กรุงเทพฯ--14 พ.ค.--กทม.
ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 12 พ.ค.46 เวลา 11.00 น. ในกิจกรรม "พบกัน จันทร์ละหน คนกับข่าว" ครั้งที่ 88 สำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร โดยนายอนันต์ ศิริภัสราภรณ์ ผู้อำนวยการสำนักการศึกษา แถลงข่าว "เปิดยุทธการ เรียนรู้ คู่รอยยิ้ม พลังแผ่นดินในโรงเรียน รับขวัญวันเปิดเทอม"
ผู้อำนวยการสำนักการศึกษา เปิดเผยว่า โรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครทั้ง 431 โรงเรียน มีกำหนดจะเปิดภาคเรียนปีการศึกษา 2546 ในวันศุกร์ที่ 16 พ.ค.นี้ ซึ่งสำนักการศึกษาพร้อมเต็มที่ในการดำเนินการตามนโยบายการปฏิรูปการศึกษา โดยสิ่งที่กทม.เตรียมพร้อมไว้เพื่อ "รับขวัญวันเปิดเทอม" ในปีนี้ ประกอบด้วย หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นหลักสูตรใหม่ที่เน้นกิจกรรมและการเรียนแบบกลุ่มให้เด็กได้เรียนรู้ชีวิตมากกว่าการเน้นแต่ตำราเรียน โดยเดินหน้าตามยุทธการเรียนรู้คู่รอยยิ้ม หรือ Smile School ที่มุ่งให้ผู้บริหาร ครู และนักเรียนจัดการเรียนรู้ร่วมกันอย่างมีความสุข ซึ่งในปีนี้จะเพิ่มจุดเน้นที่ Smart และ Spirit ด้วย เพื่อให้เด็กนักเรียนกทม.มีคุณภาพสมบูรณ์ ทั้ง เก่ง ดี และมีความสุข ทั้งนี้ มั่นใจว่าการจัดสัมมนาคลินิกหลักสูตรและการฝึกอบรมอย่างหนักในโครงการครูพันธุ์แท้ ตลอดช่วงปิดภาคเรียนที่ผ่านมา จะทำให้ครูกทม.กว่า 90 % จากทั้งหมด 14,000 คน มีความรู้ความเข้าใจในหลักสูตรใหม่ดังกล่าวและพร้อมจะนำมาพัฒนาการเรียนการสอนในปีการศึกษาใหม่นี้
ผู้อำนวยการสำนักการศึกษา กทม. กล่าวต่อว่า เปิดเทอมใหม่นี้โรงเรียนกทม.ทุกแห่งมีความพร้อมในเรื่องเทคโนโลยีที่ ทันสมัยยิ่งขึ้น ทุกโรงเรียนจะมีคอมพิวเตอร์เพื่อการเรียนรู้พร้อมครูผู้สอนที่มีศักยภาพ โดยโรงเรียนที่มีนักเรียนต่ำกว่า 200 คน จะมีคอมพิวเตอร์ จำนวน 7 เครื่อง, นักเรียนระหว่าง 200-300 คน มีคอมพิวเตอร์ 11 เครื่อง และนักเรียนมากกว่า 300 คน มีคอมพิวเตอร์ 21 เครื่อง ซึ่งจะมีการเร่งรัดการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยเหล่านี้ในการพัฒนาการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นต่อไป
ขณะเดียวกันโรงเรียนกทม.ในปีการศึกษา 2546 นี้ จะเป็น "โรงเรียนของชุมชน" โดยชุมชนจะเข้ามาเป็นส่วนสำคัญในการจัดการศึกษาในโรงเรียน แต่ละชุมชน มีบทบาทที่จะกำหนดรูปแบบโรงเรียนในชุมขนของตนให้มีเอกลักษณ์ของตนเอง และสามารถผลิตนักเรียนที่มีคุณภาพตามที่คาดหวังและสนองตอบความต้องการของชุมชนได้มากขึ้น ทั้งนี้ ทุกโรงเรียนในสังกัดกทม.ได้รับมอบนโยบายในการให้ความสำคัญกับบทบาทของคณะกรรมการโรงเรียน เครือข่ายผู้ปกครอง และเครือข่ายหน่วยงานการศึกษาทุกระดับและทุกสังกัดในพื้นที่ เพื่อเป็นการระดมทรัพยากรในชุมชน ทั้งเงินทุน ความคิด และภูมิปัญญาท้องถิ่น มาช่วยจัดการศึกษาด้วย
ผู้อำนวยการสำนักการศึกษา กล่าวอีกว่า สำหรับในปีการศึกษา 2546 โรงเรียนกทม.ได้รับความไว้วางใจจากผู้ปกครองนำบุตรหลานมาเข้าเรียนกันมากขึ้น โดยมีเด็กสมัครเข้าเรียนระดับอนุบาล 21,000 คน ป.1 จำนวน 38,000 คน ทั้งนี้เป็นผลจากการที่โรงเรียนกทม.สามารถยกระดับมาตรฐานคุณภาพการศึกษาให้เป็นที่ยอมรับมากขึ้น สำหรับในระดับมัธยมศึกษา กทม.จะเปิดรับ นักเรียนระดับ ม.ต้น เพิ่มอีก 2 โรงเรียน คือ ที่โรงเรียนเพี้ยนพินอนุสรณ์และโรงเรียนวัดปทุมวนาราม รวมเป็น 62 โรงเรียน และจะเปิดในระดับ ม.ปลายที่โรงเรียนวิชูทิศอีก 1 โรงเรียน เพื่อรองรับนักเรียนโรงเรียนกีฬาของกรุงเทพมหานคร--จบ--
-นห-