กรุงเทพฯ--4 ต.ค.--เบรคธรู พีอาร์
สมาคมผู้ผลิตเภสัชภัณฑ์ หรือ PPA ปรับโฉมครั้งใหญ่ เป็นสมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์” หรือ PReMA ตอกย้ำจุดยืนด้านการวิจัย--เส้นเลือดใหญ่ของการผลิตยานวัตกรรม พร้อมสนับสนุน R&D เต็มที่ ออกสตาร์ทด้วย “การมอบทุนเพื่อการวิจัย” สนับสนุนนักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ เพื่อเชิดชูเกียรติและส่งเสริมนักวิทยาศาสตร์ที่มีผลงานยอดเยี่ยม ที่สร้างความก้าวหน้าให้กับวงการวิทยาศาสตร์ของประเทศไทย
นายพรวิทย์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมฯ เปิดเผยว่า สมาคมผู้ผลิตเภสัชภัณฑ์หรือ PPA ซึ่งเป็นองค์กรตัวแทนของบริษัทผู้วิจัยและพัฒนายานวัตกรรม ที่มีสาขาในประเทศไทย ดำเนินการมานานกว่า 30 ปี ได้เปลี่ยนชื่อและตราสัญลักษณ์ใหม่เป็น “สมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์” หรือ PReMA -- Pharmaceutical Research and Manufacturers Association แล้ว นับแต่บัดนี้เป็นต้นไป
“ที่ผ่านมานั้น สมาคมผู้ผลิตเภสัชภัณฑ์ประสบความสำเร็จในการดำเนินงานด้วยดี แต่ยังขาดการประชาสัมพันธ์ในพันธกิจที่สำคัญของสมาคมฯ ทั้งนี้การปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์และแนวทางขององค์กรภายใต้ชื่อ PReMA หรือสมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์ เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ เพื่อดำเนินงานเชิงรุก ในการสื่อสารกับประชาชนและวงการแพทย์ ถึงความมุ่งมั่นของเราต่อการสร้างสรรค์สุขภาพที่ดีให้แก่คนไทยให้เทียบเทียมมาตรฐานของประเทศที่พัฒนาแล้ว”
นายพรวิทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันการวิจัยและพัฒนามีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อประชากรของโลกและในวงการแพทย์และเภสัชกรรมในระดับสากล แม้ว่าจะต้องใช้เงินมหาศาล และมีอัตราความเสี่ยงสูงระหว่างการลงทุนกับผลสำเร็จที่จะค้นพบตัวยาใหม่ แต่บริษัทวิจัยและพัฒนายา มุ่งมั่นเดินหน้าเพื่อสร้างนวัตกรรมยาที่จะพิชิตโรคและรักษาชีวิตของชาวโลกให้ยืนยาวและมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น
“บริษัทผู้ผลิตยาที่เน้นการวิจัย ยืนอยู่แถวหน้าในการค้นคว้ายาใหม่ที่มีคุณภาพดีกว่ายาตัวเดิม ความมุ่งมั่นของบริษัทเหล่านี้ ส่งผลสะท้อนให้การวิจัยและพัฒนามีความสำคัญมากขึ้นในทางการแพทย์และการสาธารณสุขของโลก” นายพรวิทย์กล่าว
นายพรวิทย์เปิดเผยต่อไปว่า การปรับองค์กรครั้งนี้ สมาคมฯ จะสนับสนุนนักวิทยาศาสตร์ไทย เพื่อเสริมสร้างศักยภาพในการวิจัย โดยเฉพาะทางสาขาชีวเวชศาสตร์ ซึ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการสร้างองค์ความรู้ใหม่ในทางวิทยาศาสตร์และระบบสุขภาพของประเทศ
“เรามีเจตจำนงที่จะสนับสนุนและส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และชีวเวชศาสตร์ภายในประเทศ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้แก่นักวิทยาศาสตร์ การวิจัยนั้นเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนายาและระบบสุขภาพที่มีคุณภาพและประสิทธิผลคุ้มค่า ซึ่งจะส่งผลให้ประชาชนคนไทยมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตดีขึ้น ส่งผลถึงความก้าวหน้าทางสังคมและเศรษฐกิจของประเทศในที่สุด”
เพื่อแสดงให้เห็นชัดถึงเจตนารมณ์นี้ นายพรวิทย์กล่าวว่า สมาคมฯ ได้ก่อตั้ง “ทุนเพื่อการวิจัย PReMA” ขึ้น เพื่อมอบทุนและรางวัลให้แก่นักวิจัยและผู้มีผลงานวิจัยดีเด่น แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทคือ การให้ทุนสนับสนุนการวิจัยทางชีวเวชศาสตร์ และรางวัลผลงานวิจัยดีเด่นของนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่
“ทุนสนับสนุนการวิจัย จะมอบให้แก่นักวิจัยที่เพิ่งเริ่มต้นหรือกำลังดำเนินโครงการวิจัยทางด้านชีวเวชศาสตร์อยู่ สมาคมฯ ได้จัดสรรเงินจำนวน 1,440,000 บาท ทุกปีเป็นเวลา 4 ปี ๆ ละ 6 ทุนๆ ละ 240,000 บาท โดยมอบหมายให้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เป็นผู้บริหารจัดการ
ส่วนรางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ สมาคมฯ ได้ร่วมมือกับมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ (มูลนิธิ ส.ว.ท.) มอบเงินรางวัลทุนวิจัย ปีละ 400,000 บาท ให้แก่นักวิทยาศาสตร์ หรือผู้อยู่ในวิชาชีพแพทย์ พยาบาลและเภสัชกรรมรุ่นใหม่ ซึ่งมีผลงานวิจัยดีเด่นตามการคัดเลือกของมูลนิธิ ส.ว.ท.
นายพรวิทย์กล่าวในตอนท้ายว่า ทางสมาคม PReMA ยังจะจัดให้มีโครงการการศึกษาส่งเสริมองค์ความรู้อีกมาก เพื่อช่วยผลักดันให้เป้าหมายดังกล่าวข้างต้น บรรลุผลสำเร็จด้วยดี ภายใต้แนวคิดหลักว่า “นวัตกรรมยา เพื่อสุขภาพที่ดีกว่า”
สมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์ (PReMA) เป็นองค์กรเอกชนที่ไม่แสวงผลกำไร ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2513 ในชื่อของสมาคมผู้ผลิตเภสัชภัณฑ์ หรือ PPA ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของบริษัทผู้วิจัยและพัฒนายาระหว่างประเทศที่มีสาขาในประเทศไทย ปัจจุบัน สมาคมฯมีสมาชิกทั้งหมด 43 บริษัท มีพนักงานทำงานรวม 12,000 คน ได้กำหนดมาตรฐานต่างๆ ที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของเภสัชอุตสาหกรรมในระดับสากล รวมถึงส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานในการผลิตยา ตลอดจนการพัฒนาและส่งเสริมการขายเภสัชภัณฑ์ นอกจากนั้นยังให้บริการทางด้านการศึกษาและองค์ความรู้ต่างๆ แก่ผู้อยู่ในวิชาชีพทางการแพทย์ เภสัชกรรม และการพยาบาล ตลอดไปจนถึงบุคลากรสาธารณสุขอื่น ๆ ในฐานะสมาชิกของหอการค้าแห่งประเทศไทยและสภาอุตสาหกรรมไทย PReMA ได้ประสานงานและแลกเปลี่ยนมุมมองใหม่ๆ กับหน่วยงานของรัฐบาลและสมาคมการค้าต่าง ๆ ในเรื่องราวและประเด็นที่น่าสนใจ เพื่อแสวงหาหนทางที่ดีที่สุดในการพัฒนาเภสัชอุตสาหกรรม รวมถึงสังคมและเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม
รายละเอียดเพิ่มเติม โปรดติดต่อ
สมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์
คุณพรวิทย์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมฯ
ภญ.พนิดา ปัญญางาม ผู้อำนวยการบริหารสมาคมฯ โทร. 0-2619-0729-32
เสนอข่าวในนาม สมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์ โดยเบรคธรู พีอาร์
เบรคธรู พีอาร์
คุณรัตนา ปัทมาลัย โทร. 0-2719-6446-8--จบ--
--อินโฟเควสท์ (อบ)--
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit