กรุงเทพฯ--16 ก.ย.--กทม.
น.ส.อรอนงค์ กาญจนชูศักดิ์ โฆษกสภากรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่ห้องประชุมสภากทม.ได้มีการประชุมสภากทม. สมัยประชุมสามัญ สมัยที่ 3 (ครั้งที่ 7) ประจำปี พ.ศ.2546 ซึ่งมีนายสามารถ มะลูลีม ประธานสภา กทม. เป็นประธานในการประชุม โดยที่ประชุมฯ ได้พิจาณาญัตติขอความเห็นชอบให้กรุงเทพมหานครขยายเวลา เบิกจ่ายเงินเหลื่อมปี งบประมาณ พ.ศ.2547 รวมทั้งสิ้น 189 รายการ เป็นเงิน 2,908,499,895.91 บาท ซึ่งคณะกรรมการวิสามัญฯ โดยนายประเดิมชัย บุญช่วยเหลือ ส.ก.เขตห้วยขวาง ในฐานะประธานคณะกรรมการวิสามัญฯ ได้นำรายงานผลการพิจารณา เสนอต่อที่ประชุมสภากทม. เพื่อพิจารณาในวันนี้
น.ส.อรอนงค์ กล่าวว่า สำหรับผลการพิจารณารายการขอขยายเวลาเบิกจ่ายเงินเหลื่อมปีงบประมาณ พ.ศ.2547 จำนวน 189 รายการ คณะกรรมการฯ เห็นชอบให้ขยายเวลาเบิกจ่ายเงินเหลื่อมปีงบประมาณ พ.ศ.2547 จำนวน 177 รายการ เป็นเงิน 2,869,695,455.42 บาท และไม่เห็นชอบให้ขยายเวลาเบิกจ่ายฯ รวมทั้งสิ้น 12 รายการ เป็นเงิน 38,804,440.49 บาท เนื่องจากบางรายการเป็นรายการที่สามารถเบิกจ่ายทันภายในวันที่ 30 ก.ย.46 หรือมีการเบิกจ่ายเงินไปแล้ว
ทั้งนี้ คณะกรรมการวิสามัญฯ ได้ตั้งข้อสังเกตและข้อเสนอแนะ ดังนี้ กรณีมีความผิดพลาดจากการออกแบบ เช่น ออกแบบโดยมีบางส่วนของโครงการล้ำเข้าไปในที่ดินของเอกชน เป็นต้น ทำให้ผู้รับจ้างต้องชะลอการก่อสร้าง นอกจากจะทำให้เกิดความ ล่าช้าของแผนงานการก่อสร้างและแผนการใช้จ่ายงบประมาณแล้ว ยังไม่มีการกำหนดระยะเวลาในการแก้ไขแบบไว้ ทำให้บาง โครงการใช้เวลาในการแก้ไขแบบนานมาก และหน่วยงานนำมาเป็นเหตุผลในการขอต่ออายุสัญญา ดังนั้น กรุงเทพมหานครควรพิจารณากำหนดระยะเวลาในการแก้ไขแบบไว้ให้ชัดเจน ทั้งนี้ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของกรุงเทพมหานครและเพื่อให้โครงการต่าง ๆ สามารถดำเนินการตามแผนงานสำเร็จลุล่วงเกิดประโยชน์แก่ประชาชนโดยไม่ชักช้า, การละทิ้งงานของบริษัทผู้รับจ้างทำให้งานของกรุงเทพมหานครไม่เป็นไปตามแผน ดังนั้น ควรตรวจสอบบริษัทที่ยื่นขอจดทะเบียนเป็นผู้รับจ้างของกรุงเทพมหานคร อาจมีบริษัทที่ ทิ้งงานมีผลงานล่าช้าไปจดทะเบียนบริษัทในชื่อใหม่ กรุงเทพมหานครควรสั่งการให้สำนักการโยธาตรวจสอบโดยละเอียดถี่ถ้วน , การขอตัดคันหินทางเท้า กำหนดให้ขออนุญาตชั่วคราวกรณีมีการปรับปรุงพื้นที่แต่ไม่ก่อสร้างที่อยู่อาศัย และเมื่อดำเนินการเสร็จแล้วต้องซ่อมคืนสภาพเดิม แล้วต้องยื่นขออนุญาตตัดคันหินทางเท้าใหม่เมื่อต้องการสร้างที่อยู่อาศัยในพื้นที่ดังกล่าวและเปิดทางเข้า – ออกถาวร แต่กรณีเจ้าของที่ดินแจ้งความประสงค์ว่าต้องการตัดคันหินทางเท้าพร้อมก่อสร้างถนนในพื้นที่ของตน และจะก่อสร้างที่อยู่อาศัยในอนาคต หน่วยงานควรพิจารณาอนุมัติไปในคราวเดียวกัน เพื่อไม่ให้เสียเวลาในการยื่นขออนุญาตในการดำเนินการถึง 2 ครั้ง และต้องรื้อแล้วสร้างคืนเป็นการสิ้นเปลือง รวมทั้งควรกำหนดระยะเวลาในการอนุมัติให้ประชาชนทราบไว้อย่างชัดเจน เนื่องจากได้มีการยื่นขออนุญาตรายหนึ่งตั้งแต่ต้นเดือนก.พ. และเพิ่งได้รับคำตอบว่าไม่อนุญาตให้ดำเนินการเมื่อปลายเดือน ส.ค. รวมระยะเวลากว่า 6 เดือน ทำให้เสียเวลาและเกิดความเสียหายตามมา , สุขาในส่วนราชการบางแห่งของกรุงเทพมหานครไม่มีโถนั่ง การก่อสร้างหรือปรับปรุงสุขาของกรุงเทพมหานครควรจัดให้มีทั้งแบบนั่งราบและโถชักโครก เนื่องจากอาจมีผู้พิการ ผู้ป่วย ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีน้ำหนักตัวมาก ฯลฯ ไม่ได้รับความสะดวกในการใช้สุขาแบบนั่งราบ
สำหรับรายงานผลการพิจารณาของคณะกรรมการวิสามัญฯ ที่ประชุมสภากรุงเทพมหานครได้มีมติเห็นชอบ และจะนำเสนอให้ผู้บริหารกทม.พิจารณาดำเนินการต่อไป--จบ--
-นห-