กรุงเทพฯ--19 ธ.ค.--กทม.
นายวัตตะ ฮุนพงษ์สิมานนท์ รองผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า โครงการเพิ่มขีดความสามารถด้านสิ่งแวดล้อมของกรุงเทพมหานคร (Environmental Strengthening of BMA) ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากสำนักงานความร่วมมือเพื่อสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาแห่งประเทศเดนมาร์ก (Danish International Development Assistance: DANIDA) โดยส่งผู้เชี่ยวชาญ (Mr.Jan Ipland) มาเป็นที่ปรึกษาประจำโครงการฯ เป็นระยะเวลา 2 ปี ตั้งแต่เดือนต.ค.41- ก.ย.43 และได้ขยายระยะเวลาโครงการต่อไปถึงวันที่ 30 พ.ย.46 รวมระยะเวลาดำเนินโครงการฯ 5 ปี 2 เดือน ซึ่งขณะนี้ระยะเวลาดำเนินงานของ โครงการฯ ได้สิ้นสุดลงแล้วเมื่อวันที่ 30 พ.ย.46 และได้มีการประชุมคณะกรรมการกำกับโครงการฯ เมื่อวันที่ 8 ธ.ค.ที่ผ่านมา ณ ห้องปฏิบัติการกรุงเทพมหานคร (OR) ซึ่งมีนายมุดตาฝ้า หมันงะ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุม ในการประชุมดังกล่าว ผู้เชี่ยวชาญประจำโครงการฯ ได้ส่งรายงานฉบับสมบูรณ์ (Completion Report) ของโครงการฯ แล้ว ซึ่งโครงการนี้ได้เน้นไปที่การพัฒนาและสร้างเครื่องมือการเพิ่มขีดความสามารถในกระบวนการวางแผนอย่างยั่งยืนให้เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานคร โดยได้จัดทำเครื่องมือ / เอกสารของโครงการฯ เพื่อที่กรุงเทพมหานครจะได้นำไปใช้เป็นเครื่องมือในกระบวนการวางแผนการตัดสินใจการจัดการสิ่งแวดล้อมเมือง อันจะนำกรุงเทพมหานครไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป โดยโครงการฯ มีผลงาน ดังนี้ 1.เอกสารการจัดการเมืองแบบยั่งยืน (Sustainable Urban Management) ทั้งเอกสารรูปเล่มและแผน CD-ROM 2.วาระแห่งกรุงเทพมหานคร (Bangkok Agenda) ซึ่งเป็นกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนากรุงเทพมหานคร ระยะ 20 ปี (พ.ศ.2545-2564) ประกอบด้วย 10 ยุทธศาสตร์ เพื่อนำกรุงเทพมหานครไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน เผยแพร่ทั้งในรูปเอกสารและ Web – site ของกรุงเทพมหานคร
3.การจัดทำผังข้อมูลสำนักงานเขต (District Catalogue) ซึ่งเป็นการดำเนินการจัดเก็บข้อมูลพื้นฐานของสำนักงานเขต เพื่อใช้ในการประกอบการตัดสินใจกำหนดแผนงาน/โครงการพัฒนาเขตในโปรแกรม GIS แบบง่าย (โปรแกรม BMA-VIS) ซึ่งทุกสำนักงานเขตได้ดำเนินการจัดทำคลังข้อมูลสำนักงานเขต (Data Bank) เสร็จเรียบร้อยแล้วและได้ประสานให้ทุกสำนักงานเขต ปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันทุก 6 เดือน ต่อมาได้พัฒนาปรับปรุงโปรแกรม BMA –VIS เป็นโปรแกรม BMA- Plan เพื่อใช้ในการวิเคราะห์และวางแผนพัฒนาเขต และได้จัดฝึกอบรมวิทยากรแกนนำโครงการจัดทำแผนสำนักงานเขต จำนวน 37 คน เมื่อวันที่ 8-10 เม.ย.46 โดยมีสำนักงานเขตบางกอกน้อย เป็นเขตนำร่องในการจัดทำแผนสำนักงานเขต ซึ่งเป็นการจัดทำตามคู่มือแบบง่ายในการจัดทำผังข้อมูลสำนักงานเขต (District Catalogue) 4. การจัดทำผังข้อมูลกรุงเทพมหานคร (Master Catalogue) ซึ่งเป็นข้อมูลพื้นฐานแสดงถึงโครงสร้างทางกายภาพของเมือง ระบบสาธารณูปโภค สาธารณูปการ ในภาพรวมของกรุงเทพมหานคร ที่จะใช้เป็นเครื่องมือที่ช่วยในการตัดสินใจกำหนดนโยบายและแผนงานโครงการพัฒนากรุงเทพมหานคร ทั้งนี้ผู้เชี่ยวชาญประจำโครงการฯ ได้จัดทำคู่มือการจัดผังข้อมูลกรุงเทพมหานครในการเชื่อมโยงข้อมูลในผังข้อมูลเข้ากับวาระแห่งกรุงเทพมหานคร (Bangkok Agenda) และได้จัดฝึกอบรมการจัดทำผังข้อมูลกรุงเทพมหานคร แก่ข้าราชการระดับ 3-8 ของสำนักนโยบายและแผนกรุงเทพมหานคร จำนวน 2 รุ่น เมื่อวันที่ 10 และ 12-13 พ.ย.46 ณ โรงแรมปริ๊นซพาเลซ
รองผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนกรุงเทพมหานคร กล่าวต่อว่า ผลงานของโครงการฯ กรุงเทพมหานครควรจะนำไปใช้เป็นเครื่องมือในกระบวนการวางแผน การตัดสินใจการจัดการสิ่งแวดล้อมเมืองของกรุงเทพมหานคร เพื่อพัฒนาสู่ความยั่งยืนต่อไป ในส่วนการจัดทำแผนสำนักงานเขต และการจัดทำผังข้อมูลกรุงเทพมหานคร ควรที่จะให้สถาบันพัฒนาข้าราชการกรุงเทพมหานครนำไปดำเนินการจัดหลักสูตรฝึกอบรมแก่ข้าราชการกรุงเทพมหานครต่อไป--จบ--
-นห-