กองทุนฯ ส่งเสริมผลิตก๊าซชีวภาพ จากน้ำเสียจากโรงฆ่าสัตว์ ทดแทน LPG ได้ปีละ 2 ล้านบาท

10 Jan 2007

กรุงเทพฯ--10 ม.ค.--มพส.

กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน หนุนมูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม ก่อสร้างและติดตั้งระบบก๊าซชีวภาพจากน้ำเสียโรงฆ่าสัตว์ ลดปัญหามลภาวะสิ่งแวดล้อม โดยโรงงานแปรรูปหมู กาญจนา เฟรช พอร์ค จ.ราชบุรี ผลิตก๊าซชีวภาพทดแทน LPG ได้เดือนละกว่า 10,000 กิโลกรัม คิดเป็นเงินประมาณ 2 ล้านบาทต่อปี นายเบญจกูล พงษ์พูล ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมพลังงานชีวมวล มูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม (มพส.) เปิดเผยว่า การชำแหละสุกรในโรงฆ่าสัตว์จะก่อให้เกิดน้ำเสียประมาณ 300 – 500 ลิตร/ตัว โดยของเสียส่วนใหญ่จะมีสิ่งสกปรกในรูปของไขมัน น้ำมัน และสารอินทรีย์ปนเปื้อนอยู่ในปริมาณสูง ซึ่งหากมีการปล่อยลงแม่น้ำลำคลองโดยไม่ผ่านการบำบัด ของเสียเหล่านี้จะเปลี่ยนสภาพเป็นน้ำเน่า ส่งกลิ่นเหม็นรบกวน และเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมบริเวณใกล้เคียง แต่อย่างไรก็ตามพบว่าน้ำเน่าที่มาจากโรงฆ่าสัตว์ สามารถบำบัดด้วยระบบชีวภาพ ซึ่งมีผลพลอยได้เป็นก๊าซชีวภาพที่นำมาใช้เป็นพลังงานทดแทนได้

โดย มพส. ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานดำเนินโครงการ”ส่งเสริมการใช้ก๊าซชีวภาพจากระบบจัดการน้ำเสียโรงฆ่าสัตว์” ทำการติดตั้งระบบก๊าซชีวภาพ “แบบไร้ออกซิเจน” ในโรงฆ่าสัตว์ทั้งของเทศบาลและเอกชนรวม 8 แห่ง ได้แก่ 1.บริษัท กาญจนา เฟรช พอร์ค จำกัด จ.ราชบุรี 2.บริษัท ชัยพัฒนาฟาร์ม จำกัด จ.เชียงใหม่ 3. บริษัท สามพราน ซลอเทอร์เฮาส์ จำกัด จ.นครปฐม 4.บริษัท สยามอินเตอร์พอร์ค จำกัด กรุงเทพฯ 5. โรงฆ่าสัตว์เทศบาลเมืองสระแก้ว จ.สระแก้ว 6.โรงฆ่าสัตว์เทศบาล ตำบลธรรมศาลา จ.นครปฐม 7. โรงฆ่าสัตว์เทศบาลเมืองสุราษฎร์ธานี จ.สุราษฎร์ธานี และ 8. โรงฆ่าสัตว์เทศบาล ตำบลโพรงมะเดื่อ จ.นครปฐม ซึ่งระบบดังกล่าวมีค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างต่ำ เสียค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาและเดินเครื่องน้อย

และหลังจากการติดตั้งและเดินระบบก๊าซชีวภาพแล้ว สามารถจัดการสิ่งแวดล้อมภายในสถานประกอบการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดปัญหากลิ่นและแมลงวัน และยังได้ก๊าซชีวภาพเป็นพลังงานทดแทน โดยสามารถผลิตก๊าซชีวภาพ ขนาดปริมาตรโดยรวม 2,350 ลบ.ม. สามารถรองรับของเสียที่เกิดขึ้นจากกระบวนการฆ่าและชำแหละสุกรโดยรวมประมาณ 4,700 ตัว/วัน หรือ 1,602,700 ตัว/ปี คิดเป็นปริมาณของเสีย 1,410 ลบ.ม./วัน หรือ 480,810 ลบ.ม./ปี ซึ่งจะเทียบเท่ากับภาระของเสียในรูปของ COD 3,525 กิโลกรัม/วัน หรือ 1,202,025 กิโลกรัม/ปี

นายอณิวุฒิ พงษ์ไพจิตร ผู้จัดการทั่วไปของโรงงานแปรรูปเนื้อสุกร บริษัท กาญจนา เฟรช พอร์ค จำกัด อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี เปิดเผยว่า แต่ละวัน โรงงานฯ มีการชำแหละสุกรประมาณ 1,600 ตัว ทำให้มีของเสียและน้ำเสียจากกระบวนการผลิตเกิดขึ้นถึง 592 ลบ.ม. ทำให้มีปัญหากับชาวบ้านในละแวกใกล้เคียงเรื่องกลิ่นเหม็น ทางโรงงานฯ จึงได้แก้ปัญหา ด้วยการติดตั้งระบบผลิตก๊าซชีวภาพ โดยหลังจากเริ่มเดินระบบเมื่อเดือนตุลาคม 2548 พบว่าสามารถลดปัญหาเรื่องกลิ่นและแมลงวัน น้ำเสียที่ผ่านการบำบัดมีคุณภาพดีขึ้นตามเกณฑ์มาตรฐานน้ำทิ้งของกรมโรงงานอุตสาหกรรม และสามารถหมุนเวียนกลับมาใช้ในกิจกรรมต่างๆ ภายในโรงฆ่าสัตว์ นอกจากนี้ ทางโรงงานฯ ยังสามารถนำก๊าซชีวภาพที่ผลิตได้ไปใช้ทดแทนก๊าซหุงต้ม LPG วันละ 397 กิโลกรัม/วัน หรือ เดือนละ 11,910 กิโลกรัม คิดเป็นเงินประมาณ 190,560 บาทต่อเดือน หรือ 2,286,720 บาทต่อปี*

ด้านนายวีระพล จิรประดิษฐกุล ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ได้ส่งเสริมให้มีการนำของเสียและของเหลือทิ้งทางการเกษตร อาทิ มูลสัตว์ กากของเสียและน้ำเสีย มาผลิตเป็นก๊าซชีวภาพ เพื่อลดปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเรื่องกลิ่นและน้ำเสีย และยังช่วยประเทศชาติประหยัดต้นทุนในการหาซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงจากต่างประเทศ ทั้งนี้ ภาครัฐได้กำหนดมาตรการส่งเสริมการผลิตก๊าซชีวภาพในฟาร์มเลี้ยงสัตว์ โดยมีเป้าหมายในการกำจัดของเสียจากฟาร์มสุกร 4.3 ล้านตัว ซึ่งจะสามารถผลิตก๊าซชีวภาพเป็นพลังงานทดแทนไฟฟ้าได้ 11 MW และทดแทนการใช้ก๊าซหุงต้ม LPG ได้ 9,000 ตันต่อปี ภายในปี 2554

  • คิดค่าก๊าซหุงต้มที่ราคาประมาณ 16 บาท/กก.