กรุงเทพฯ--19 มิ.ย.--วันเดอร์เวิร์ล
"วันเดอร์เวิร์ล" หนึ่งในบริษัทของคนไทยที่ผลิตของเล่นไม้ ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในต่างประเทศ ไม้ยางพาราที่ถูกนำมาออกแบบเป็นของเล่นไม้ที่หลากหลาย เสริมสร้างพัฒนาการให้กับเด็ก ระยะเวลาหลายปีที่กว่าชื่อ "วันเดอร์เวิร์ล" จะกลายเป็นรู้จักของคนทั่วไป
นายสุทธิชัย เอี่ยมเจริญยิ่ง กรรมการผู้จัดการ บริษัท วันเดอร์เวิร์ล โปรดัคส์ จำกัด ผู้ผลิตของเล่นจากไม้ยางพารา กล่าวว่า วันเดอร์เวิร์ลเปิดดำเนินการมาแล้ว 18 ปี ในขณะนั้นภาวะเศรษฐกิจเป็นช่วงขาลง บริษัทมองเห็นว่าธุรกิจของเล่นน่าจะส่งออกได้ ธุรกิจของเล่นนั้นมีอยู่มากมายหลายชนิดทั้ง ไม้, พลาสติก, กระดาษ หรือโลหะ ซึ่งประเทศไทยมีทรัพยากรไม้มาก ประกอบกับการลงทุนเริ่มต้นที่ไม่สูงนัก จึงเริ่มต้นทำธุรกิจของเล่นไม้ โดยเข้าไปศึกษาขั้นตอนการผลิต ศึกษาเรื่องของตลาด รูปแบบ ไปพร้อม ๆ กัน
การหาลูกค้าในระยะเริ่มแรกของการทำธุรกิจส่วนใหญ่ลูกค้าจะนำแบบของเล่นมาให้กับทางบริษัททำ หรือทางบริษัทออกแบบของเล่นให้กับลูกค้าได้เลือก ซึ่งขณะนั้นบริษัทยังไม่เป็นที่รู้จักในตลาดของเล่นเท่าไรนัก จนบริษัทเปิดดำเนินการมาได้ 7-8 ปีจึงคิดสร้างแบรนด์สินค้าขึ้นเป็นของตัวเอง ด้วยการเริ่มต้นพัฒนาผลิตภัณฑ์โดยเริ่มจากการที่ลูกค้าเอาแบบมาให้ทำ จนเกิดความชำนาญจึงคิดออกแบบสินค้าขึ้นเองเพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภค จนเป็นที่พอใจของลูกค้า จึงสร้างแบรด์ของตนเองขึ้น ภายใต้ชื่อ "วันเดอร์เวิร์ล" ซึ่งเป็นของเล่นไม้ และ "ซอฟวู้ด" เป็นของเล่นไม้ผสมภาพ โดยกลุ่มลูกค้าของวันเดอร์เวิร์ลส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มของ ยุโรป อเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลี ส่วนซอฟวู้ด ถือเป็นสินค้ากลุ่มใหม่ที่ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี อัตราการเติบโตจะเร็วกว่า แม้ระยะการทำตลาดเพิ่งจะเริ่มต้นแค่ 3-4 ปี เท่านั้น
"วันเดอร์เวิร์ล"ของเล่นไม้ยางพารา
เพื่อพัฒนาการที่สมวัยสำหรับลูกน้อย
นายสุทธิชัย กล่าวต่อว่า ความแตกต่างของสินค้าในยุโรปกับของบริษัท วันเดอร์เวิร์ลจะอยู่ที่เนื้อไม้ที่นำมาผลิตเป็นของเล่น เพราะในยุโรปจะใช้ไม้บีทเป็นหลัก และไม้เมลเบิล ซึ่งไม้บีทของยุโรปเป็นไม้ที่เกิดขึ้นจากการปลูกป่าทดแทน ลูกค้าในยุโรปจะไม่ชอบ แต่ในส่วนของบริษัทจะใช้ไม้ยางพารา ซึ่งบริษัทบอกว่าเป็นไม้ที่ดีที่สุดในโลก เพราะเป็นไม้ที่เหลือจากการผลิตน้ำยางพารา ซึ่งแต่เดิมเมื่อต้นยางหมดน้ำยางก็จะถูกต้องตัดทิ้ง เพื่อปลูกต้นใหม่ พอบริษัทนำไม้ยางพารามาทำเป็นของเล่นลูกค้าในแถบยุโรปจะชอบมาก เพราะเป็นวัตถุดิบที่เหลือจากกระบวนการผลิตสำหรับของเล่นไม้ที่บริษัทผลิตออกมา สำหรับเด็กตั้งแต่แรกเกิดถึงอายุประมาณ 3-4 ขวบ ซึ่งเด็กในวัยนี้มีทฤษฎีพัฒนาการที่แน่นอน บริษัทสามารถผลิตของเล่นไล่ตามทฤฏีพัฒนาการในแต่ละขั้นของเด็กทั้งในเรื่องของ สี ขนาด การหยิบจับ การใช้เครื่องมือ ใช้กล้ามเนื้อ การใช้สายตา ฟังเสียง เพราะฉะนั้นการผลิตของเล่นให้ตรงกับพัฒนาการของเด็กจึงค่อนข้างแน่นอน เพียงแต่ใส่รูปแบบให้สวยงามและลูกเล่นให้เหนือกว่าคู่แข่งเท่านั้น แต่สิ่งหนึ่งที่บริษัทให้ความสำคัญมากที่สุดก็คือเรื่องของความปลอดภัยที่ต้องมาเป็นอันดับหนึ่ง
สวทช.ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต
พร้อมเทคนิคการแก้ไขปัญหา
กรรมการผู้จัดการ บริษัท วันเดอร์เวิร์ล กล่าวต่อว่า แม้ว่าบริษัทจะประสบผลสำเร็จแล้วในระดับหนึ่ง แต่ก็ยังไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่ ด้วยความคิดที่ว่าเทคโนโลยีจะดีได้ต้องมีการพัฒนาอยู่ตลอดเวลา บริษัทจึงเข้าไปขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานของรัฐและเอกชนอยู่หลายหน่วยงาน และ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) คือหน่วยงานของรัฐที่บริษัทขอความร่วมมือมากที่สุด ซึ่งทาง สวทช. จะส่งเจ้าหน้าที่ที่เชี่ยวชาญมาปรับปรุงกระบวนการผลิตให้ดีขึ้น ซึ่งในแต่ละปีบริษัทจะให้ความสำคัญในแต่ละเรื่องต่างกันไป การที่มีคนอื่นเข้ามาให้คำปรึกษาส่งผลดีแก่บริษัท เพราะเมื่อก่อนเราทำงานกันเองภายในบริษัท มุมมองของเราก็จะอยู่ในกรอบที่บริษัทวางไว้ ถ้าได้คนอื่นมามองนอกกรอบคนในองค์กรจะได้ความรู้ใหม่ ๆ เข้ามา
ด้านนางสาววลัยรัตน์ จังเจริญจิตต์กุล ที่ปรึกษาเทคโนโลยี โครงการพัฒนาเทคโนโลยีของภาคอุตสาหกรรมไทย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า สวทช. เข้าให้ความช่วยเหลือบริษัท วันเดอร์เวิร์ลในเรื่องของเทคนิคในการใช้ใบมีดสำหรับงานขึ้นรูปไม้ยางพาราอย่างถูกต้อง พร้อมให้งบประมาณสนับสนุนค่าตอบแทนผู้เชี่ยวชาญ 50% โดยเข้าไปแนะนำการ ปรับปรุงลักษณะผิวงาน การเพิ่มคุณภาพผลิตภัณฑ์ การใช้เครื่องจักรอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังมีการฝึกอบรมด้านเทคโนโลยีการจัดการใบมีดสำหรับการขึ้นรูปไม้ยางพาราอย่างถูกต้อง พร้อมสาธิตและการฝึกปฏิบัติในการจัดการใบมีด และเทคนิคในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งหลังจากนั้นผลที่ได้ทำให้ บริษัทสามารถเลือกใช้ใบมีดและการตั้งความเร็วใบมีด ให้เหมาะสมกับเครื่องจักร ลักษณะของงาน ทำให้ประสิทธิภาพของเครื่องจักร การผลิต ดียิ่งขึ้น และมีการพัฒนาบุคลากรในบริษัทเกี่ยวกับการจัดการใบมีด ซึ่งได้ผลดีมาก
นายสุทธิชัย กล่าวว่า การที่ สวทช. เข้ามาให้ความช่วยเหลือนั้นทำให้บริษัทสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้ดีมากยิ่งขึ้น ของเสียจากชิ้นงานลดน้อยลง แต่ที่สำคัญคือเป็นการเปิดหูเปิดตาตัวเองให้รู้จักเทคโนโลยีใหม่ๆ และการทำงานที่เป็นระบบ ระเบียบ แบบแผนยิ่งขึ้น อยากฝากไปถึงผู้ประกอบการทั้งหลายว่าการทำธุรกิจจะดีได้ต้องมีหูตากว้างไกลและเลือกใช้ประโยชน์จากหน่วยงานสนับสนุนอื่นๆ ด้วย--จบ--
-รก-