กรุงเทพฯ--10 มิ.ย.--กรมการประกันภัย
นางสาวพจนีย์ ธนวรานิช อธิบดีกรมการประกันภัย แจ้งว่า กระทรวงพาณิชย์ได้ออกประกาศกระทรวงฉบับใหม่ เรื่อง การวางเงินสำรองประกันภัย เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2546 และ มีผลใช้บังคับตั้งแต่ 8 เมษายน 2546 ซึ่งเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์การวางเงินสำรองประกันภัยของบริษัทประกันชีวิตไว้ที่กรมการประกันภัย
บริษัทประกันชีวิตจะมีภาระผูกพันต่อลูกค้าผู้เอาประกันภัยของบริษัทเพราะได้ออกกรมธรรม์ไว้ ภาระผูกพันที่บริษัทมีต่อลูกค้าทุกคนคือเงินสำรองประกันภัย ซึ่งมีมูลค่ามากและถือเป็นหนี้สินส่วนใหญ่ที่บริษัทมีต่อบุคคลภายนอก ดังนั้น พ.ร.บ. ประกันชีวิต พ.ศ. 2535 จึงมุ่งคุ้มครองผู้เอาประกันภัยโดยกำหนดให้บริษัทจะต้องนำสินทรัพย์มูลค่าไม่เกิน 25% ของเงินสำรองทั้งสิ้นมาวางไว้ที่กรมการประกันภัยเพื่อเป็นหลักประกันว่า ในกรณีที่บริษัทมีหนี้สินล้นพ้นตัวจนไม่อาจดำเนินการต่อไปได้ เงินสำรองประกันภัยส่วนที่บริษัทวางไว้ที่กรมการประกันภัยนี้ให้นำมาเฉลี่ยคืนระหว่างผู้เอาประกันภัย ดังนั้นกระทรวงพาณิชย์จึงออกกฎเกณฑ์มาเพื่อกำหนดประเภทและสัดส่วนของทรัพย์สินต่างๆที่บริษัทจะใช้นำมาวางไว้ที่กรมการประกันภัยเพื่อให้ความมั่นใจว่าในกรณีที่ต้องนำมาเฉลี่ยคืนต่อลูกค้าผู้เอาประกันภัย ลูกค้าจะสามารถได้รับเงินคืนเต็มเม็ดเต็มหน่วย
สาระสำคัญของหลักเกณฑ์การวางเงินสำรองใหม่ที่ต่างไปจากหลักเกณฑ์เดิมคือจะอนุญาตให้บริษัทนำอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นที่ทำการของบริษัทใช้วางเป็นเงินสำรองฯ ได้ตามเดิมแต่ให้ทยอยลดลงจนหมดภายใน 5 ปี ดังนั้น ในปี 2551 บริษัทประกันชีวิตจะไม่มีอสังหาริมทรัพย์วางเป็นเงินสำรองฯ ที่กรมการประกันภัยอีกต่อไป
ขณะที่ในธุรกิจประกันวินาศภัย ไม่สามารถใช้อสังหาริมทรัพย์ที่เป็นที่ทำการจัดสรรเป็นเงินสำรองฯ ตั้งแต่ 1 มกราคม 2546.
หากต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อได้ที่ โทร. 0-2547-4548 หรือสายด่วนกรมการประกันภัย 1186--จบ--
-สส-
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit