กรุงเทพฯ--26 ธ.ค.--กทม.
นายจิม พันธุมโกมล ผู้อำนวยการสำนักการโยธา กทม.เปิดเผยว่า จากสถิติการเกิดเพลิงไหม้อาคารในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยกองป้องกันภัยฝ่ายพลเรือนกรุงเทพมหานครได้รายงานว่าในปี พ.ศ.2543 เกิดอัคคีภัย จำนวน 181 ครั้ง ปี พ.ศ.2544 เกิดอัคคีภัย จำนวน 206 ครั้ง ปี พ.ศ.2545 เกิดอัคคีภัย จำนวน 191 ครั้ง ซึ่งมีผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันอัคคีภัย ลดเหตุที่จะทำให้เกิดเพลิงไหม้ให้น้อยที่สุด และป้องกันมิให้เกิดอันตรายแก่ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน จึงขอความร่วมมือเจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารสูง อาคารขนาดใหญ่พิเศษ อาคารขนาดใหญ่ อาคารสาธารณะ อาคารอยู่อาศัยรวม โรงงาน ภัตตาคาร สำนักงาน และตึกแถว ตรวจสอบระบบการป้องกันอัคคีภัย ได้แก่ อุปกรณ์ ดับเพลิง สัญญาณแจ้งเตือนภัย ป้ายบอกทาง ไฟฟ้าส่องสว่าง บันไดหนีไฟ และเส้นทางหนีไฟ ปั้มน้ำ ซึ่งแล้วแต่ชนิดของอาคารหรือประเภทของอาคารที่จะต้องมีให้อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ หากยังไม่มีระบบการป้องกันอัคคีภัยดังกล่าว ขอให้ดำเนินการแก้ไขและติดตั้งระบบการป้องกันอัคคีภัย
ผู้อำนวยการสำนักการโยธา กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ สำนักการโยธาจะขอความร่วมมือให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารที่ติดตั้งลูกกรงเหล็กดัด หรือสิ่งอื่นที่มีลักษณะทำนองเดียวกันที่ประตู หน้าต่าง หรือที่ด้านนอกหรือด้านในของอาคาร อันเป็นการกีดขวางการหนีออกจากอาคารหรือการช่วยเหลือผู้ที่อยู่ในอาคารเมื่อเกิดอัคคีภัย ดำเนินการตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 18 (พ.ศ.2530) คือ ดำเนินการจัดให้มีช่องทางที่เปิดออกสู่ภายนอกได้ทัน ขนาดกว้างไม่น้อยกว่า 0.60 เมตร ยาวไม่น้อยกว่า 0.80 เมตร อย่างน้อยหนึ่งช่องทางในแต่ละชั้นของอาคารหรือของคูหาอีกด้วย--จบ--
-นห-