กรุงเทพฯ--26 ก.ย.--กรมส่งเสริมการส่งออก
1. ภาพรวมธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนไทย
ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนในประเทศไทยมีผู้ประกอบการ 400 ราย โดยโรงพยาบาลเอกชนที่มีความพร้อมในการให้บริการชาวต่างประเทศมี 33 ราย
ปัจจุบันประเทศไทย เป็นศูนย์กลางบริการทางการแพทย์ที่มีชื่อเสียง และก้าวหน้าสู่มาตรฐานสากลจนเป็นที่นิยมในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก จากสถิติชาวต่างประเทศที่เข้ามารับบริการทางการแพทย์ในประเทศไทย มีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นทุกปี
จำนวนผู้ป่วยชาวต่างประเทศที่เข้ามารับบริการทางการแพทย์ในประเทศไทย โดยในปี 2545 มีจำนวน 630,000 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2544 ร้อยละ 13 สามารถจำแนกดังนี้
1.1 ชาวต่างชาติที่เข้ามารับบริการทางการแพทย์ในประเทศไทย จำแนกตามกลุ่มดังนี้
1) กลุ่มชาวต่างประเทศ (ญี่ปุ่น จีน ไต้หวัน สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร เยอรมันนี ฝรั่งเศส และออสเตรเลีย) ที่อยู่/ทำงานในประเทศใกล้เคียงและอยู่/ทำงานในประเทศไทย (Expatriate) มีประมาณร้อยละ 60 หรือประมาณ 380,000 คน ประกอบด้วย
- อินโดจีน/อาเซียน (กัมพูชา พม่า เวียดนาม ลาว ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย)
- เอเชียใต้ (บังคลาเทศ ศรีลังกา อินเดีย และปากีสถาน)
- จีน
2) กลุ่มชาวต่างประเทศจากประเทศใกล้เคียงที่บินเข้ามารักษาพยาบาลในไทยประมาณร้อยละ 30 หรือประมาณ 189,000 คน ประกอบด้วย
- อินโดจีน (กัมพูชา พม่า เวียดนาม และลาว)
- เอเชียใต้ (บังคลาเทศ ศรีลังกา อินเดีย ปากีสถาน มัลดีฟส์ เนปาล และภูฎาน)
- ตะวันออกกลาง (อิสราเอล สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ คูเวต ซาอุดิอาระเบีย และโอมาน)
3) กลุ่มนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศมีประมาณร้อยละ 10 ของคนไข้ชาวต่างประเทศ หรือประมาณ 63,000 คน
1.2 แบ่งตามสัญชาติของผู้ป่วยชาวต่างประเทศที่เข้ามารับบริการทางการแพทย์ในประเทศไทย
ลำดับ สัญชาติ จำนวนผู้ป่วยชาวต่างประเทศ (คน) คิดเป็นสัดส่วน
ปี 2545 ร้อยละ (%)
1 ญี่ปุ่น 131,584 20.89
2 สหรัฐอเมริกา 59,402 9.43
3 อังกฤษ 41,599 6.60
4 ไต้หวัน/จีน 27,438 4.36
5 บังคลาเทศ 23,803 3.78
6 อินเดีย 23,752 3.77
7 เยอรมนี 18,923 3.00
8 ตะวันออกกลาง 18,560 2.95
(U.A.F.,โอมาน,
คูเวต,อิสราเอล)
9 ฝรั่งเศส 17,679 2.81
10 ออสเตรเลีย 16,479 2.62
11 เกาหลีใต้ 14,877 2.36
12 อื่นๆ 235,904 37.45
รวม 630,000 100
2. สาเหตุที่ชาวต่างประเทศนิยมเดินทางเข้ารับบริการทางการแพทย์ในประเทศไทย
2.1 ศักยภาพของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนไทย ได้แก่
- เทคโนโลยีชั้นสูงและวิทยาการทางการแพทย์ในประเทศไทยก้าวหน้าไปถึงขั้นการรักษาด้วยวิธี Telemedicine ผ่านสัญญาณดาวเทียมร่วมกับสถาบันที่มีชื่อเสียงระดับโลกทั้งในสหรัฐอเมริกาและยุโรป
- บุคลากรทางการแพทย์ของไทยมีประสบการณ์และสามารถใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย
2.2 มีการให้บริการที่ดีเลิศ
- มีประสิทธิภาพในการรักษาที่ดีเยี่ยม
- มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางที่มีชื่อเสียง อาทิ โรคหัวใจ โรคไต โรคสมอง และศัลยกรรมตกแต่ง
2.3 มีจรรยาบรรณทางการแพทย์
2.4 โรงพยาบาลของไทยได้รับการรับรองมาตรฐานโรงพยาบาลสากลแห่งแรกในเอเชีย จากสถาบันรับรองคุณภาพโรงพยาบาลสากลซึ่งตั้งอยู่ในสหรัฐอเมริกา (Joint Commission on International Accreditaion หรือ JCIA)
3. เป้าหมายและมาตรการส่งเสริมธุรกิจโรงพยาบาลในระยะ 3 ปี (2546-2548)
ในปัจจุบันธุรกิจบริการสุขภาพของไทยเป็นที่ยอมรับในต่างประเทศมากขึ้นจากอัตราการเติบโตที่ค่อนข้างดีเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศคู่แข่ง เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย และออสเตรเลีย ทั้งนี้กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมส่งเสริมการส่งออกได้มีการหารือร่วมกับภาคเอกชน และได้กำหนดเป้าหมายและมาตรการส่งเสริมธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนไทย รวมทั้งสรุปปัญหา/แนวทางแก้ไข ดังนี้
วิสัยทัศน์
ผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางบริการสุขภาพและการรักษาพยาบาลของโลก
เป้าหมาย
ในปี พ.ศ.2548 ได้ตั้งเป้าหมายให้มีชาวต่างประเทศเข้ามาใช้บริการสุขภาพในประเทศไทย จำนวน 1,000,000 คน อัตราการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 15
ประมาณการรายได้ 27,000 ล้านบาท เป็นรายได้จากธุรกิจบริการสุขภาพ ประมาณ 23,000 ล้านบาท และจากค่าใช้จ่าย อื่นๆ ประมาณ 4,000 ล้านบาท
ตลาดเป้าหมายที่มีศักยภาพ/และกลยุทธ์การเจาะตลาด
ตลาดเป้าหมายได้แก่
- ตะวันออกกลาง
- เอเชียใต้
- สหภาพยุโรป
- ประเทศเพื่อนบ้าน อินโดจีน/อาเชียน
- เอเชียตะวันออก
4. ตลาดที่มีศักยภาพทางด้านบริการรักษาพยาบาล ได้แก่
ตะวันออกกลาง
1) เป็นตลาดที่มีศักยภาพสูงเนื่องจากเหตุการณ์ก่อวินาศกรรมในสหรัฐอเมริกาและปัญหาสงครามในตะวันออกกลาง จึงทำให้ผู้ป่วยชาวตะวันออกกลางเดินทางไปรักษาพยาบาลในประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย แทนการไปยุโรปและอเมริกา ส่วนในประเทศไทยนั้นมีอัตราการเข้ามารักษาพยาบาลเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 200
2) คณะตำรวจระดับสูงจากดูไบเยี่ยมชมโรงพยาบาลเอกชนและโรงพยาบาลตำรวจ (มกราคม 2546) และมีการลงนามในบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือ (MOU) ระหว่างกรมตำรวจดูไบและโรงพยาบาลเอกชนของไทยในการส่งผู้ป่วยตำรวจดูไบพร้อมครอบครัวประมาณ 20,000-35,000 คน มารักษาพยาบาลในไทย (มีนาคม 2546)
3) โรงพยาบาลเอกชนร่วมเดินทางไปกับคณะผู้รับเหมางานก่อสร้างเยือนกาตาร์ (มีนาคม 2546) เพื่อประมูลงานหมู่บ้านนักกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ 2549 และจัดทีมแพทย์พยาบาลไปรับงานด้านการพยาบาลนักกีฬาและสื่อมวลชนในมหกรรมกีฬาดังกล่าว โรงพยาบาลเอกชนไทย ซึ่งเป็นผู้เข้าร่วมโครงการรายหนึ่ง ได้รับผลสำเร็จเป็นอย่างดีสำหรับการขยายธุรกิจบริการด้านโรงพยาบาลไปยังประเทศกาตาร์ โดยมีการเจรจาและให้ความร่วมมือระหว่างกัน ดังนี้
- การเสนอให้บริการรักษาพยาบาลในลักษณะ Package สำหรับโรงพยาบาลของรัฐกาตาร์ โดยมีการฝึกอบรมและแลกเปลี่ยนบุคลากรทางการแพทย์และพยาบาล
- การเสนอให้บริการรักษาพยาบาลรวมทั้งการส่งพนักงานนวดและหน่วยอายุรเวชมาประจำในงานเอเชี่ยนเกมส์ที่กาตาร์ โดยฝ่ายกาตาร์เห็นด้วยในหลักการและขอให้ฝ่ายไทยจัดทำรายละเอียดเพื่อเสนอให้พิจารณาต่อไป
4) ทีมก่อสร้างของไทย (FEDCON) ชนะการประมูลสร้าง Hamad Medical City ในกาตาร์ ซึ่งเป็นหมู่บ้านนักกีฬาในศูนย์กีฬาเอเชี่ยนเกมส์ หลังจากปี 2006 จะปรับเปลี่ยนเป็นโรงพยาบาล (คล้ายกับโรงพยาบาลธรรมศาสตร์) โดยมีโรงพยาบาล 6 หลัง ที่เหลือเป็นหอพักพยาบาล/แพทย์ และอีก 1 หลัง เป็นกระทรวงสาธารณสุข (ธันวาคม 2545)
เอเชียตะวันออก
อาทิ ญี่ปุ่น ไต้หวันและจีน เป็นตลาดที่มีจำนวนผู้ป่วยเข้ามารับการรักษาพยาบาลมาก โดยเฉพาะญี่ปุ่นมีมากที่สุดนับเป็นอันดับหนึ่ง โดยในปี 2545 มีจำนวนกว่า 130,000 ราย ส่วนไต้หวัน/จีน มีจำนวน 51,241 ราย นับเป็นตลาดที่มีโอกาสค่อนข้างสูงเช่นกัน
เอเชียใต้
อาทิ บังคลาเทศ อินเดีย เนปาล ปากีสถาน มัลดีฟส์ ภูฏาน และศรีลังกา นิยมเข้ามารักษาพยาบาลในประเทศไทย ซึ่งภาคเอกชนมีความสนใจในการขยายตลาดในภูมิภาคนี้มาก เนื่องจากในแต่ละปีจะมีลูกค้าจากประเทศต่างๆ เหล่านี้มาใช้บริการของโรงพยาบาลเอกชนไทย ปีละไม่ต่ำกว่า 60,000 ราย
ยุโรปและอเมริกา
เป็นกลุ่มเป้าหมายที่มีศักยภาพสำหรับธุรกิจโรงพยาบาล เพราะจำนวนผู้ป่วยชาวต่างประเทศที่รักษาพยาบาลในไทย ซึ่งรวมทั้งกลุ่มที่ทำงาน/อยู่ในไทยและประเทศใกล้เคียง (EXPAT) มีจำนวนสูงลำดับต้นๆ อาทิ สหรัฐอเมริกา 59,400 คน (อันดับ 2 รองจากญี่ปุ่น) อังกฤษ 41,600 คนเยอรมนี 18,923 คน ฝรั่งเศส 17,679 คน
สำหรับ Medicare ของสหรัฐอเมริกา และหน่วยงานประกันสังคมด้านสุขภาพของประเทศต่างๆ ของยุโรป ควรมีการเจรจาขอให้หน่วยประกันสังคมอนุญาตให้สามารถเบิกค่าใช้จ่ายในการรักษาสุขภาพในไทยได้ ซึ่งอาจจะใช้เวที FTA ในการเจรจา
5. กลยุทธ์การเจาะตลาดโดยมีกิจกรรมและแผนการส่งเสริมการส่งออก ดังนี้
- สร้างภาพลักษณ์ของการบริการของด้านสุขภาพของไทยให้เป็นที่รู้จักและยอมรับทั่วโลก โดยเฉพาะในตลาดเป้าหมายที่สำคัญ อาทิ การประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อโทรทัศน์ในต่างประเทศและวารสารต่างๆ ในตลาดเป้าหมาย เป็นต้น
- การเชิญผู้บริหารระดับสูงขององค์กรและหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจในการตัดสินใจเบิกค่าประกันสังคมเข้ามาเจรจากับภาคเอกชนในไทย
- การจัดคณะผู้บริหารระดับสูงเข้าไปเจรจาในกลุ่มตลาดเป้าหมาย เพื่อลดปัญหา อุปสรรค และข้อจำกัดทางด้านกฎระเบียบ
- จัดงานแสดงสินค้าสุขภาพและความงาม (Health & Beauty) เริ่มตั้งแต่ปี 2542-ปัจจุบัน (กันยายน) รวม 4 ครั้ง โดยในปีนี้ได้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 24-28 กันยายน 2546 โดยมีธุรกิจหลักและผลิตภัณฑ์ที่เข้าร่วมงาน ดังนี้
- ธุรกิจโรงพยาบาล
- ธุรกิจสปา
- สถานบริการนวดแผนไทยและสมุนไพรไทย
- ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์เสริมความงาม
- ผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทย
- ผลิตภัณฑ์อาหารเสริม
- สถานบริการ/ฟื้นฟูเพื่อสุขภาพ
- สถานบริการความงาม
- เข้าร่วมงานแสดงสินค้า Thailand Exhibition (Solo Show) ในกลุ่มตลาดเป้าหมาย อาทิ เอเชียใต้ ตะวันออกกลาง อินโดจีน และจีน เป็นต้น
- สำรวจศักยภาพของตลาด และ Product ที่เหมาะกับตลาดนั้นๆ อาทิ การเสนอบริการรักษาพยาบาลในลักษณะ Package, การฝึกอบรมและการแลกเปลี่ยนบุคคลากรทางการแพทย์, รับจ้างเป็นที่ปรึกษาบริหารและจัดการบริการโรงพยาบาลในประเทศที่กำลังพัฒนาและประเทศที่ด้อยพัฒนา
- จัดโครงการความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนบุคคลากรทางการแพทย์ ระหว่างประเทศไทยกับประเทศต่างๆ รวมทั้ง Networking ระหว่างโรงพยาบาลของไทยและต่างประเทศ
- จัดตั้งผู้แทนการขายหรือเอเย่นต์ในตลาดเป้าหมาย
6. กิจกรรมส่งเสริมสุขภาพและความงามสำหรับงบประมาณปี 2546
1. จัดกิจกรรมส่งเสริมธุรกิจโรงพยาบาลไทยในงานแสดงสินค้าสุขภาพและความงาม Thailand Health & Beauty Show 2003 (24-28 กันยายน)
2. การจัดกิจกรรมพิเศษ Highlight "Medical Services" ในงาน Thailand Exhibition 2003 ณ เมืองซาร์จาห์ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อาทิการจัด Press Conference การลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น การจัดแสดงภาพลักษณ์และศักยภาพของธุรกิจโรงพยาบาล (วิดีโอ และ CD Presentation ชุดนิทรรศการเคลื่อนที่ ฯลฯ) จัดกิจกรรมให้คำปรึกษา (Consultation) โดยผู้เชี่ยวชาญจากโรงพยาบาลเอกชน 5 แห่งที่เข้าร่วมโครงการ
3. ประชาสัมพันธ์ธุรกิจสุขภาพและความงามในสื่อต่างๆ ของทั้งในและต่างประเทศ
4. เข้าร่วมงานแสดงสินค้า Thailand Exhibition (Solo Show) ในกลุ่มตลาดเป้าหมาย อาทิ เอเชียใต้ ตะวันออกกลาง อินโดจีน และจีน เป็นต้น
7. ปัญหาและอุปสรรคของธุรกิจโรงพยาบาล
7.1 โรงพยาบาลไม่สามารถลงโฆษณาตัวเองได้ตาม พรบ.สถานพยาบาลซึ่งตามกฎหมายห้ามไม่ให้โรงพยาบาลประชาสัมพันธ์สร้างภาพลักษณ์ตนเอง เช่น โรงพยาบาลเอกชนที่ได้รับรองมาตรฐานโรงพยาบาลสากลจากสถาบันรับรองคุณภาพโรงพยาบาลสากล ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในสหรัฐอเมริกา (JCIA) นั้นไม่สามารถชูจุดขายเพื่อประชาสัมพันธ์ว่าได้รับการรับรองมาตรฐาน แม้ว่าจะเป็นข้อเท็จจริงก็ตาม
แนวทางแก้ไข
กระทรวงสาธารณสุขควรกำหนดแนวทางในการพิจารณาเรื่องการอนุญาตให้สถานพยาบาลเอกชนสามารถโฆษณาประชาสัมพันธ์ได้ตามกฎเกณฑ์และแนวทางที่กระทรวงฯ กำหนดขึ้นโดยมีการดูแลควบคุมให้เหมาะสม
7.2 การอนุญาตให้แพทย์ชาวต่างประเทศเข้ามาพร้อมคนไข้เพื่อแนะนำให้คำปรึกษาร่วมกับแพทย์ในโรงพยาบาลเอกชนของไทยเพราะแพทย์ไทยไม่สามารถที่จะเข้าใจภาษาท้องถิ่นของประเทศต่างๆ ได้ จึงมีความจำเป็นที่จะให้แพทย์ที่คุ้นเคยกับคนไข้หรือเป็นแพทย์ที่สื่อภาษากับคนไข้ได้ (เช่นภาษาพม่า, เวียดนาม, สแกนดิเนเวีย ฯลฯ)
แนวทางแก้ไข
อำนวยความสะดวกในการออกหนังสือเดินทาง รวมทั้งการออกวีซ่า On-arrival ให้กับแพทย์ชาวต่างประเทศ
7.3 ธุรกิจบริการโรงพยาบาลเอกชนของไทยเพิ่งได้รับการส่งเสริมไม่นานและยังไม่เป็นที่รู้จัก ในขณะที่ประเทศอื่นๆ เช่น สิงคโปร์ มีการส่งเสริมมานานแล้วทำให้เป็นที่รู้จักแพร่หลาย
แนวทางแก้ไข
สนับสนุนให้มีการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ในต่างประเทศ รวมทั้งในการประชุมและสัมมนาทางการแพทย์ ในระดับนานาชาติให้มากขึ้น โดยจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์หลายภาษา อาทิ อังกฤษ ญี่ปุ่น เยอรมนี จีน อารบิก เป็นต้น
7.4 ปัญหาการเบิกค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยในระบบประกันสังคม ผู้ป่วยต้องเข้ารับการรักษาในประเทศของตนหากใช้บริการของโรงพยาบาลในต่างประเทศ จะไม่สามารถเบิกค่าใช้จ่ายได้
แนวทางแก้ไข
รัฐบาลควรเจรจากับรัฐบาลในประเทศเป้าหมาย โดยขอความร่วมมือให้สิทธิกับผู้ที่ทำงานและอยู่ในต่างประเทศ (Expatriate) สามารถเปิดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลในประเทศไทยในส่วนที่เป็น Government Insurance รวมทั้งเอกชน
7.5 ขาดข้อมูลการประกันสุขภาพของแต่ละประเทศ รวมทั้งกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจสุขภาพเฉพาะเป็นธุรกิจใหม่และข้อมูลมีน้อย
8. ตลาดที่มีอุปสรรคทางการค้า/แนวทางแก้ไขและข้อเสนอแนะภาคเอกชน
- จีน เป็นตลาดที่มีศักยภาพ โดยเฉพาะกลุ่ม EXPAT ที่อยู่ในจีนต่างก็ต้องการมารักษาพยาบาลในไทย เพราะโรงพยาบาลเอกชนของไทยมีมาตรฐานและบริการที่ดี
อุปสรรค
- การเดินทางออกนอกประเทศจีนเข้มงวดและยุ่งยาก
- การขนย้ายผู้ป่วยทางอากาศ (Medevac) นั้น อัตราค่าธรรมเนียมลงจอดของเครื่องบินน้อยกว่า 7 ตัน ในอัตราสากลทั่วโลกจะอยู่ที่ 800-1,200 เหรียญสหรัฐต่อครั้ง (เครื่องบินแตะพื้น) แต่จีนเก็บสูงถึง 3,000-4,000 เหรียญสหรัฐต่อครั้ง
แนวทางแก้ไขและข้อเสนอแนะ
- ขอให้ฝ่ายจีนอำนวยความสะดวกในการออกหนังสือเดินทาง สำหรับผู้ป่วยชาวจีนมารักษาพยาบาลในประเทศไทย รวมทั้งการออกวีซ่า on-arrival
- ให้มีการเจรจาใน WTO และ PTA โดยใช้กติกาสากลในการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการลงจอดของเครื่องบิน
- บังคลาเทศ เป็นตลาดเป้าหมายที่มีศักยภาพมีผู้ผู้ป่วยมาใช้บริการถึงปีละ 23,800 คน
อุปสรรค
- ปัญหาล่าช้าในการขอวีซ่าเข้าประเทศไทย โดยเฉพาะผู้ป่วยอาการหนัก (ไอซียู) ซึ่งมีผู้ติดตามถึง 3-4 รายต่อคนไข้ 1 คน ใช้เวลาขอวีซ่ามากกว่า 3 วัน ในขณะที่ประเทศคู่แข่ง อาทิ สิงคโปร์และมาเลเซียใช้เวลาเพียงแค่ 3-4 ชั่วโมง
แนวทางการแก้ไขและข้อเสนอแนะ
-เพิ่มความรวดเร็วในการออกวีซ่าและอำนวยความสะดวกแก่ชาวต่างประเทศ ที่เข้ามารับบริการทางการแพทย์ของไทย--จบ--
-กภ/รก-