่องกรองน้ำแบบออสโมซิสย้อนกลับ (Reverse Osmosis : RO) ซึ่งหลักการของวิธีนี้คือ การใช้แรงดันอัดน้ำที่มีแร่ธาตุละลายอยู่สูงให้ซึมผ่านเยื่อเมมเบรนที่มีคุณสมบัติในการกรองแร่ธาตุต่าง ๆ ออกจากน้ำ น้ำที่ผ่านเยื่อเมมเบรนจะเหลือแร่ธาตุเพียงเล็กน้อย จึงเหมาะที่จะใช้ในการกำจัดความกระด้าง คลอไรด์ ฟลูออไรด์ ไนเตรต และปริมาณสารทั้งหมด ที่ละลายได้ แม้ว่าวิธีออสโมซิสย้อนกลับจะเสียค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง แต่จำเป็นต้องใช้วิธีนี้ในกรณีที่ต้องการนำน้ำไปใช้เพื่อการบริโภค และไม่สามารถหาแหล่งน้ำอื่นมาทดแทนได้