กรุงเทพฯ--10 ก.ค.--กทม.
ส.ก.เขตสะพานสูง เสนอให้กทม.เร่งดำเนินการรับมอบที่ดินให้ถูกต้องตามกฎหมายโดยเร็ว สนองเจตนารมย์ของประชาชน ในการบริจาคที่เพื่อใช้เป็นที่สาธารณะ ด้านผู้ว่าฯกทม. ระบุการมอบที่ดินให้กับรัฐนั้นต้องไม่มีเงื่อนไข
นายประสิทธิ์ มะหะหมัด สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตสะพานสูง เปิดเผยว่า ตนได้เสนอญัตติ เรื่อง ขอให้กรุงเทพมหานคร เร่งดำเนินการตามกฎหมายให้แล้วเสร็จโดยเร็ว กรณีมีผู้แสดงเจตนามอบที่ดินให้กรุงเทพมหานคร ในคราวประชุมสภากทม.สมัยประชุมสามัญ สมัยที่ 3 ครั้งที่ 1/ 2546 เนื่องจากที่ผ่านมาได้มีประชาชน มีหนังสือแสดงเจตนายกที่ดินให้กรุงเทพมหานคร เพื่อให้เป็นที่สาธารณประโยชน์แก่ส่วนรวม แต่ส่วนใหญ่ยังไม่มีการรังวัดแบ่งโฉนด หรือรับโอนกรรมสิทธิ์ ให้เสร็จสิ้นตามกฎหมายโดยเร็ว ผู้ที่ยังมีชื่อเป็นเจ้าของที่ดินนั้นจึงยังคงถูกเรียกเก็บภาษีบำรุงท้องที่ เป็นต้น ทั้งนี้ในการอุทิศที่ดินให้กทม.นั้น กทม.ควรจะอำนวยความสะดวกต่างๆให้กับประชาชน เช่น ค่ารังวัดที่ดิน ค่าธรรมเนียม หรือค่าอากรแสตมป์ เป็นต้น สำหรับการเก็บเอกสารการโอนของสำนักงานเขต น่าจะมีการปรับปรุงให้ทันสมัย โดยใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ เข้ามาช่วยในการทำงานสามารถที่จะรู้ว่าที่ดินสาธารณะอยู่ที่ไหนบ้าง จึงขอให้กทม.หามาตรการในการใช้เทคโนโลยี รวมทั้งแนวทางการประสานงานกับสำนักงานที่ดิน ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน
ด้านนายสมัคร สุนทรเวช ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า เรื่องการยกที่ดินให้กทม. นั้นมีอยู่ 2 แบบ คือ แบบเก่า และแบบใหม่ ทั้งนี้แบบใหม่ คือ คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อ ปี พ.ศ.2544 กำหนดขั้นตอนมาเลยว่าจะรับหรือไม่อย่างไร การรับที่ดินที่มอบให้กับรัฐนั้น ต้องไม่มีเงื่อนไข ถ้าหากมีเงื่อนไขก็รับไม่ได้ เช่น ที่ดินติดจำนอง ที่ดินที่เจ้าของที่ดินแปลงนั้นๆ ยกให้รัฐ พอนำมาทำถนนราคาที่ดินในแปลงนั้นก็มีมูลค่าสูงขึ้นจากที่ดินที่จำนองอยู่ เป็นต้น ลักษณะเช่นนี้มีหลายราย ทั้งนี้เอกสารในการรับมอบต่างๆนี้ หากตกลงกันเรียบร้อยแล้ว จะมีอยู่ด้วยกัน 4 แห่ง คือ กรมที่ดิน, สำนักงานเขต, กองรังรัด สำนักการโยธา กทม., และเจ้าของที่ดิน ดังนั้นหาก ไม่มีเงื่อนไขก็สามารถดำเนินการได้เลย ส่วนค่าอากรนั้นไม่เสียแต่อย่างใด พร้อมค่ารังวัดยังได้รับการยกเว้นด้วย เพราะมีกฎหมายกำกับไว้ชัดเจน ค่าธรรมเนียมต่างๆ เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ที่ยกให้กับหน่วยงานของรัฐก็ได้รับการยกเว้น อย่างไรก็ดีส่วนใหญ่การให้ที่ดินของประชาชนมักจะมีเงื่อนไขตลอด ส่วนแบบเก่านั้นหากขั้นตอนการดำเนินการไม่ถูกต้อง กล่าวคือ ตราบใดยังไม่มีการโอน การมอบ รับมอบ ก็ถือว่ายังไม่มีการให้--จบ--
-นห-