กรุงเทพฯ--25 ธ.ค.--ศูนย์ปชส. กระทรวงคมนาคม
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และท่านบัวทอง วงลอคำ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ขนส่ง ไปรษณีย์ และก่อสร้าง แห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ได้ให้เกียรติเป็นประธานและสักขีพยานในพิธีลงนามในสัญญาจ้างเหมาทำการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงระหว่างชาติ แห่งที่ 2 มุกดาหาร-สะหวันนะเขต (งานส่วนที่ 1) ระหว่างนายเทิดศักดิ์ เศรษฐมานพ อธิบดีกรมทางหลวง กับผู้แทนกลุ่มบริษัท สุมิโตโม่ จำกัด ร่วมกับ บริษัท วิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด บริษัท สยามซินเท็ค จำกัด และบริษัท กรุงธนเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ในวงเงินค่าก่อสร้าง 3,483 ล้านเยน หรือประมาณ 1,220 ล้านบาท ซึ่งทั้งโครงการจะดำเนินการโดยเงินกู้จากเจบิก ในวงเงินกู้ 8,090 ล้านเยน หรือประมาณ 2,558 ล้านบาท เป็นเงินกู้ของประเทศไทย 4,079 ล้านเยน และ สปป.ลาว 4,011 ล้านเยน ใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี การก่อสร้างจะแล้วเสร็จประมาณปลายปี 2549
โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงระหว่างชาติ แห่งที่ 2 ที่มุกดาหาร-สะหวันนะเขต เป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางคมนาคมที่เชื่อมต่อแนวตะวันออก-ตะวันตก (East-West Corridor) จากประเทศเวียดนาม ผ่านมายัง สปป.ลาว เข้าสู่ประเทศไทย และไปจบที่ประเทศพม่า โครงการนี้จะสร้างประโยชน์ให้กับพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย และภาคกลางของ สปป.ลาว โดยสามารถเชื่อมต่อไปยังท่าเรือดานัง และท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจในภูมิภาคของท้องถิ่นนี้
โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงระหว่างชาติ แห่งที่ 2 ที่มุกดาหาร-สะหวันนะเขต มีจุดเริ่มต้นที่บริเวณบ้านสงเปือย ตำบลบางทรายใหญ่ และห่างจากตัวเมืองจังหวัดมุกดาหาร ประเทศไทย ไปทางทิศเหนือ ประมาณ 7.5 กิโลเมตร ซึ่งตรงกับบ้านนาแก เหนือตัวเมืองคันทะบุรี แขวงสะหวันนะเขต สปป.ลาว ประมาณ 5 กิโลเมตร ลักษณะโครงการประกอบด้วย ตัวสะพานหลักทอดข้ามแม่น้ำโขงยาว 1,600 เมตร กว้าง 12 เมตร เป็นสะพานคอนกรีตอัดแรง โดยโครงสร้างคอสะพาน ด้านฝั่งไทยยาว 250 เมตร และด้านฝั่งสปป.ลาว ยาว 200 เมตร รวมความยาวสะพานทั้งสิ้น 2,050 เมตร นอกจากนั้น บนสองฝั่งของแม่น้ำโขงเป็นงานก่อสร้างอาคารด่านควบคุม และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ด้านฝั่ง สปป.ลาว มีถนนเชื่อมไปยังทางหลวงหมายเลข 9 ด้านฝั่งไทยมีถนนต่อเชื่อมไปยังทางหลวงหมายเลข 212 สายมุกดาหาร-อุบลราชธานี รวมทั้งถนนเปลี่ยนทิศทางจราจรด้วย
สำหรับงานก่อสร้างของทั้งโครงการแบ่งงานออกเป็น 3 ส่วน คือ
ส่วนที่ 1 ก่อสร้างตัวสะพานและถนนเปลี่ยนทิศทางจราจรทางด้านฝั่งไทย ฝ่ายไทย และสปป.ลาวออกค่าใช้จ่ายสำหรับงานก่อสร้างจากเขตควบคุมของแต่ละฝ่ายจนถึงจุดกึ่งกลางสะพาน
ส่วนที่ 2 ก่อสร้างอาคารด่านควบคุมและถนนเชื่อมต่อฝั่งลาว สปป.ลาวเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย
ส่วนที่ 3 ก่อสร้างอาคารควบคุมและถนนเชื่อมต่อฝั่งไทย ประเทศไทยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวภายหลังเป็นประธานและสักขีพยานในการลงนามสัญญาก่อสร้างฯ ว่า การก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 2 เป็นอีกโครงการหนึ่งของการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงระหว่างไทย และสปป.ลาว โดยแห่งแรกได้ก่อสร้างแล้วเสร็จคือสะพานมิตรภาพไทย-ลาว ที่จังหวัดหนองคาย ซึ่งได้รับความช่วยเหลือทางด้านการเงินจากรัฐบาลออสเตรเลียในการก่อสร้าง และได้เปิดใช้งานอย่างเป็นทางการแล้วเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2537 สำหรับโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขง แห่งที่ 2 นี้ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการความร่วมมือในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง แนวเศรษฐกิจตะวันออกถึงตะวันตกที่มีความสำคัญอย่างมาก เพราะนอกจากจะช่วยอำนวยความสะดวกด้านการคมนาคม ขนส่งทางรถยนต์ การค้าการลงทุน (ทำให้ต้นทุนการขนส่งสินค้าลดลง ปริมาณการค้าขายเพิ่มมากขึ้น) การท่องเที่ยว ตลอดจนการเดินทางไปมาหาสู่กันของประชาชน สปป.ลาว และประชาชนไทย แล้ว ยังเป็นการเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมระหว่างประเทศต่างๆ ในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งได้แก่ จีน พม่า เวียดนาม สปป.ลาว กัมพูชา และไทย ให้สามารถติดต่อถึงกันได้ดียิ่งขึ้น ในส่วนการก่อสร้างโครงการนี้ นั้นกระทรวงคมนาคมแห่งราชอาณาจักรไทย ได้มอบหมายให้กรมทางหลวงรับผิดชอบในการดำเนินการร่วมกับกระทรวงคมนาคม ขนส่ง ไปรษณีย์ และก่อสร้างของสปป.ลาว และผมเชื่อมั่นว่าจากสัมพันธภาพอันดีที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานแห่งประโยชน์ที่จะได้รับร่วมกันของประชาชนทั้ง 2 ประเทศ ประกอบกับความตั้งใจจริงที่ดี จะก่อให้เกิดความร่วมมือในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแก่ สปป.ลาว และประเทศไทย เพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเมื่อสะพานแห่งที่ 2 นี้ก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2549 จะมีการใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่จากประชาชนของทั้ง 2 ฝ่าย เพื่อเสริมสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งสอง ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น และใคร่ขอขอบคุณในความร่วมมือที่ทางรัฐบาลญี่ปุ่นได้สนับสนุนด้านเงินกู้สำหรับโครงการนี้ด้วย
การลงนามในสัญญาก่อสร้างฯ ในครั้งนี้ เป็นการแสดงถึงความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อนบ้าน สปป.ลาว ที่ได้มีความสัมพันธ์อันดีร่วมกัน ได้มีการร่วมมือในด้านการเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคม ซึ่งเป็นการดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลไทย ที่ต้องการจะช่วยเหลือประเทศเพื่อนบ้านที่มีชายเขตแดนติดกับประเทศไทย ทั้งนี้เพื่อพัฒนาโครงข่ายระบบการคมนาคม ยกระดับเศรษฐกิจให้อยู่ในระดับเดียวกันและในอนาคตประเทศไทย-สปป.ลาว จะมีความร่วมมือในการเชื่อมต่อการคมนาคมในหลายเส้นทาง ได้แก่ โครงการก่อสร้างทางสาย เชียงราย-หลวงน้ำทา-คุณหมิง ซึ่งจะทำให้การคมนาคมของประเทศไทยในตอนเหนือและจีนตอนใต้สะดวกขึ้น และได้เชื่อมโยงถนนในสปป.ลาว ช่วงห้วยทราย-หลวงน้ำทา-บ่อเต็น ด้วย โครงการก่อสร้างทางสาย ห้วยโก๋น (จังหวัดน่าน)-บ.ปากแบ่ง(สปป.ลาว) โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเหือง ที่อำเภอท่าลี่ จังหวัดเลย กับเมืองแก่นท้าว แขวงไชยบุรี สปป.ลาว และโครงการก่อสร้างชื่อมต่อทางรถไฟที่จังหวัดหนองคายไปถึงท่านาแล้ง สปป.ลาว--จบ--
-รก-