กรุงเทพฯ--19 มี.ค.--สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ
นายถวัลย์ โขมศิริ ประธานชมรมผู้เลี้ยงสุกรฉะเชิงเทรา (ผู้ใหญ่ถวัลย์) เปิดเผยว่า ปัจจุบัน ผู้เลี้ยงหมูไม่ว่าจะขนาดใหญ่ หรือขนาดเล็กต่างก็มีภาวะต้นทุนที่แพงขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลมาจากภาวะวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่มีราคาแพง และปัญหาน้ำมันที่ปรับราคาสูงขึ้น ผู้เลี้ยงต้องประสบปัญหาการขาดทุนมานานกว่า 1 ปี ประกอบกับเกิดปัญหาโรคท้องร่วงเฉียบพลันในลูกหมู (PED) ก็ยิ่งทำให้ต้นทุนลูกหมูสูงขึ้น ซึ่งส่งผลให้ราคาขายหมูหน้าฟาร์มมีราคาสูงกว่าปกติ
การที่รองนายกรัฐมนตรี ทั้ง นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี นายสุวิทย์ คุณกิตติ และนายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล มีความเข้าใจเกษตรกร และมีแนวคิดที่ช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็นการลดหนี้เกษตรกร หรือกรณีสินค้าเกษตรมีราคาแพง ก็มองว่าควรปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด เพราะหากใช้มาตรการคุมราคา จะทำให้กลไกราคาผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริง เนื่องจากผู้ผลิตไม่สามารถขึ้นราคาตามต้นทุนที่แท้จริงได้ ซึ่งจะกระทบต่อระบบที่เกี่ยวข้องโดยรวมในระยะยาว ถือเป็นเรื่องน่าชื่นชมที่ท่านเข้าใจในระบบเกษตร
ประธานชมรมผู้เลี้ยงสุกรฉะเชิงเทรา กล่าวด้วยว่า มาตรการคุมราคาของกระทรวงพาณิชย์ในขณะนี้ ทำให้เกษตรกรเสียโอกาส และจะเป็นผลเสียกับประเทศมากกว่า เพราะหากว่าราคาพืชเกษตรของตลาดโลกยังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง วัตถุดิบก็จะสูงขึ้นด้วยเช่นกัน ซึ่งหมายความว่าผู้เลี้ยงจะต้องแบกรับภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นอีก ความพยายามดิ้นรนของผู้เลี้ยงทุกวันนี้ ก็เพื่อให้มีรายได้ไปจ่ายหนี้ธนาคาร ตนไม่เข้าใจว่าทำไมรัฐบาลจึงไม่ไปคุมราคาวัตถุดิบ แต่กลับมาคุมราคาหมู
ผู้ใหญ่ถวัลย์ กล่าวอีกว่า รัฐบาลที่ผ่านๆ มา มีนโยบายส่งเสริมการผลิตเพื่อการส่งออก แต่ก็ไม่เคยเห็นรัฐบาลไหนหันมาให้ความสนใจส่งเสริมให้สามารถส่งออกหมูแต่อย่างใด หากภาครัฐไม่มีมาตรการช่วยเหลือเพื่อความยั่งยืนที่แท้จริง ก็มีความเป็นไปได้ว่า ผู้เลี้ยงจะค่อยๆ หายไปจากระบบ เพราะไม่สามารถแบกรับภาระที่ขาดทุนต่อไปได้ นั่นหมายความว่า ปริมาณของหมูที่ออกสู่ตลาดจะลดน้อยลง ดังนั้น การให้ความช่วยเหลือเรื่องปากท้องของประชาชนจึงต้องพิจารณาอย่างรอบด้านมากกว่าที่จะช่วยเหลือเฉพาะผู้บริโภคเพียงด้านเดียว