กรุงเทพฯ--29 ก.ย.--ไอบีเอ็ม ประเทศไทย
บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด จัดงานสัมมนา “Open Forum”ร่วมกับหน่วยงานรัฐบาล คือ คณะทำงานโอเพ่นซอร์ส และโครงการไทยกริด เพื่อให้ความรู้และแนวทางสนับสนุนเกี่ยวกับโอเพ่นคอมพิวติ้ง ซึ่งเป็นแนวโน้มการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศในอนาคต โดยคณะทำงานโอเพ่นซอร์สเตรียมนำเสนอร่างแผนยุทธ์ศาสตร์โอเพ่นซอร์สแห่งชาติ ต่อกระทรวงไอซีที ส่วน4 มหาวิทยาลัยภาครัฐสานต่อโครงการไทยกริด ในขณะที่ไอบีเอ็มผลักดันโอเพ่นซอร์สในหลายๆโครงการทั่วโลก
นายอนุกูล แต้มประเสริฐ ประธานคณะทำงานโอเพ่นซอร์ส หน่วยงานภายใต้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กล่าวว่า ขณะนี้ทางคณะทำงานได้ยกร่างแผนยุทธศาสตร์โอเพ่นซอร์สแห่งชาติ เพื่อนำเสนอต่อกระทรวงไอซีที โดยสาระสำคัญในร่างแผนยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย 3 ประการหลักในเบื่องต้น กล่าวคือ
1. โอเพ่นซอร์สภาคภาษาไทย: การจะผลักดันซอต์แวร์โอเพ่นซอร์สให้เกิดความแพร่หลายในการใช้งานนั้น จำเป็นต้องสร้างมาตรฐานภาษาไทย โดยการพัฒนาภาษาไทยในระดับของส่วนติดต่อใช้งานกับผู้ใช้ (user interface) ทั้งนี้ ในปัจจุบันได้มีการพัฒนาภาษาไทยไปแล้วในระดับหนึ่ง แต่ยังมีหลายค่ายดังนั้นน่าจะมีการพัฒนาระบบภาษาไทยที่เป็นระบบกลางโดยการสนับสนุนจากภาครัฐให้มีการพัฒนาภาษาไทยร่วมกัน และไปในทิศทางเดียวกัน
2. การพัฒนาบุคลากร: การจะพัฒนาบุคลากรเป็นสิ่งจำเป็นต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ของประเทศไทย และการศึกษาโดยใช้โอเพ่นซอร์สเป็นสิ่งที่สามารถเกื้อหนุนให้ประเทศไทยสามารถปรับฐานจาก ประเทศที่เป็น Technology User ไปเป็น Technology Developer ได้ในระยะยาว ดังนั้นการพัฒนาบุคลากรจากโครงการโอเพ่นซอร์ส โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักพัฒนา ที่เริ่มต้นจากสถาบันการศึกษาจึงมีความจำเป็นและสำคัญ
3. การผลักดันการใช้งานในกลุ่มองค์กร: การนำโอเพ่นซอร์สไปประยุกต์ใช้งานตามความเหมาะสมเป็นสิ่งที่สำคัญ การผลักดันให้ใช้อย่างกว้างขวางขณะเดียวกันกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความเสถียร และง่ายต่อการใช้งานจึงเป็นสิ่งที่ต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วน ดังนั้นถ้าต้องการให้มีการใช้อย่างเป็นระบบ โอเพ่นซอร์สน่าจะนำไปประยุกต์ใช้อย่างเหมาะสมและมุ่งไปที่การใช้ในงานเฉพาะทางโดยตั้งเป้ากับการใช้ในระดับองค์กร เป็นจุดเริ่มต้น อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันนี้ มหาวิทยาลัยหลายเแห่ง เช่น มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยเกษตร ฯลฯ ตลอดจน หน่วยงานภาครัฐหลายแห่งได้นำระบบโอเพ่นซอร์สมาใช้จนสามารถตอบสนองความต้องการขององค์กรได้ในระดับหนึ่ง
ผศ.ดร.วรา วราวิทย์ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและสารสนเทศ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และผู้ร่วมก่อตั้งโครงการไทยกริด กล่าวว่า โครงการไทยกริดเกิดขึ้นภายใต้แนวคิดในการใช้งานทรัพยากรระบบคอมพิวเตอร์ร่วมกันจากที่ต่างๆ เพื่อให้เกิดการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุดบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในอนาคต ทั้งนี้ ทรัพยากรระบบคอมพิวเตอร์ที่เปิดให้ใช้งานร่วมกัน ประกอบด้วยส่วนประกอบหลัก คือ ซีพียู, ระบบเก็บข้อมูล และระบบคำนวณ
โครงการไทยกริดมีความมุ่งมั่นที่จะสร้างโครงสร้างพื้นฐานระบบประมวลผลแห่งชาติซึ่งเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพสูง โดยโครงการไทยกริดเป็นโครงการความร่วมมือระหว่างกลุ่มวิจัยด้านการประมวลผลสมรรถนะสูงภายในประเทศ มีวัตถุประสงค์เพื่อรวบรวมพลังการคำนวณของระบบคอมพิวเตอร์ที่กระจายอยู่ตามมหาวิทยาลัยและองค์กรต่างๆ ทั่วประเทศ มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่องานวิจัย ปัจจุบันไทยกริด เชื่อมโยงคลัสเตอร์จากสี่สถาบัน ได้แก่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
ปัจจุบัน โครงการไทยกริดสามารถให้บริการในหลายๆ แขนง เช่น แอพพลิเคชันซอฟต์แวร์ทั่วๆไป, แอพลลิเคชันคำนวณผลประสิทธิภาพสูง, แอพลลิเคชันที่ทำงานแบบคู่ขนาน และระบบสารสนเทศในการจัดเก็บข้อมูล ซึ่งในอนาคตโครงการไทยกริดจะเปิดให้บริการการประมวลผลแบบทำงานร่วมกัน และการใช้ระบบจากระยะไกล เป็นเฟสต่อไป
ทั้งนี้ ลักษณะของกริดคอมพิวติ้ง ทำงานบนระบบเปิด และรองรับระบบสถาปัตยกรรมคอมพิวเตอร์ที่หลากหลายได้ และแอพพลิเคชันสามารถรันบนแพลตฟอร์มต่างๆ โดยมีกริดมิดเดิ้ลแวร์ เป็นระบบที่เชื่อมโยงทรัพยากรบนระบบกริดให้ระบบคู่ขนานทำงานกับแอพพลิเคชันที่ทำงานแบบขนาน
“ไอบีเอ็มเน้นความมุ่งมั่นและนวนโยบายในการสนับสนุนเทคโนโลยีระบบเปิด เพื่อให้ผู้ใช้ และผู้บริหารระบบเทคโนโลยีสารสนเทศได้รับประโยชน์จากความหลากหลายในการเลือกใช้งานแพลตฟอร์มต่างๆ และใช้ระบบให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด มีความยืดหยุ่นในการใช้งานระบบ และความปลอดภัยในการใช้งาน รวมทั้งประหยัดค่าใช้จ่ายในการลงทุนระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ” นางศุภจี สุธรรมพันธุ์กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด กล่าว
“ไอบีเอ็มให้ความร่วมมือกับชุมชนเปิดรายต่างๆ อย่างเต็มที่ และไอบีเอ็มยังเห็นความสำคัญของระบบปฏิบัติการลีนุกซ์ที่มีความสำคัญต่อต้นทุนการประกอบการของผู้บริโภค โดยไอบีเอ็มสนับสนุนการพัฒนาแอพพลิเคชันบนแพลตฟอร์ม Linux เป็นเวลากว่า 4 ปีแล้ว ด้วยการจัดตั้งศูนย์รวมระบบบนลินุกซ์ (Linux Integration Center) ศูนย์โอนถ่ายแอพพลิเคชันสู่ระบบลินุกซ์ (IBM CompetencyCenter) ศูนย์ทดสอบโซลูชันระบบเปิดสำหรับพาร์ตเนอร์ไอบีเอ็ม (Solution PartnershipCenter) การบริจาคซอร์ส โค้ดมูลค่า 40 ล้านเหรียญสหรัฐให้กับองค์กร Eclipse ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาซอฟต์แวร์ด้วยภาษาจาวา และสามารถรันได้ทั้งแพลตฟอร์มลินุกซ์และวินโดวส์ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อนักพัฒนาทั่วโลก ในปี 2001 ไอบีเอ็มได้ลงทุนเพื่อสนับสนุนชุมชนเปิดกว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ เป็นต้น”
ไอบีเอ็มเป็นผู้สนับสนุนหลักในโครงการโกลบัส (Globus Project) เป็นโครงการพัฒนาสถาปัตยกรรมบริการกริดบนระบบเปิด (Open Grid Services Architecture (OGSA)) ซึ่งเป็นชุดมาตรฐานและสเปกในการอินทิเกรตบริการเว็บเข้ากับกริดคอมพิวติ้ง นอกจากนี้แล้ว ไอบีเอ็มเป็นผู้สนับสนุนคณะทำงานด้านกริดในระดับโลก (Global Grid Forum) โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนามาตรฐานอุตสาหกรรมสำหรับกริดคอมพิวติ้ง
“ทั้งหมดนี้เป็นตัวอย่างความพยายามที่แข็งขัน ซึ่งเป็นกลยุทธ์ของไอบีเอ็มที่อุทิศให้แก่การสร้างสรรค์ระบบคอมพิวเตอร์แบบเปิด และไอบีเอ็มยังมุ่งหน้าส่งเสริมนโยบายภาครัฐ ที่จะอำนวยประโยชน์และดำเนินการเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ลูกค้าทั้งภาครัฐบาล องค์กร และ ประชาชน” นางศุภจีกล่าวข้อมูลเกี่ยวกับคณะทำงานโอเพ่นซอร์ส
คณะทำงานโอเพ่นซอร์สเป็นหน่วยงานภายใต้กระทรวงเทคโนโลยีและสารสนเทศ มีหน้าที่ในการสร้างยุทธศาสตร์เพื่อผลักดันให้เกิดการใช้งานโอเพ่นซอร์สในประเทศ ตามนโยบายเทคโนโลยีสารสนเทศที่มุ่งเน้นให้เกิดการใช้ซอฟต์แวร์ไทยและโอเพ่นซอร์สไม่น้อยกว่า 50 % โดยคณะทำงานประกอบด้วย ตัวแทนสถาบันการศึกษา ตัวแทนสมาพันธ์โอเพ่นซอร์ส ตัวแทนผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ไทย ตัวแทนสภาอุตสาหกรรม ผู้เชี่ยวชาญอิสระ และ ตัวแทนกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารข้อมูลเกี่ยวกับไทยกริด
โครงการไทยกริด เกิดขึ้นจากความร่วมมือของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ในการสร้างเครือข่ายคอมพิวเตอร์และแชร์การใช้งานทรัพยากรของระบบร่วมกันบนระบบอินเทลเบส เพื่อใช้ในงานวิจัย ปัจจุบันความร่วมมือได้ขยายมาสู่สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย และมหาวิทยาลัยท้าวสุรนารีข้อมูลเกี่ยวกับ ไอบีเอ็ม
ไอบีเอ็มเป็นบริษัทเทคโนโลยีสารสนเทศที่ใหญ่ที่สุดในโลก ที่มีประวัติอันยาวนานในการช่วยให้ธุรกิจ ประสบความสำเร็จจากเทคโนโลยีใหม่ๆ ไอบีเอ็มได้สร้างสรรค์ พัฒนา และผลิตผลิตภัณฑ์ระบบคอมพิวเตอร์ ซอฟต์แวร์ ระบบเครือข่าย อุปกรณ์สตอเรจ ที่ล้ำหน้าที่สุดในอุตสาหกรรมไอที ไอบีเอ็มโกลบอล เซอร์วิสเซส เป็นหน่วยงานด้านการให้บริการของไอบีเอ็ม เป็นผู้ให้บริการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศที่ใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยบุคลากรมืออาชีพกว่า 150,000 คน จาก 160 ประเทศ มีรายได้ประมาณ 35,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปี (รายได้ปี พ.ศ. 2544)
สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถดูได้จาก www.ibm.com
บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัดคุณชูจิตต์ วัฒนล้ำเลิศ
โทรศัพท์: 0-2273-4306 อีเมล์:
[email protected]
คุณกฤษณา ศิลประเสริฐ โทรศัพท์: 0-2273-4639 อีเมล์:
[email protected]จบ--
-พห-