กรุงเทพฯ--16 ต.ค.--กทม.
ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร นายธวัชชัย กำลังงาม ผู้ชำนาญงานด้านการบริหารงานเทศกิจ พร้อมด้วย นายธะนะกร คุณาวุฒิ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ นายยลโชค สุขมาก รักษาราชการแทน ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ และนายชาญชัย ภาวะสุทธิการ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักพัฒนาชุมชน ร่วมกันแถลงข่าว “พบกันจันทร์ละหน คนกับข่าว” ครั้งที่ 106 เรื่อง “กทม. พร้อมรับการประชุม เอเปก”
นายธวัชชัย กล่าวว่า กรุงเทพมหานครได้ดำเนินการจัดระเบียบเมืองเพื่อเตรียมความพร้อมต้อนรับการประชุมเอเปก ทั้งในด้านการรักษาความปลอดภัยตลอดเส้นทางการสัญจรของผู้เข้าร่วมประชุม การติดตามด้านการข่าว ซึ่งได้ร่วมกับกองบัญชาการตำรวจนครบาล ตรวจสอบความสงบและเรียบร้อยบริเวณสะพานลอยคนเดินข้าม การจัดระเบียบหาบเร่ – แผงลอย และป้ายโฆษณาต่างๆ ตลอดจนแผนการป้องกันปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่กทม.และปริมณฑล รวมทั้งขอความร่วมมือประชาชนและผู้ค้าหาบเร่ – แผงลอย อปพร. และอาสาสมัคร เฝ้าระวังและสอดส่องดูแลความผิดปกติในพื้นที่ที่อาจเกิดขึ้นและแจ้งเบาะแสให้เจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบทันที
เทศกิจรวมพลังจัดระเบียบเมืองและรักษาความปลอดภัย
นายธะนะกร กล่าวว่า สำนักเทศกิจ กทม. ได้รับภารกิจในการตกแต่งเมืองและจัดระเบียบผู้ค้าหาบเร่ – แผงลอย ปรับปรุงสภาพการค้าขายในหลายพื้นที่ที่เป็นเส้นทางผ่านของผู้เข้าร่วมประชุมให้มีความสะอาด สวยงาม และเป็นระเบียบเรียบร้อย โดยจัดทำร่มสนาม จำนวน 10,085 คัน ติดตั้งบริเวณจุดผ่อนผันในพื้นที่ 22 สำนักงานเขต อาทิ ถนนพาหุรัด วงเวียนใหญ่ เจริญกรุง เยาวราช และสาทร เป็นต้น ซึ่งกำหนดส่งร่มในวันที่ 15 ต.ค. นี้ และจะประสานไปยังเขตเพื่อนำร่มสนามไปแจกผู้ค้าเพื่อติดตั้งให้เป็นระเบียบ สำหรับในส่วนของเส้นทางสำคัญที่มีผลเกี่ยวเนื่องกับการรักษาความปลอดภัยในหลายเส้นทาง ได้ขอความร่วมมือผู้ค้า หาบเร่-แผงลอย ในเส้นทางดังกล่าวให้หยุดทำการค้าขายในช่วงที่มีการประชุม เนื่องจากอาจมีผู้ไม่ประสงค์ดีแอบแฝงเป็นผู้ซื้อหรือผู้ค้า และดำเนินการจับ – ปรับ ผู้ทิ้งขยะในที่สาธารณะในอัตราโทษสูงสุดซึ่งได้ดำเนินการตั้งแต่ต้นเดือนกันยายนเป็นต้นมา นอกจากนี้จะรื้อถอนป้ายโฆษณาที่ไม่ได้รับอนุญาตบริเวณ สะพานลอย เสาไฟฟ้า ต้นไม้ ริมรั้วกำแพง และในวงเวียนต่างๆ ด้วย
นายธะนะกร กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของการรักษาความปลอดภัยนั้น ได้จัดเจ้าหน้าที่สายตรวจเทศกิจ ทั้งสายตรวจรถยนต์ รถจักรยานยนต์ รถจักรยาน และสายตรวจเดินเท้า เป็นกำลังเสริมเพื่อสนับสนุนด้านการรักษาความปลอดภัย อาทิ การตรวจตราสะพานลอยคนเดินข้าม ซอยเปลี่ยว จุดเสี่ยงอันตราย อาคารร้าง รวมถึงที่รกร้างว่างเปล่า ตลอดจนด้านการหาข่าว และติดตามตรวจสอบสถานการณ์ต่างๆ ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ตลอด 24 ชั่วโมง อีกทั้งได้จัดให้มีการอบรมเจ้าหน้าที่เทศกิจจำนวน 81 คน จากสำนักเทศกิจและสำนักงานเขต เพื่อสร้างเครือข่ายขยายผลในทางปฏิบัติร่วมกับประชาชน หน่วยบรรเทาสาธารณภัย อปพร. อาสาสมัคร ในพื้นที่ให้ครอบคลุมทั่วกรุงเทพมหานคร เฝ้าระวังและสอดส่องดูแลในจุดเสี่ยงภัยต่างๆ ด้วย นอกจากนี้ยังได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการเพื่อการรักษาความปลอดภัยกรณีการประชุมเอเปก เพื่อเป็นศูนย์กลางในการประสานการดำเนินการระหว่างส่วนราชการ และหน่วยงานเทศกิจของทุกสำนักงานเขตอีกส่วนหนึ่ง หากต้องการแจ้งเบาะแส ติดต่อทางโทรศัพท์หมายเลข 1555 หรือ สำนักงานเขต และสถานีตำรวจนครบาลในพื้นที่
พร้อมรับมือน้ำฝนหากเกิดเหตุฉุกเฉิน
นายยลโชค กล่าวว่า สำหรับการเตรียมการป้องกันน้ำท่วมในการประชุมเอเปกนั้น กทม. ได้ทำความสะอาดท่อระบายน้ำในถนนสายหลักและบริเวณพื้นที่จุดอ่อนน้ำท่วม ซึ่งดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว รวมความยาว 5,000 กม. และขุดลอกคลองอีก 1,049 คลอง ความยาว 1,911 กม. นอกจากนี้รัฐบาลได้สนับสนุนให้หน่วยทหารพัฒนา กองบัญชาการทหารสูงสุด เข้ามาดำเนินการขุดลอกคลองใน กทม. รวมระยะทาง 150 กม. อีกด้วย อย่างไรก็ดีเพื่อความไม่ประมาทหากเกิดกรณีฉุกเฉิน กทม.ได้เตรียมการเกี่ยวกับความพร้อมของเครื่องสูบน้ำ ระบบอาคารบังคับน้ำ ทั้งสถานีสูบน้ำ บึงรับน้ำ ประตูระบายน้ำ ประตูท่อ อุโมงค์ระบายน้ำ บ่อสูบน้ำ ซึ่งขีดความสามารถปัจจุบันสามารถระบายน้ำลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาได้ 1,274 ลบ.ม./วินาที และจัดกระสอบทรายอีก 1,968,960 กระสอบ เรียงเป็นคันสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 2 – 2.10 เมตร ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างเขื่อนถาวรทั้งสองฝั่ง นอกจากนี้ยังได้จัดหน่วยเคลื่อนที่เร็ว 24 หน่วย เพื่อปฏิบัติงานขณะฝนตก ดำเนินการตรวจพื้นที่มีน้ำขัง ตรวจสอบเครื่องสูบน้ำตามบ่อสูบให้ใช้งานได้ เก็บขยะบริเวณหน้าบ่อสูบ ตลอดจนผักตบชวา และวัชพืชอื่นๆ ที่ล่องตามแม่น้ำเจ้าพระยาในวันที่มีการแสดงกระบวนพยุหยาตราชลมารค และจัดตั้งศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ซึ่งมีเจ้าหน้าที่เตรียมพร้อมปฏิบัติงานตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งนี้ประชาชนสามารถร้องเรียนและแจ้งข่าวน้ำท่วม ได้ทางโทรศัพท์หมายเลข 0 2248 5115 อัตโนมัติ 25 คู่สาย และที่หมายเลข 0 2246 0317, 0 2245 6263 – 4 และขอความร่วมมือประชาชนริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาช่วยกันรักษาความสะอาด ไม่ทิ้งขยะลงในแม่น้ำ คู คลองด้วย--จบ--
-นห-