กรุงเทพฯ--15 ส.ค.--ไอบีเอ็ม ประเทศไทย
3 ยักษ์ใหญ่ “ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ไอบีเอ็ม และ ยูคอม ”
ช่วยกันผลักดัน อี-เลิร์นนิ่ง ยกระดับการศึกษาไทย
ประเดิมหลักสูตรแรก English For Living (EFL) เรียนภาษาอังกฤษแบบผสมผสาน พัฒนาทักษะ
การใช้ภาษาอังกฤษให้กับคนไทย
วันที่ 15 สิงหาคม 2546 ณ ห้องผาสุก 1-2 โรงแรม เจ ดับบลิว แมริออท ถนนสุขุมวิทวิทยาลัยนวัตกรรมอุดมศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด และ บริษัท ยูไนเต็ดคอมมูนิเกชั่น อินดัสตรี จำกัด (มหาชน) จับมือสร้างระบบการเรียนรู้ออนไลน์หรือ อี-เลิร์นนิ่ง ด้วยการนำเสนอหลักสูตรสอนภาษาอังกฤษ “English For Living (EFL)” ให้แก่นักศึกษาและบุคคลผู้สนใจทั่วไปได้มีโอกาสศึกษาภาษาอังกฤษเพื่อใช้ในชีวิตประจำวันและอาชีพ โดยที่ผู้เรียนสามารถศึกษาหลักสูตร EFL ผ่านเครือข่ายการสื่อสารได้โดยไม่ถูกข้อจำกัดเรื่องเวลาและสถานที่ถือเป็นการศึกษาตามอัธยาศัยที่เอื้อให้ผู้เรียนแต่ละคนสามารถพัฒนาได้ตามความพร้อมของตนเอง
การศึกษาในหลักสูตรนี้จะใช้วิธีแบบผสมผสาน คือ ประกอบด้วยการศึกษาผ่านระบบ อี-เลิร์นนิ่งและการศึกษาในห้องเรียน ตัวหลักสูตรได้ถูกออกแบบมาเพื่อให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษได้ในทุกๆ ด้าน อาทิเช่น การอ่าน ไวยากรณ์ คำศัพท์ การฟัง การเขียน บทสนทนา และคำแสลง โดยหลักสูตรประกอบด้วย 6 โมดูล ซึ่งมีระดับความยากง่ายแตกต่างกัน เป็นหลักสูตรที่พัฒนาโดย Learned Solution และได้รับการยอมรับจากมหาวิทยาลัยชั้นนำในประเทศออสเตรเลีย
ดร.ประพนธ์ ผาสุขยืด ผู้อำนวยการวิทยาลัยนวัตกรรมอุดมศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กล่าวว่า “วิทยาลัยตระหนักดีถึงบทบาทหน้าที่ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของสถาบันการศึกษาที่มีความเป็นเลิศทางด้านวิชาการอีกทั้งยังมีเป้าหมายสำคัญในการเป็นผู้นำด้านการปฏิรูปการเรียนรู้ จึงได้มุ่งพัฒนารูปแบบการศึกษาที่จะสามารถเอื้อประโยชน์ให้กับผู้เรียนให้มากที่สุด คือจะต้องเป็นการศึกษาที่ผู้เรียนไม่ถูกจำกัดหรือถูกบังคับในเรื่องเวลาและสถานที่ เป็นการศึกษาบนพื้นฐานที่ว่าผู้เรียนแต่ละคนมีความพร้อมแตกต่างกัน ผู้ที่เรียนได้เร็วไม่สมควรที่จะต้องถูกดึงให้ช้า และผู้ที่เรียนได้ช้าก็ไม่น่าจะต้องถูกลากให้ไปเร็วเกินไป เรียกได้ว่า เป็นการเรียนรู้ตามกำลังความสามารถของแต่ละคน ทั้งนี้ ภายใต้การดูแล เอาใจใส่ของอาจารย์ผู้ให้คำแนะนำ (Mentor) ที่ทางวิทยาลัยจัดเตรียมไว้ให้”
วิทยาลัยเลือกที่จะใช้ระบบผสมผสานการเรียนแบบ อี-เลิร์นนิ่ง และการเรียนแบบเห็นหน้า (face to face) เพราะเห็นว่าทั้ง 2 วิธีนี้ มีข้อดีที่แตกต่างกัน การที่นำเสนอหลักสูตรพัฒนาภาษาอังกฤษ ที่มีชื่อว่า English For Living เป็นอันดับแรกนั้น เพราะได้เห็นความสำคัญของการพัฒนาทักษะความรู้ ความสามารถด้านภาษาอังกฤษของคนไทยที่จะต้องเร่งให้ทันนานาประเทศ อีกทั้งยังเห็นว่าภาษาอังกฤษเป็นสื่อที่สำคัญ ในการเรียนรู้และประกอบอาชีพในสังคมปัจจุบันภายใต้กระแสโลกาภิวัฒน์นี้
นางศุภจี สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า “ไอบีเอ็มมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสร่วมมือกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยที่เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ ในการเพิ่มโอกาสทางการศึกษาให้แก่ประชนชาวไทยโดยใช้เทคโนโลยีอี-เลิร์นนิ่ง ของไอบีเอ็ม เพื่อขยายโอกาสทางการศึกษาให้กับประชาชนทั่วไป เพื่อให้เกิดการพัฒนาทรัพยากรบุคคลให้ยั่งยืนและต่อเนื่อง อี-เลิร์นนิ่ง จะช่วยให้ผู้เรียนสามารถศึกษาได้ด้วยตัวเอง และเลือกศึกษาในเวลาที่สะดวกได้ตลอดเวลา”
สำหรับความร่วมมือระหว่างไอบีเอ็มและยูคอมนั้น ไอบีเอ็ม บิสิเนส คอนซัลติ้ง เซอร์วิส ได้เป็นผู้แนะนำและให้คำปรึกษาในการจัดทำระบบ อี-เลิร์นนิ่งให้กับยูคอม โดยติดตั้ง Lotus LearningManagement System 1.1 (LMS), DB2 และเครื่องเซิร์ฟเวอร์ IBM eServer pSeries 630
นายทองสุข นำพันธุ์วิวัฒน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัท ยูไนเต็ดคอมมูนิเกชั่น อินดัสตรี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ ยูคอมได้จัดทำโครงการ อี-เลิร์นนิ่ง ขึ้น ภายใต้ชื่อว่า LearnII gether ด้วยที่ยูคอมเป็นผู้ให้บริการเครือข่ายสื่อสารข้อมูลความเร็วสูง ผ่านโครงข่ายใยแก้วนำแสงทั่วประเทศ จึงมีศักยภาพและความพร้อมที่จะเป็นผู้ให้บริการทางด้านการศึกษา โดยการใช้เทคโนโลยีที่เรามีอยู่นี้ นำมาพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนแบบออนไลน์ โดยได้ร่วมกับทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในการพัฒนาหลักสูตรประกาศนียบัตรทางด้านการบริหารจัดการ และในอนาคตจะพัฒนาต่อไปเป็นหลักสูตรปริญญาโท โดยเน้นการเรียนแบบผสมผสานระหว่าง อี-เลิร์นนิ่ง และชั้นเรียน จึงช่วยเพิ่มโอกาสทางการศึกษา ผู้เรียนสามารถเรียนจากที่ใด เวลาใดก็ได้ ทบทวนได้ตามความต้องการ ไม่เสียเวลาในการเดินทาง ในขณะเดียวกันยังได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์กับเพื่อนร่วมชั้น และอาจารย์ จึงเหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม หรือคนรุ่นใหม่ที่ต้องการความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน หรือผู้ประกอบกิจการที่อยากจะก้าวให้ทันโลกของไอที โดยที่เราได้เลือกใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย Lotus Learning Management Systems ของไอบีเอ็มมาใช้ในการพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนในภาคภาษาไทยด้วย เราสามารถให้บริการได้หลายภาษาครับ“
“และเรายังมีคอร์ส EFL : English for Living ซึ่งเป็นคอร์สภาษาอังกฤษเพิ่มอีก 1 คอร์สที่นำเข้ามาโดย ไอบีเอ็ม ซึ่งไม่เป็นที่ยุ่งยากอะไรในการดูแลและบริหารระบบ เพราะยูคอมมี platform ทางด้านนี้อยู่แล้ว และเราก็เป็น ASP ในการจัดทำ content และเทคนิคต่างๆ ทางด้านการศึกษา และในตอนนี้เราได้มีการพัฒนา website สำหรับให้ผู้ที่มีความสนใจเข้าไปค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.learn2gether.in.th ซึ่งเนื้อหาภายใน web นี้จะมีอยู่มากมาย อาทิ คอร์สที่กำลังเปิดสอนอยู่, การจัดงานประชุมสัมมนา, การฝึกอบรม, ฯลฯ คาดว่าจะเปิดให้มีการเรียนการสอนในเดือนพฤศจิกายน 2546 เป็นต้นไป ”
“ยูคอมมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสร่วมมือกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และไอบีเอ็ม ในการเพิ่มโอกาสทางการศึกษาให้แก่ประชาชนชาวไทย โดยใช้เครือข่ายการสื่อสารความเร็วสูงที่มีประสิทธิภาพ ครอบคลุมทั่วประเทศซึ่งเป็นจุดแข็งของยูคอม อันเป็นแนวทางที่สอดคล้องกับปรัชญาในการดำเนินงานของยูคอมที่มุ่งมั่นสร้างสรรค์เชื่อมโยงสังคมไทย เพื่อสนับสนุนการพัฒนาประเทศในทุกด้าน ” นายทองสุขกล่าวตบท้าย
นับเป็นความน่ายินดีเป็นอย่างยิ่งที่สามยักษ์ใหญ่ได้ร่วมกันผลักดัน ส่งเสริมการเรียนรู้ และขยายโอกาสทางการศึกษาให้แก่ประชาชนชาวไทย โดยการนำทรัพยากรทางปัญญาและเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ ทำให้เกิด นวัตกรรมทางด้านการศึกษา ซึ่งถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการพัฒนาศักยภาพของคนไทยให้สามารถแข่งขันและก้าวทันเวทีโลก
ข้อมูลเกี่ยวกับ วิทยาลัยนวัตกรรมอุดมศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
วิทยาลัยนวัตกรรมอุดมศึกษา เป็นหน่วยงานในกำกับของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ตั้งขึ้นเพื่อให้การศึกษา ฝึกอบรม ค้นคว้า วิจัย และให้บริการสังคม เพื่อประโยชน์แก่การพัฒนาและส่งเสริมวิชาการชั้นสูงทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศาสตร์ประยุกต์ต่างๆ ปัจจุบันเปิดดำเนินการอยู่ 2 แห่ง คือ ที่กรุงเทพฯ ตั้งอยู่ ชั้น 7 อาคารอเนกประสงค์ 1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) และที่อุทยานการเรียนรู้ (Learning Resort) พัทยา จังหวัดชลบุรี ซึ่งประกอบด้วย ศูนย์ฝึกอบรมสัมมนา โรงแรม และห้องจัดเลี้ยงที่เปิดให้บริการแก่หน่วยงานและประชาชนทั่วไป
วิทยาลัยนวัตกรรมอุดมศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถือกำเนิดขึ้นมาจากวิสัยทัศน์อันยาวไกลของผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ต้องการจะริเริ่ม "สิ่งใหม่" ให้กับวงการศึกษาของไทย โดยในปัจจุบัน วิทยาลัยฯ ได้เปิดการเรียนการสอนในระดับปริญญาโทอยู่ 2 หลักสูตร คือ หลักสูตร วิทยาศาสตรมหาบัณฑิตสาขาการบริหารเทคโนโลยี และ หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการบริหารงานวัฒนธรรม รายละเอียดเพิ่มเติม สามารถดูได้จาก www.cie.tu.ac.th
ข้อมูลเกี่ยวกับ ไอบีเอ็ม
ไอบีเอ็มเป็นบริษัทเทคโนโลยีสารสนเทศที่ใหญ่ที่สุดในโลก ที่มีประวัติอันยาวนานในการช่วยให้ธุรกิจ ประสบความสำเร็จจากเทคโนโลยีใหม่ๆ ไอบีเอ็มได้สร้างสรรค์ พัฒนา และผลิตผลิตภัณฑ์ระบบคอมพิวเตอร์ ซอฟท์แวร์ ระบบเครือข่าย อุปกรณ์สตอเรจ ที่ล้ำหน้าที่สุดในอุตสาหกรรมไอที ไอบีเอ็ม โกลบอล เซอร์วิสเซส ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านการให้บริการของไอบีเอ็ม เป็นผู้ให้บริการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศที่ใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยบุคลากรมืออาชีพกว่า 150,000 คน จาก 160 ประเทศ มีรายได้ประมาณ 35,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปี (รายได้ปี พ.ศ. 2544) สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถดูได้จาก www.ibm.com
ข้อมูลเกี่ยวกับยูคอม
บริษัท ยูไนเต็ดคอมมูนิเกชั่น อินดัสตรี จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2523 โดยเป็นบริษัทชั้นนำที่ดำเนินธุรกิจด้านโทรคมนาคม บริการสื่อสารออนไลน์ ตลอดจนการพัฒนาและให้บริการด้านวิศวกรรมแก่องค์กรทั่วไป ยูคอม มีบริษัทในเครือ ได้แก่ บริษัท ยูไนเต็ด เทเลคอม เซลส์ แอนด์ เซอร์วิสเซส จำกัด (UTEL) ผู้ให้บริการในการออกแบบและจัดจำหน่ายอุปกรณ์ของระบบสื่อสารโทรคมนาคมแบบครบวงจร บริษัท ยูไนเต็ด อินฟอร์เมชั่นไฮเวย์ จำกัด (UIH) ผู้ให้บริการสื่อสารข้อมูลความเร็วสูง บริษัท ยูไนเต็ด ดิสทริบิวชั่น บิซซิเนส จำกัด (UD) บริหารการขายและการจัดจำหน่ายโทรศัพท์มือถือ และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) (TAC) ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่อันดับสองประเทศภายใต้เครือข่าย “ดีแทค”
รายละเอียดเพิ่มเติม สามารถดูได้จาก www.ucom.co.th--จบ--
-รก-
นายนพศักดิ์ ตรีพรชัยศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร แว่นท็อปเจริญ บริษัท ร่วมเจริญพัฒนา จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ ศ.ดร.ศุภสวัสดิ์ ชัชวาลย์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พร้อมด้วย รศ.ดร.สมชาย สุภัทรกุล คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ลงนามความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) ผนึกกำลังสร้างโอกาสให้บัณฑิต ผลักดันการศึกษาด้านธุรกิจ เพื่อมุ่งเน้นพัฒนาศักยภาพด้านการศึกษาสู่ความพร้อมในโลกธุรกิจจริง โดยยินดีให้การต้อนรับนักศึกษาฝึกงาน เรียนรู้และเก็บเกี่ยวประสบการณ์จากการปฏิบัติงาน