กรุงเทพฯ--8 พ.ค.--ศูนย์ ปชส.กระทรวงคมนาคม
ดร.ปรีติ เหตระกูล กรรมการผู้อำนวยการใหญ่บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด เปิดเผยว่า จากการที่ประเทศไทยมีเป้าหมายที่จะก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางอากาศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดย บวท. มีภารกิจด้านการบินของประเทศที่ต้องส่งเสริมให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายดังกล่าว จึงได้มีการปรับโครงสร้างองค์กรเพื่อเตรียมการรองรับกับเทคโนโลยีใหม่ๆ ของการควบคุมจราจรทางอากาศ ตามนโยบายของผู้บริหาร
บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) ได้ดำเนินกลยุทธ์เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนบุคลากรด้านการควบคุมจราจรทางอากาศ ซึ่งปัญหาดังกล่าวเกิดจากลักษณะเฉพาะตัวของวิชาชีพ ที่ต้องใช้เวลาฝึกฝนและสั่งสมประสบการณ์ เพื่อการใช้ไหวพริบในการตัดสินใจที่พลาดไม่ได้แม้แต่เปอร์เซนต์เดียว กระบวนการผลิตบุคลากรแต่ละคน ต้องใช้เวลารุ่นละ 8 ปี โดยเริ่มจากเจ้าหน้าที่ข้อมูลการบิน ผู้ช่วยผู้ควบคุมจราจรทางอากาศ สู่ตำแหน่งเจ้าหน้าที่ควบคุมจราจรทางอากาศ ซึ่งที่ผ่านมาผู้ที่ได้รับการฝึกฝนแต่ละรุ่นไม่สามารถผ่านการทดสอบประเมินผลได้ทั้งหมด ทำให้เกิดภาวะบุคลากรตกค้าง ซ้อนทับรอกันเป็นรุ่นอยู่ในระบบ ซึ่งปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาที่ทุกประเทศทั่วโลกกำลังประสบ การปรับกลยุทธ์กระบวนการพัฒนาบุคลากรในสายงานปฏิบัติการควบคุมจราจรทางอากาศให้สามารถหมุนเวียนให้ใช้ได้ระยะเวลาที่สั้นลง โดยยังคงรักษาคุณภาพและให้มีประสิทธิภาพสูงสุดในชื่อโครงการ ATC Fast Track โดยใช้ระยะเวลาเพียง 4-6 ปี กลยุทธ์นี้เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2543 โดยเน้นผู้ที่มีคุณสมบัติสอดคล้องกับความต้องการของสายงาน ทั้งบุคลากรภายใน และการรับสมัครบุคลากรภายนอก ซึ่งมีผู้สนใจมาสมัครแต่ละรุ่นจำนวนมาก ปัจจุบันสามารถผลิตเจ้าหน้าที่ควบคุมจราจรทางอากาศได้เป็นจำนวนถึง 75 คน ในรุ่นที่ 1-2 และอยู่ในระหว่างขั้นตอนการกระบวนการพัฒนา จำนวน 99 คน ในรุ่นที่ 3-5 และในรุ่นล่าสุดที่มีการรับสมัครจากบุคคลภายนอกเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2545 มีผู้ผ่านการทดสอบทั้งสิ้น 43 คน ขณะนี้อยู่ระหว่างการอบรมหลักสูตร Intensive Air Traffic Service และคาดว่าจะผ่านขั้นตอนกระบวนการพัฒนาต่างๆ สู่การเป็นผู้ควบคุมจราจรทางอากาศต่อไป ซึ่งจะสามารถแก้ไขปัญหาภาวะขาดแคลนบุคลากรได้ภายในปี 2547 โดย บวท.มีเป้าหมายการผลิตบุคลากรด้านควบคุมจราจรทางอากาศรองรับกิจการบินของประเทศไทย ได้ถึง 662 คน ภายในปี 2554 การดำเนินการปรับกระบวนการผลิตเจ้าหน้าที่ควบคุมจราจรทางอากาศของ บวท.จะเป็นจุดสำคัญจุดหนึ่งที่จะเป็นส่วนผลักดันให้ประเทศไทยมีความพร้อมที่จะเป็นผู้นำกิจการบินในภูมิภาคนี้ ตลอดจนรองรับกับงานให้บริการควบคุมจราจรทางอากาศ ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิในอนาคต--จบ--
-ชต/พห-