กรุงเทพฯ--16 มิ.ย.--กทม.
นายอนันต์ ศิริภัสราภรณ์ ผู้อำนวยการสำนักการศึกษา กทม.เปิดเผยว่า ปัจจุบันกรุงเทพมหานครได้เปิดโอกาสให้เด็กพิการได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นพิเศษโดยจัดให้เรียนร่วมกับเด็กปกติในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร จำนวน 60 โรงเรียน เพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542
ผู้อำนวยการสำนักการศึกษา กล่าวต่อไปว่า สำนักการศึกษา กรุงเทพมหานครซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งที่ตระหนักถึงความสำคัญของเด็กพิการ ประกอบกับได้รับมอบหมายจากกรุงเทพมหานครให้ดำเนินการจัดการเรียนการสอนกับครูและเด็กพิการใน โรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร จึงจัดโครงการอบรมการจัดการเรียนร่วมในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครให้กับผู้บริหารโรงเรียน ผู้ช่วยผู้บริหารโรงเรียน ศึกษานิเทศก์ และครูผู้สอนในโรงเรียนร่วม เพื่อให้มีความรู้และทักษะในการจัดการเรียนการสอน เข้าใจระเบียบและการบริหารการจัดการเกี่ยวกับการจัดการเรียนร่วม สามารถดำเนินการจัดทำเอกสารแนวทางการบริหารเกี่ยวกับการจัดการเรียนร่วมและแผนคู่ขนานสำหรับใช้ในโรงเรียนร่วม จำนวน 60 โรงเรียน ประกอบกับใช้เป็นเอกสารสำหรับจัดสอนซ่อมเสริมแก่นักเรียนในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครทั้งหมด 431 โรงเรียน ซึ่งเมื่อปลายเดือนเม.ย.46 ได้ดำเนินการจัดอบรมปฏิบัติการให้กับครูโรงเรียนร่วมในเรื่องการจัดทำแผนการสอนคู่ขนานสำหรับเด็กพิการ และในวันที่ 13 มิ.ย.46 เวลา 08.30-16.30 น. ได้จัดให้ มีการสัมมนาซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่องจากโครงการจัดการเรียนร่วมในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครให้กับผู้บริหารโรงเรียน ผู้ช่วย ผู้บริหารโรงเรียน และศึกษานิเทศก์ ณ โรงแรมเอเซีย สำนักงานเขตราชเทวี
ผู้อำนวยการสำนักการศึกษา กล่าวต่อไปว่า สำหรับการสัมมนาในครั้งนี้ สำนักการศึกษาได้จัดให้มีการบรรยายเรื่อง "นโยบายการจัดการศึกษาสำหรับเด็กเรียนร่วมในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร การให้ความรู้ทั่วไปและแนวทางการบริหารการ จัดการ โดยศาสตราจารย์ศรียา นิยมธรรม ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ ภาควิชาการศึกษาพิเศษ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ดารณี ศักดิ์ศิริผล เลขานุการภาควิชาการศึกษาพิเศษ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ตลอดจนมีการจัดเสวนา และตอบปัญหาเกี่ยวกับการจัดการเรียนร่วมอีกด้วย
ผู้อำนวยการสำนักการศึกษา กล่าวในตอนท้ายว่า สำนักการศึกษาหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การจัดโครงการจัดการเรียนร่วมครั้งนี้ เด็กพิการในโรงเรียนร่วมสังกัดกรุงเทพมหานครจะได้รับการพัฒนาให้สามารถเรียนร่วมกับเด็กปกติได้ และสามารถพัฒนาความรู้ ความสามารถของตนเองได้ตามศักยภาพของแต่ละบุคคลเพื่อใช้ประโยชน์ในการดำรงชีวิตต่อไป--จบ--
-นห-