กรุงเทพฯ--7 พ.ค.--กทม.
นายพงษ์พิสุทธิ์ จินตโสภณ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตบางคอแหลม ในฐานะประธานคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างข้อบัญญัติกทม. เรื่อง การจัดเก็บค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสีย พ.ศ…. ก่อนรับหลักการ เปิดเผยว่า ในการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่ 2 (ครั้งที่ 4) ประจำปี 2546 ได้มีการพิจารณาร่างข้อบัญญัติดังกล่าว ซึ่งร่าง ข้อบัญญัติฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดเก็บค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสียเข้าเป็นรายได้ของกรุงเทพมหานคร โดยจัดเก็บจากเจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดน้ำเสียในเขตพื้นที่ที่กรุงเทพมหานครได้จัดทำท่อรวบรวมน้ำเสียและระบบบำบัดน้ำเสียรวมแล้ว ซึ่งเป็นไปตามหลักการที่กำหนดให้ผู้ก่อมลภาวะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการบำบัดมลภาวะ สำหรับอัตราค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสียนั้น ร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครได้กำหนดอัตราสูงสุดไว้ตามประเภทการใช้ประโยชน์อาคาร และให้อำนาจผู้ว่าราชการกรุงเทพ- มหานครประกาศกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมที่จะจัดเก็บซึ่งไม่เกินอัตราที่กำหนดไว้ในร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร จากเจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดน้ำเสีย
สำหรับค่าใช้จ่ายของระบบบำบัดน้ำเสียรวมของกรุงเทพมหานครที่เปิดดำเนินการแล้ว 5 แห่ง มีดังนี้ โรงบำบัดน้ำเสีย รวมสี่พระยา ใช้งบประมาณในการก่อสร้าง 464,000,000 บาท และในการดำเนินระบบ 1,000,000 บาท/เดือน ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เขตสัมพันธวงศ์ และเขตบางรักรวม 2.70 ตร.กม. สามารถบำบัดน้ำเสียได้ 30,000 ลบ.ม./วัน , โรงบำบัดน้ำเสียรวมรัตนโกสินทร์ ใช้งบประมาณในการก่อสร้าง 898,000,000 บาท และในการเดินระบบ 2,000,000 บาท/เดือน ครอบคลุมพื้นที่เขตพระนคร เกือบทั้งหมด รวม 4.10 ตร.กม. สามารถบำบัดน้ำเสียได้ 40,000 ลบ.ม./วัน , โรงบำบัดน้ำเสียรวมช่องนนทรี ใช้งบประมาณในการก่อสร้าง 4,747,000,000 บาท และในการเดินระบบ 4,000,000 บาท/เดือน ครอบคลุมพื้นที่เขตยานนาวา เขตบางรักบางส่วน เขตสาทร และเขตบางคอแหลม รวม 28.50 ตร.กม. สามารถบำบัดน้ำเสียได้ 200,000 ลบ.ม./วัน , โครงการโรงบำบัดน้ำเสียหนองแขม - ภาษีเจริญ - ราษฎร์บูรณะ ใช้งบประมาณในการก่อสร้าง รวมทั้งสิ้น 5,001,000,000 บาท แบ่งเป็นโรงบำบัดน้ำเสีย รวมหนองแขม ใช้งบประมาณในการเดินระบบ 7,000,000 บาท/เดือน ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของเขตหนองแขม เขตภาษีเจริญ และเขตบางแค รวม 44 ตร.กม. สามารถบำบัดน้ำเสียได้ 157,000 ลบ.ม./วัน และโรงบำบัดน้ำเสียรวมทุ่งครุ ใช้งบประมาณในการเดินระบบ 4,500,000ท บาท/เดือน ครอบคลุมพื้นที่เขตราษฎร์บูรณะ เขตทุ่งครุ และเขตจอมทองบางส่วน รวม 42 ตร.กม. สามารถบำบัดน้ำเสียได้ 65,000 ลบ.ม./วัน
นอกจากนี้ ยังมีระบบบำบัดน้ำเสียรวมของกรุงเทพมหานครที่อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างอีก 2 แห่ง คือ โครงการบำบัดน้ำเสียรวมระยะที่ 1 (ดินแดง) ครอบคลุมพื้นที่ 37 ตร.กม. ใช้งบประมาณในการก่อสร้าง 8,094,000,000 บาท สามารถบำบัดน้ำเสียได้ 350,000 ลบ.ม./วัน และโครงการบำบัดน้ำเสียรวมระยะที่ 4 (จตุจักร) ครอบคลุมพื้นที่ 33 ตร.กม. ใช้งบประมาณในการก่อสร้าง 3,401,000,000 บาท สามารถบำบัดน้ำเสียได้ 150,000 ลบ.ม./วัน
นายพงษ์พิสุทธิ์ กล่าวต่อไปว่า โครงการบำบัดน้ำเสียรวมแต่ละแห่งมีค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างและค่าเดินระบบสูงมาก ประกอบกับโรงบำบัดที่เดินระบบแล้วและที่กำลังก่อสร้างครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพมหานครเพียง 191.30 ตร.กม. และกรุงเทพมหานครยังมีหน้าที่ที่จะต้องดำเนินการโครงการบำบัดน้ำเสียรวมให้ครอบคลุมพื้นที่ 1,568.737 ตร.กม.ของกรุงเทพมหานคร ดังนั้น งบประมาณที่จะต้องใช้ในโครงการบำบัดน้ำเสียรวม นับว่าเป็นภาระค่าใช้จ่ายของกรุงเทพมหานครที่สูงมาก ประกอบกับ ร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครนี้ กำหนดให้ผู้ก่อให้เกิดมลภาวะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการบำบัดมลภาวะนั้น ก็เป็นไปตามหลักการสากล
นายพงษ์พิสุทธิ์ กล่าวอีกว่า คณะกรรมการฯ ยังได้ตั้งข้อสังเกตบางประการเกี่ยวกับร่างข้อบัญญัติดังกล่าว อาทิ บทนิยามคำว่า "ระบบบำบัดน้ำเสียรวม" ในส่วนของแหล่งกำเนิดน้ำเสียที่กำหนดไว้ อาจไม่ครอบคลุมแหล่งกำเนิดน้ำเสียทั้งหมด จึงควรใช้คำรวมที่มีความหมายกว้าง เช่น "ระบบบำบัดน้ำเสียรวม" หมายความว่า ระบบบำบัดน้ำเสียที่กรุงเทพมหานครจัดให้มีขึ้นเพื่อบำบัดน้ำเสียจากแหล่งกำเนิดน้ำเสียผ่านท่อรวบรวมน้ำเสีย , ในร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครสมควรบัญญัติให้ชัดเจนว่า เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารสถานที่ที่เป็นแหล่งที่มาของน้ำเสีย และน้ำเสียดังกล่าวไหลเข้าสู่ท่อรวบรวมน้ำเสียแล้วกรุงเทพมหานครนำไปบำบัด, ในร่างข้อ 5 ส่วนที่บัญญัติว่า "เมื่อกรุงเทพมหานครจัดทำท่อรวบรวมน้ำเสียและระบบบำบัดน้ำเสียรวมในเขตพื้นที่ใดแล้ว ให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครประกาศเขตพื้นที่ดังกล่าวเป็นเขตพื้นที่ที่เจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดน้ำเสียต้องชำระค่า ธรรมเนียม" นั้น เนื่องจากประกาศเขตพื้นที่เป็นเอกสารสำคัญที่จะทำให้การบังคับใช้กฎหมายสัมฤทธิ์ผล และเป็นสื่อถึงประชาชนที่จะอยู่ภายใต้บังคับร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครนี้ด้วย ดังนั้น ประกาศเขตพื้นที่ฉบับดังกล่าวควรมีความชัดเจนในเรื่องขอบเขต แขวง หรือถนน เพื่อให้ประชาชนสามารถที่จะตรวจสอบได้ในระดับหนึ่ง และหรืออาจบัญญัติบทนิยามคำว่า "เขตพื้นที่" ให้ชัดเจนว่าหมายความถึงพื้นที่ที่แหล่งกำเนิดน้ำเสียของผู้ที่มีหน้าที่จะต้องเสียค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสียตั้งอยู่ และน้ำเสียดังกล่าวได้รับการบำบัดโดยระบบบำบัดน้ำเสียรวมของกรุงเทพมหานคร
นอกจากนี้ค่าธรรมเนียมที่คิดตามจำนวนน้ำประปาที่ใช้ซึ่งปรากฎตามมาตรประปานั้น ควรคำนึงถึงกรณีเจ้าของอาคารถูกลักลอบใช้น้ำประปา และกรณีอาคารที่ไม่มีผู้อยู่อาศัยแต่มีผู้ละเมิดเข้าไปใช้น้ำประปา โดยพิจารณาให้ความเป็นธรรมแก่เจ้าของอาคารตามสมควรด้วย, เนื่องจากจำนวนน้ำดีที่เข้าสู่อาคารไม่ได้กลายเป็นน้ำเสียที่ไหลออกทั้งหมด ดังนั้นจึงควรยกเว้นการจัดเก็บค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสียสำหรับจำนวนน้ำ 10 ลบ.ม. แรก ที่ใช้ในแหล่งกำเนิดน้ำเสียประเภทอาคารที่อยู่อาศัย, ในบัญชีอัตราค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสียสูงสุดท้ายร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร ซึ่งสรุปได้ว่ายกเว้นค่าธรรมเนียมสำหรับอาคารที่อยู่อาศัยที่มีปริมาณน้ำเสียไม่เกิน 10 ลบ.ม. /เดือน นั้น เนื่องจากอาคารที่ใช้น้ำไม่ถึงอัตราดังกล่าวน่าจะมีจำนวนน้อยมาก ดังนั้น เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ในการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย จึงเห็นว่าควรแก้ไขเป็นยกเว้นค่าธรรมเนียมสำหรับอาคารที่อยู่อาศัยที่มีปริมาณน้ำเสีย ไม่เกิน 15-20 ลบ.ม./เดือน, อัตราค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสียสูงสุดท้ายร่างขัอบัญญัติกรุงเทพมหานคร ซึ่งแบ่งตามประเภทการใช้อาคารนั้น ควรคำนึงถึงอาคารขององค์กรการกุศล ซึ่งมิได้มุ่งทางการค้าหรือแสวงหากำไร โดยเห็นว่าสมควรจัดเก็บในอัตราที่ต่ำ
อย่างไรก็ดี ที่ประชุมสภากรุงเทพมหานครได้มีมติรับหลักการแห่งร่างข้อบัญญัติฯ และได้ตั้งคณะกรรมการวิสามัญขึ้นมาพิจารณารายละเอียดของร่างข้อบัญญัติดังกล่าว จำนวน 17 คน ประกอบด้วย ฝ่ายบริหารกทม. 8 คน และฝ่ายสภากทม. 9 คน กำหนดแปรญัตติ 15 วัน จากนั้นจะนำเข้าสู่สภากทม.เพื่อพิจารณา ในวาระ 2-3 ต่อไป--จบ--
-นห-