โอกาสสำคัญๆ ที่มาพร้อมกับโมบายล์แพลตฟอร์มยุคใหม่

03 Mar 2005

กรุงเทพฯ--3 มี.ค.--คาร์ล บายร์ แอนด์ แอสโซซิเอทส์

ฌอน มาโลนี รองประธานบริษัท อินเทล คอร์ปอเรชั่น และผู้จัดการทั่วไป กลุ่มโมบิลิตี้ของอินเทล กล่าวถึงความก้าวหน้า ที่เกิดขึ้นกับระบบสื่อสารแบบโมบายล์บรอดแบนด์ และระบบไคลเอนด์อัจฉริยะที่กลายเป็น รากฐานสำหรับนวัตกรรมใหม่ๆ และยังถือเป็นโอกาสสำคัญสำหรับองค์กรและผู้ใช้ทั่วไปด้วย

มาโลนี กล่าวว่า “อุตสาหรรมกำลังผลักดันให้เกิดคลื่นลูกใหม่แห่งนวัตกรรมที่ทำให้รู้สึกเหมือนกับวันแรกๆ ในยุคเริ่มต้นของการเกิดอินเทอร์เน็ต เนื่องจากก่อนที่จะมีเทคโนโลยีต่างๆ สำหรับอินเทอร์เน็ตเกิดขึ้น เรามีข้อมูลปริมาณมหาศาลเก็บไว้ในคอมพิวเตอร์ทั่วโลก แต่ข้อมูลเหล่านั้นกลับถูกยึดติดกับสถานที่ที่ใดที่หนึ่ง คอมพิวเตอร์เครื่องใดเครื่องหนึ่ง และคนใช้คอมพิวเตอร์ คนใดคนหนึ่ง และเมื่อมีอินเทอร์เน็ตบราวเซอร์และเทคโนโลยีอื่นๆ เกิดขึ้นหลังจากนั้น ข้อมูลต่างๆ เหล่านี้กลับสามารถเผยแพร่ไปสู่ผู้คนทั่วโลกได้ทันที”

“ปัจจุบัน นวัตกรรมใหม่ๆ ที่มีอยู่ในเทคโนโลยี ไว-ไฟ และไวแมกซ์ รวมทั้งการพัฒนาต่างๆ ซึ่งทำให้โน้ตบุ๊ก โทรศัพท์มือถือ และพีดีเอ มีความสามารถและมีประสิทธิภาพสูงขึ้น ทำให้ อุตสาหกรรมสามารถช่วยผู้คนได้รับประโยชน์จากการใช้เทคโนโลยีได้อย่างเต็มที่และมากกว่าเมื่อก่อน ที่สำคัญ เราคาดหวังให้ผู้ใช้หน้าใหม่นับหลายล้านคนได้มีโอกาสใช้เทคโนโลยีไร้สาย ในราคาถูก โดยสามารถใช้ได้ทั้งบรอดแบนด์ และบอร์ดแบนด์ไร้สาย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าโลกกำลังก้าวสู่ยุคของการทำงานแบบโมบายล์อย่างเต็มตัว" มาโลนี กล่าวเสริม

โมบายล์แพลตฟอร์มอัจฉริยะ

มาโลนีเผยนวัตกรรมแพลตฟอร์มไคลเอนด์แบบใหม่หลายชนิดที่ช่วยให้อุปกรณ์โมบายล์ฉลาดขึ้นและมีประโยชน์มากขึ้น มาโลนีได้สาธิตแพลตฟอร์ม อินเทล เซนทริโน โมบายล์ เทคโนโลยีรุ่นใหม่ (ชื่อรหัสว่า Napa) ในงานไอดีเอฟครั้งนี้ด้วย การสาธิตนี้ประกอบด้วยโมบายล์ โปรเซสเซอร์แบบดูอัลคอร์ที่ใช้เทคโนโลยีการผลิตแบบ 65 นาโนเมตรรุ่นแรก (ซึ่งมีชื่อรหัสว่า Yonah) ชิปเซ็ตรุ่นใหม่ และโซลูชั่นการสื่อสารไร้สายรุ่นใหม่ของอินเทล

นอกจากนั้น มาโลนียังพูดถึงเทคโนโลยีใหม่อีก 3 ชนิดที่จะใส่ใน Yonah อีกด้วย โดยเทคโนโลยีเหล่านี้จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและการจัดการพลังงาน พร้อมปรับปรุงดีไซน์ของโมบายล์แพลตฟอร์มให้ดีขึ้นอีกด้วย เทคโนโลยีเหล่านี้ ได้แก่ Intel Digital Media Boost สำหรับรองรับการสร้างสรรค์ดิจิตอลคอนเทนต์ ระบบ Intel Advanced Thermal Manager ซึ่งเป็นระบบเฝ้าระวัง ปรับความถูกต้อง และตอบสนองต่อระดับความร้อนที่เกิดขึ้นในโมบายล์แพลตฟอร์ม และระบบ Intel Dynamic Power Coordination ที่สามารถปรับแต่ง ประสิทธิภาพและอัตราการใช้พลังงานของโครงสร้างทั้งสองคอร์ที่อยู่ในโปรเซสเซอร์ได้ตามความต้องการของแต่ละแอพพลิเคชั่น

มาโลนียังได้นำเอาแพลตฟอร์มโทรศัพท์มือถือที่มีชื่อว่า “Hermon” ซึ่งเป็นผลงานการออกแบบและผลิตตัวล่าสุดของอินเทลที่จะออกสู่ตลาดในปีนี้มาแสดง และเผยอนาคตของแพลตฟอร์มโทรศัพท์มือถือในอนาคตว่าจะมีทั้งการทำงานโดยใช้ชิปหนึ่งตัวและสองตัวโดยมีโมดูลระบบกราฟิก ระบบประมวลผลระดับไฮเอนด์และระบบจัดการพลังงานรวมไว้ด้วยกัน แนวทาง ดังกล่าวจะทำให้นักพัฒนาโทรศัพท์มือถือมีความยืดหยุ่นในการออกแบบโทรศัพท์สำหรับตลาดทุกระดับเพิ่มมากขึ้น

สองรวมเป็นหนึ่ง

การทำงานแบบโมบายล์ในยุคใหม่นี้จะไม่มีการเลือกอุปกรณ์แบบโมบายล์ชิ้นใดชิ้นหนึ่ง หรือเลือกใช้ระบบเครือข่ายชนิดใดชนิดหนึ่งอีกต่อไปแล้ว แต่จะทำให้ผู้ใช้มีอิสระในการเลือกใช้โทรศัพท์มือถือ โน้ตบุ๊ก พีดีเอ หรืออุปกรณ์เครื่องลูกข่ายอื่นๆ หลายชนิด เสมือนเป็น "อุปกรณ์โลจิคอลเพียงชิ้นเดียว" ได้กับทุกเครือข่าย แนวคิดเกี่ยวกับ "อุปกรณ์โลจิคอลเพียงชิ้นเดียว" หมายถึงการทำงานแบบอัตโนมัติร่วมกันระหว่างอุปกรณ์ต่างๆ อย่างชาญฉลาด อาทิ

การทำงานร่วมกันของโน้ตบุ๊กและโทรศัพท์มือถือ เช่น การส่งภาพจากโทรศัพท์มือถือผ่านเครือข่ายไร้สายไปยังโน้ตบุ๊กโดยอัตโนมัติ หรือการใช้โทรศัพท์มือถือเป็นสื่อกลางเพื่อเชื่อมคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กเข้ากับเครือข่ายไร้สาย เป็นต้น

ระบบสื่อสารบรอดแบนด์แบบไร้สาย: พื้นที่ครอบคลุมคือสิ่งมีค่าที่สุด

อัตราการเติบโตของการใช้เครือข่าย ไว-ไฟ ยังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ในขณะเดียวกันเครือข่าย WAN ไร้สายก็กำลังก้าวสู่ยุคออนไลน์ และการพัฒนาระบบไวแมกซ์กำลังก้าวหน้าเพิ่มขึ้นอย่างเป็นลำดับ แต่อย่างไรก็ตาม การคาดการณ์ของอุตสาหกรรมแสดงให้เห็นว่ามี ประชากรเพียงร้อยละ 3 ของประชากรทั่วโลกเท่านั้นที่ใช้ระบบสื่อสารในระบบบรอดแบนด์

มาโลนีกล่าวว่า " อินเทลคาดว่าจำนวนวิศวกรในอุตสาหกรรมที่ทำงานเกี่ยวกับเทคโนโลยี ไวแมกซ์มีจำนวนเพิ่มขึ้นถึง 10 เท่าในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา เรายังพบว่าจำนวนการทดสอบอุปกรณ์ส่งสัญญาณไวแมกซ์เพิ่มขึ้นจาก 2 จุดเป็น 15 จุด และจะเพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 75 จุดภายในปลายปี 2548 นอกจากนี้บริษัทกว่า 200 แห่งยังได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกของไวแมกซ์ ฟอรัม อีกด้วย ซึ่งนับว่าเป็นความก้าวหน้าที่ยิ่งใหญ่มาก แต่เมื่ออ้างอิงถึงข้อมูลที่แสดงให้เห็นว่ามีประชากรทั่วโลกในปริมาณจำกัดเท่านั้นที่ใช้การสื่อสารในระบบบรอดแบนด์ ทำให้เห็นว่า ยังมีโอกาสให้อุตสาหกรรมสามารถจัดสรรแอพพลิเคชั่นและบริการที่มีราคาถูกกว่านี้อีกมากโดยใช้เทคโนโลยีสื่อสารระบบบรอดแบนด์แบบไร้สาย”

รายละเอียดเกี่ยวกับงานไอดีเอฟ

อินเทล ดิเวลล็อปเปอร์ ฟอรัม (ไอดีเอฟ) เป็นงานแสดงด้านเทคโนโลยีประจำปีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดงานหนึ่งในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี ซึ่งจัดขึ้นสำหรับนักพัฒนาฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์โดยเฉพาะ งานไอดีเอฟ เป็นเวทีที่บริษัทชั้นนำในวงการมารวมตัวกันเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและข้อมูลเกี่ยวกับเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์ล่าสุดที่เกี่ยวข้องกับพีซี เซิร์ฟเวอร์ อุปกรณ์ติดต่อสื่อสาร และอุปกรณ์พกพาต่างๆ ผู้สนใจสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับงานไอดีเอฟ และเทคโนโลยีต่างๆ ของอินเทลได้ที่ http://developer.intel.com

อินเทลเป็นผู้ผลิตชิปรายใหญ่ที่สุดของโลก และเป็นผู้นำในการผลิตคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล ระบบเครือข่าย และอุปกรณ์สื่อสาร ผู้สนใจสามารถค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับบริษัทอินเทล ได้ที่เว็บไซต์ http://www.intel.com/pressroom

ติดต่อ: คุณเพชราภรณ์ เจริญนิพนธ์วานิช

คุณกรรภิรมย์ อึ้งภากรณ์ บริษัท อินเทล ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท คาร์ล บายร์ แอนด์ แอสโซซิเอทส์ โทรศัพท์: (66 2) 654-0654

โทรศัพท์: (66 2) 627-3501 e-Mail: [email protected] e-Mail: [email protected]จบ--