ก.ล.ต. ส่งผลการดำเนินงานเกี่ยวกับการตรวจสอบบัญชีของ PICNI เพิ่มเติมให้กรมสอบสวนคดีพิเศษพิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่

16 Oct 2006

กรุงเทพฯ--16 ต.ค.--ก.ล.ต.

ตามที่ ก.ล.ต. ได้กล่าวโทษอดีตผู้บริหารบริษัทปิคนิค คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (“PICNI”) กรณีจัดทำเอกสารและบัญชีเกี่ยวกับการทำสัญญาและการรับรู้รายได้ซึ่งบันทึกเป็นการให้เช่าถังแก๊ส ปรากฏตามงบการเงินประจำปี 2547 ไม่ถูกต้อง รวมทั้งการกระทำผิดหน้าที่โดยทุจริตเกี่ยวกับการให้กู้ยืมเงินจำนวน 85 ล้านบาท แก่นิติบุคคลจำนวน 2 ราย ต่อพนักงานสอบสวนกรมสอบสวนคดีพิเศษเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2548 อันเป็นผลจากการตรวจสอบส่วนหนึ่งที่เสร็จแล้ว โดยยังมีประเด็นที่ ก.ล.ต. อยู่ระหว่างตรวจสอบเพิ่มเติม นั้น

เนื่องจากการตรวจสอบประเด็นที่เพิ่มเติมนี้ มีผู้ที่เกี่ยวข้องจำนวนมากและกระจายอยู่ในหลายสถานที่ รวมถึงต้องให้ผู้ต้องสงสัยชี้แจงแสดงหลักฐาน ทำให้การรวบรวมข้อเท็จจริงต้องใช้เวลาพอสมควร ซึ่งขณะนี้ ก.ล.ต. ได้สรุปผลการตรวจสอบดังกล่าวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ประเด็นที่ตรวจสอบเพิ่มเติมเป็นกรณีสืบเนื่องจากการที่งบการเงินประจำปี 2547 ของ PICNI ได้บันทึกรายการจ่ายเงินมัดจำในการทำสัญญาจะซื้อจะขายถังเก็บแก๊สขนาดใหญ่ มูลค่ารวม 852 ล้านบาท

กับนิติบุคคลรายหนึ่งซึ่งต่อมางบการเงินไตรมาส 1 ปี 2549 ของ PICNI เปิดเผยว่าได้มีการยกเลิกสัญญา และได้รับชำระคืนเงินมัดจำบางส่วน และที่เหลือต้องตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญรวม 454 ล้านบาท นอกจากนี้ ในงบการเงินประจำปี 2547 ยังได้แสดงมูลค่าถังแก๊สขนาดเล็กที่บันทึกไว้เป็นสินทรัพย์เพิ่มขึ้นจากปี 2546 รวม 1,903 ล้านบาท ซึ่งการเพิ่มขึ้นดังกล่าว ส่วนหนึ่งเกิดจากการทำสัญญาซื้อจากนิติบุคคลอีกรายหนึ่งรวม 1,321 ล้านบาท โดยต่อมาในงบการเงินไตรมาส 3 ปี 2548 PICNI ได้ตั้งค่าเผื่อการด้อยค่าของถังแก๊สขนาดเล็กจำนวน 1,000 ล้านบาท

การตรวจสอบปรากฏพยานหลักฐานที่น่าเชื่อว่า รายการจะซื้อจะขายและซื้อขายถังเปล่าสำหรับเก็บแก๊สขนาดใหญ่ และรายการสั่งซื้อถังแก๊สขนาดเล็ก เป็นรายการที่จัดทำขึ้นเพื่อเป็นเหตุในการจ่ายเงินออกจาก PICNI เพื่อประโยชน์ของอดีตผู้บริหารของบริษัทและบุคคลอื่น อันทำให้เอกสารหลักฐานและบัญชีที่เกี่ยวข้องกับรายการดังกล่าวไม่ถูกต้องไม่ตรงต่อความเป็นจริง และมีลักษณะเป็นการลวงบุคคลอื่น

โดยน่าเชื่อว่าอดีตผู้บริหารของบริษัท 2 ราย ได้แก่ (1) นายธีรัชชานนท์ ลาภวิสุทธิสิน ขณะดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ และ (2) นางสาวสุภาพร ลาภวิสุทธิสิน ขณะดำรงตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการ มีส่วนรู้เห็นและมีส่วนร่วมกระทำการในเรื่องดังกล่าว ซึ่ง ก.ล.ต. พิจารณาเห็นว่าเป็นการกระทำผิดหน้าที่โดยทุจริต เบียดบังทรัพย์สินของบริษัทเป็นของตนเองหรือบุคคลอื่น และแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบเพื่อตนเองหรือบุคคลอื่น ทำให้บริษัทได้รับความเสียหาย อันอาจเข้าข่ายเป็นการปฏิบัติฝ่าฝืนมาตรา 307 มาตรา 308 มาตรา 311 มาตรา 312 และมาตรา 313 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ประกอบมาตรา 83 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ก.ล.ต. จึงได้กล่าวโทษบุคคลข้างต้น รวมทั้งผู้สนับสนุนในการกระทำผิดอีก 3 ราย คือ นายอนันต์ เกียรติกำจรพัฒนา นายธนะชัย โรมพันธ์ และบริษัทแสงทองไทยผลิตถัง จำกัด ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อขอให้พิจารณาสอบสวนและดำเนินการตามกฎหมายต่อไป