นายวันชัย อัศวพันธุ์นิมิต ประธานสหกรณ์ผู้เลี้ยงสุกรชลบุรี กล่าวว่า เกษตรกรที่เลี้ยงแม่พันธุ์หมูเพื่อขายลูกหมูก็ไม่แตกต่างจากผู้เลี้ยงหมูขุน ราคาขายลูกหมูมีขึ้น-มีลง เหมือนกับเนื้อทั่วไป โดยในระหว่างปี 2550 ราคาลูกหมูขนาด 16 กิโลกรัม เคยตกต่ำที่สุดอยู่ที่ 700.- บาท และบางช่วงก็ขึ้นไปถึง 1,300.- บาท แต่ราคาขายเฉลี่ยทั้งปี 2550 อยู่ที่ 980.- บาท ขณะที่ต้นทุนเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 1,150.- บาท จะเห็นว่าในปีก่อนผู้เลี้ยงลูกสุกรต้องขาดทุนอยู่ที่ตัวละ 170.- บาท ผู้เลี้ยงลูกหมูขายไม่ว่าจะเป็นฟาร์มเล็กหรือใหญ่ก็ต้องประสบปัญหาต้นทุนแพง และเกิดขาดทุนสะสมมาเป็นเวลานานกว่า 1 ปีเช่นเดียวกัน อีกทั้ง เมื่อปลายปีที่แล้ว ยังเกิดปัญหาโรค PED (ท้องร่วงเฉียบพลันในลูกหมู) สร้างความเสียหายทำให้ลูกหมูตายไปกว่า 6-8 แสนตัว ก็ยิ่งทำให้ต้นทุนลูกหมูสูงขึ้นไปอีก
สำหรับราคาขายลูกหมู ณ เดือนมกราคม 2551 โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 1,460..- บาท ขณะที่ต้นทุนการผลิตลูกหมูอยู่ที่ 1,300.- บาท ผู้เลี้ยงเพิ่งจะได้กำไรเพียงตัวละ 160.- บาท เทียบกับที่ขาดทุนเมื่อปีก่อน และแม้ว่าจะได้กำไรเท่านี้ทั้งปี ก็ยังไม่สามารถครอบคลุมขาดทุนสะสมที่เกิดขึ้นตลอด 14 เดือนที่ผ่านมา
ดังนั้น การที่รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ออกมาระบุว่าปีที่แล้วลูกหมูมีราคาขายอยู่ที่ 800.- บาท และเดือนมีนาคมปีนี้ขายอยู่ที่ 1,800.- บาทนั้น สะท้อนภาพได้ชัดเจนทันทีว่าเกิดจากต้นทุนที่สูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะผู้เลี้ยงหลายรายรับภาวะขาดทุนต่อไปไม่ไหวต้องปลดแม่พันธุ์ขาย ทำให้ลูกหมูขาดแคลน และต้นทุนการผลิตที่สำคัญส่วนใหญ่ก็อยู่ที่อาหารสัตว์ ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องมาจากวัตถุดิบอาหารสัตว์ถูกนำไปผลิตเป็นพลังงานทดแทน ดังเป็นที่ทราบกันอยู่ในขณะนี้
นายวันชัยยังกล่าวอีกว่า กว่าจะเลี้ยงลูกหมูให้มีน้ำหนักประมาณ 6.50 กิโลกรัม จะต้องใช้เวลาประมาณ 19-20 วัน และต้องเลี้ยงด้วยน้ำนมจากแม่หมู โดยแม่หมูที่ให้นมลูก จะกินอาหารเฉลี่ยวันละ 8-10 กิโลกรัม ต่างจากแม่พันธุ์ที่ไม่ได้อุ้มท้อง ซึ่งจะกินอาหารวันละ 3-4 กิโลกรัม สูงกว่ากันถึงเท่าตัว หลังจากหย่านมแม่ ลูกหมูก็จะต้องกินอาหารต่อไปอีกทุกวันจนกว่าจะได้น้ำหนัก 16 กิโลกรัมพร้อมขาย ฟาร์มบางแห่งก็เป็นฟาร์มผลิตลูกหมูอย่างเดียว ไม่มีฟาร์มหมูขุนไว้รองรับลูกหมูที่โตขึ้น เมื่อเลี้ยงถึงกำหนดน้ำหนักแล้วไม่ว่าราคาจะอยู่ที่เท่าใดก็จำเป็นต้องขาย จึงอยากขอวอนให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เข้าใจและเห็นใจเกษตรกรผู้ผลิตลูกหมูด้วย อย่าว่าหมูแพงเกิดจากลูกหมูเลย เพราะผู้เลี้ยงหมูไม่ว่าจะเป็นลูกหมูหรือหมูขุน ก็ประสบปัญหาต้นทุนแพงไม่แตกต่างกัน
นายวันชัยยังกล่าวอีกว่า การผลิตอาหารสัตว์ จะใช้วัตถุดิบข้าวโพดเป็นหลักถึง 25% ตามด้วยกากถั่วเหลือง 20% ซึ่งข้าวโพดมีราคาสูงขึ้นมาก จากปีที่แล้วราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 6 บาท เป็น 9 บาทในปีนี้ ส่วน กากถั่วเหลืองนั้น ประเทศไทยต้องนำเข้าถึง 90% และมีราคาสูงมากจากกิโลกรัมละ 10-11 บาทในปีที่แล้วเป็น 18 บาทในปีนี้ ดังนั้น หากภาครัฐจะนำมาตรการด้านภาษี มาช่วยลดต้นทุนการผลิตเนื้อสัตว์ ด้วยการลดภาษีการนำเข้ากากถั่วเหลืองให้เหลือ 0% ก็จะเป็นการแก้ปัญหาที่ตรงจุด เพราะจะทำให้ต้นทุนอาหารสัตว์ต่ำลง ส่งผลถึงราคาขายเนื้อหมูหน้าเขียงจะลดลงตามต้นทุนที่แท้จริง
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ
โทร. 086-327-4560