“รี้ด เทรดเด็กซ์ ผนึกสมาคมสื่อการเรียนการสอนประเทศอังกฤษ โชว์นวัตกรรมสื่อการเรียนการสอนระดับโลก ร่วมดันมาตรฐานการศึกษาไทย

01 Jun 2007

กรุงเทพฯ--1 มิ.ย.--รี้ด เทรดเด็กซ์

“รี้ด เทรดเด็กซ์ ผนึกสมาคมสื่อการเรียนการสอนประเทศอังกฤษ โชว์นวัตกรรมสื่อการเรียนการสอนระดับโลก ร่วมดันมาตรฐานการศึกษาไทย ใน Worlddidac Asia 2007”

นายชัยณรงค์ ลิมป์กิตติสินรองกรรมการผู้จัดการใหญ่และผู้จัดการทั่วไป บริษัท รี้ด เทรดเด็กซ์ จำกัด เปิดเผยว่า ปัจจุบันการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาทุกระดับ เป็นหนึ่งในนโยบายด้านการศึกษาที่ภาครัฐเน้นความสำคัญ เพื่อช่วยขับดันทิศทางการศึกษาไทยปี 2550 และเพื่อส่งเสริมยุทธศาสตร์ของประเทศในการเป็นศูนย์กลางทางการศึกษาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดังนั้นบริษัทฯ ร่วมกับสมาคมเวิลด์ไดแด็ค กำหนดจัดงานเวิลด์ไดแด็คเอเชีย 2007 ขึ้นระหว่างวันที่ 27-29 พฤศจิกายนนี้ ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิตติ์ เพื่อเป็นเวทีในระดับภูมิภาคและนับเป็นก้าวสำคัญในการร่วมผลักดันการปฏิรูปการศึกษาไทยและภูมิภาค ซึ่งนับเป็นโอกาสสำคัญสำหรับบุคลากรในแวดวงการศึกษาไม่ว่าจะเป็นผู้บริหารและคณาจารย์จากสถาบันศึกษา ผู้ซื้อ ผู้มีอำนาจในการตัดสินใจและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องจากทั่วทวีปเอเชีย เพื่อแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์ สร้างเครือข่ายและร่วมพัฒนาศักยภาพของวงการอุกรณ์สื่อการเรียนการสอน

ไฮไลท์สำคัญภายในงานประกอบด้วยการแสดงนวัตกรรมจากนานาประเทศ ซึ่งคาดว่าจะมีผู้ร่วมแสดงสินค้ากว่า 120 บริษัทจาก 22 ประเทศทั่วโลก อาทิ พาวิลเลียนจากประเทศอังกฤษ เยอรมันนี จีน เกาหลี และบริษัทชั้นนำจากนานาประเทศ อาทิ ออสเตรเลีย ฝรั่งเศส ฮ่องกง อินเดีย อิสราเอล อิตาลี ไต้หวัน สหรัฐ อเมริกา และไทย เป็นต้น โดยคาดการณ์ผู้เข้าชมงานและร่วมประชุมสัมมนาระดับนานาชาติกว่า 12,000 คน โดย บ.ไดแด็คตา อิตาเลีย จากประเทศอิตาลี เตรียมนำเครื่อง Hysyone ซึ่งเป็นเครื่องสำหรับศึกษาการทำงานหน่วยของเชื้อเพลิง บ.ฟูริเออร์ซิสเต็ม จากประเทศอิสราเอล เตรียมนำเครื่อง Nova5000 เครื่องคอมพิวเตอร์ขนาดเล็กราคาย่อมเยาพร้อมโปรแกรมสำหรับการเรียนรู้ในห้องเรียน บ.เอ็มแท็บเอ็นจิเนียริ่ง จากประเทศอินเดีย นำเครื่อง CNC Trainer Milling เครื่องจักรสำหรับใช้ในการสอนในสาขาวิศวะเครื่องกลทั้งในสถาบันการศึกษาและศูนย์อบรม มาจัดแสดง เป็นต้น

นอกจากนั้นภายในงานยังจัดกิจกรรมพิเศษเพื่อต่อยอดองค์ความรู้ให้แก่บุคลากรในแวดวงการศึกษา โดยสำนักงานเลขาธิการองค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAMEO) ร่วมกับเครือมติชนจัด “การประชุมผู้นำด้านการศึกษาระดับชาติครั้งที่ 2” (The 2nd National Education Leaders Forum) กิจกรรมพิเศษในงานเพื่อร่วมผลักดันความร่วมมือสำหรับวงการการศึกษาทั้งในระดับประเทศและภูมิภาคให้เป็นรูปธรรม ภายใต้ Theme การพัฒนาการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างยั่งยืน โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญในวงการการศึกษาจากนานาประเทศ อาทิ ประเทศไทย-เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สิงคโปร์-มหาวิทยาลัยนันยาง ออสเตรเลีย-กระทรวงการศึกษา วิทยาศาสตร์ และการฝึกอบรม อังกฤษ-มหาวิทยาลัยแคมบริดจ์ เยอรมนี- สมาคมไดแด็คตา และ สหรัฐอเมริกา-มหาวิทยาลัย MIT เป็นต้น

สำหรับกิจกรรมที่จะช่วยต่อยอดทางธุรกิจที่สำคัญภายในงาน คือ Business Matchmaking Program เป็นเวทีการค้ากลางเปิดโอกาสสำหรับนักธุรกิจและผู้ที่อยู่ในแวดวงการศึกษาเพื่อสร้างพันธมิตรและขยายช่องทางทางธุรกิจ พร้อมกันนี้ยังมีส่วนการแสดงที่นำเสนอผลงานวิจัยของหน่วยงานด้านการศึกษาในภูมิภาค เช่น ผลงานนวัตกรรมจาก อาชีวศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นต้น

ในด้านความร่วมมือจากองค์กรระดับชาติ นายโดมินิค ซาเวจ ประธานสมาคมผู้ผลิตสื่อการเรียนการสอนประเทศอังกฤษ (British Educational Suppliers Association-BESA) และประธานสมาคมเวิลด์ไดแด็ค (Worlddidac) ในฐานะผู้ร่วมจัดงานในครั้งนี้กล่าวว่า ในปัจจุบันแนวโน้มทั่วโลกต่อความสำคัญของการศึกษาได้มุ่งเน้นไปที่การพัฒนาและใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษาในทุกระดับที่ครอบคลุมทุกหลักสูตรการเรียนการสอน และการผลิตทรัพยากรมนุษย์ที่มีความเชี่ยวชาญและทักษะด้านอาชีพที่ตอบรับและช่วยขับดันการพัฒนาทางเศรษฐกิจในศตวรรษที่ 21 นี้ตัวอย่างของเทคโนโยลีที่แพร่หลายในวงการสื่อการเรียนการสอนแถบยุโรป ได้แก่ Data Logging ซึ่งเป็นโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมโยงกับอุปกรณ์การทดลองทางวิทยาศาสตร์เพื่อประมวลผลในรูปแบบกราฟหรือชาร์ทได้อย่างรวดเร็วแม่นยำ ลดขั้นตอนการจดบันทึกข้อมูลและช่วยให้นักเรียนสามารถให้ความสนใจกับกระบวนการทดลองและผลที่เกิดขึ้นได้มากกว่าเดิม

นอกจากนั้น เนื่องจากความสัมพันธ์และบทบาทของครูกับนักเรียนได้เปลี่ยนไป โดยเปลี่ยนจากการที่ครูเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ให้กับนักเรียนโดยตรง เป็นการช่วยสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ให้กับนักเรียนผ่านทางสื่อการเรียนการสอน พร้อมทั้งกระตุ้นให้นักเรียนค้นพบความถนัดของตนเอง และพัฒนาทักษะด้านนั้นๆ ดังนั้นในวงการการศึกษาจึงต้องการอุปกรณ์สื่อการเรียนการสอนที่จะช่วยสนับสนุนแนวโน้มนี้จะมีความซับซ้อนและหลากหลายขึ้นเช่นกัน

สมาคมเวิล์ดไดแด็คตระหนักถึงตัวแปรสำคัญที่ส่งผลต่อคุณภาพของการศึกษา ได้แก่ บุคลากรทางการศึกษา และทรัพยากรที่ใช้ในการศึกษา ซึ่งทำให้ทุกฝ่ายหันมาให้ความสำคัญกับคุณภาพและบริการของผู้ผลิตอุปกรณ์สื่อการเรียนการสอนอย่างบูรณาการ ครอบคลุมมาตรฐานของสินค้า การจัดระบบฝึกอบรมที่มีประสิทธิภาพ และบริการหลังการขายที่มีคุณภาพ

“ด้วยศักยภาพของประเทศไทยในฐานะเจ้าภาพการจัดงาน แนวโน้มที่ดีของตลาดอุปกรณ์การศึกษาในภูมิภาค และนโยบายภาครัฐที่เน้นความสำคัญต่อของศึกษาต่อการพัฒนาประเทศ ตนเชื่อว่างานเวิลด์ไดแด็คเอเชีย 2007 จะเป็นเวทีกลางที่จะช่วยพัฒนาวงการการศึกษาด้วยการสนับสนุนด้านระเบียบปฏิบัติ คุณภาพ และความเท่าเทียมด้านการศึกษา ตลอดจนเสริมสร้างและต่อยอดความร่วมมือระดับประเทศและภูมิภาคได้อย่างสมบูรณ์” นายโดนิมิค กล่าว

รี้ด เทรดเด็กซ์ เป็นผู้นำด้านการจัดงานแสดงสินค้าและการประชุมในประเทศไทยและต่างประเทศ เป็นสมาชิกของกลุ่ม รี้ด เอ็กซ์ซิบิชั่น ที่มีสำนักงานอยู่ใน 26ประเทศทั่วโลก ซึ่งมีการจัดงานแสดงสินค้าปีละ 450งานครอบคลุม49อุตสาหกรรม ใน32ประเทศ รี้ด เทรดเด็กซ์วางแผนการจัดงานระดับชาติปีละ10งาน ในปี2549เติบโตประมาณ 20% ตั้งเป้าเติบโตในปี 2550ประมาณ 15-20%

ข้อมูลเพิ่มเติม

สมาคมผู้ผลิตสื่อการเรียนการสอนประเทศอังกฤษ เป็นสมาคมทางการค้าที่มีสมาชิกกว่า 260 บริษัททั่วประเทศอังกฤษ ครอบคลุมผู้ผลิตและจัดจำหน่ายวัสดุ อุปกรณ์ หนังสือ เฟอร์นิเจอร์ เทคโนโลยี ซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ ในตลาดการศึกษา มีบทบาทในการมุ่งเน้นการสนับสนุนและร่วมกันพัฒนาคุณภาพและยกระดับสื่อการเรียนการสอน ( www.besanet.org.uk )

สมาคมเวิลด์ไดแด็ค เป็นสมาคมการค้าระดับโลกซึ่งมีสมาชิกกว่า 140 บริษัททั่วโลกที่ดำเนินธุรกิจจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์สำหรับวงการการศึกษาและศูนย์ฝึกอบรมในทุกระดับการเรียนรู้ โดยมีภารกิจเพื่อส่งเสริมศักยภาพทางธุรกิจของสมาชิกพร้อมทั้งเพิ่มคุณค่าของอุตสาหกรรมสื่อการเรียนการสอนต่อวงการการศึกษา ( www.worlddidac.org )

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ

นวพร โรจน์อารยานนท์

ประชาสัมพันธ์ บ.รี้ด เทรดเด็กซ์ จำกัด

โทร 02-6867252 อีเมลล์ [email protected]

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net