กรุงเทพฯ--29 ต.ค.--กทม.
นพ.อุดมศักดิ์ สังฆ์คุ้ม รองปลัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยในการแถลงข่าว "พบกัน จันทร์ละหน คนกับข่าว" วันนี้ (28 ต.ค. 45) เวลา 11.00 น. ณ ห้องรับรองกรุงเทพมหานคร ว่า กทม. พร้อมดำเนินการตาม พ.ร.บ.คุ้มครองสุขภาพผู้ไม่สูบบุหรี่ พ.ศ. 2535 และประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2545 ซึ่งได้มีการปรับปรุงเรื่อง การกำหนดสถานที่สาธารณะให้มีการคุ้มครองสุขภาพผู้ไม่สูบบุหรี่ โดยให้เป็นเขตปลอดบุหรี่ 100% เพิ่มขึ้นจากเดิม 16 ประเภท เป็น 19 ประเภท ส่งผลให้ร้านอาหาร สถานบริการ ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้าที่มีระบบปรับอากาศทุกแห่ง ซึ่งจากเดิมเคยจัดให้มีเขตปลอดบุหรี่และพื้นที่สำหรับสูบบุหรี่ กลายเป็นเขตปลอดบุหรี่ 100% ทั้งนี้จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 8 พ.ย. 45 เป็นต้นไป ฝ่าฝืนปรับหนัก โดยผู้ประกอบการที่ไม่ปฏิบัติตามจะถูกจับกุม และมีโทษปรับ 20,000.- บาท ส่วนผู้สูบบุหรี่ในที่ห้ามสูบจะถูกจับกุมและปรับไม่เกิน 2,000.- บาท
รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวด้วยว่า สถานที่สาธารณะต่อไปนี้ ขณะทำการ ให้ หรือใช้บริการ ถูกกำหนดให้เป็นเขตปลอดบุหรี่ทั้งหมด 1. รถยนต์โดยสารประจำทาง 2. รถยนต์โดยสารรับจ้าง 3. ตู้โดยสารรถไฟที่มีระบบปรับอากาศ 4. เรือโดยสาร 5. เครื่องบินโดยสารภายในประเทศ 6. ที่พักผู้โดยสารเฉพาะบริเวณที่มีระบบปรับอากาศ 7. ลิฟต์โดยสาร 8. ตู้โทรศัพท์สาธารณะ 9. รถรับส่งนักเรียน 10. โรงมหรสพ 11. ห้องสมุด 12. ร้านตัดผม ร้านตัดเสื้อ สถานเสริมความงาม ร้านขายยา หรือสถานที่บริการอินเตอร์เน็ตเฉพาะบริเวณที่มีระบบปรับอากาศ 13. ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า หรือสถานที่จำหน่ายสินค้าเฉพาะบริเวณที่มีระบบปรับอากาศ 14. สถานที่ออกกำลังกายเฉพาะบริเวณที่มีระบบปรับอากาศ 15. สถานพยาบาลประเภทที่ไม่รับผู้ป่วยไว้ค้างคืน 16. ศาสนสถานเฉพาะบริเวณที่ประกอบศาสนกิจ 17. สถานที่จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม หรือสถานที่จัดเลี้ยงเฉพาะบริเวณที่มีระบบปรับอากาศ 18. สุขา 19. ท่าเทียบเรือสาธารณะส่วนสถานที่สาธารณะที่กำหนดให้เป็นเขตปลอดบุหรี่ขณะทำการ เว้นแต่บริเวณห้องพักส่วนตัว หรือห้องทำงานส่วนตัวของผู้ปฏิบัติงานในที่สาธารณะ นั้น ได้แก่ 1. โรงเรียนหรือสถานศึกษาที่ต่ำกว่าระดับอุดมศึกษา 2. อาคารจัดแสดงศิลปวัฒนธรรม พิพิธภัณฑ์สถาน หรือหอศิลป์ 3. สถานพยาบาลประเภทที่รับผู้ป่วยไว้ค้างคืน 4. สถานรับเลี้ยงเด็กก่อนวัยเรียน 5. สนามกีฬาในร่ม
สถานที่สาธารณะที่กำหนดให้เป็นเขตปลอดบุหรี่ขณะทำการ เว้นแต่บริเวณห้องพักส่วนตัว หรือห้องทำงานส่วนตัวของผู้ปฏิบัติงานในที่สาธารณะ และบริเวณที่จัดไว้ให้เป็น "เขตสูบบุหรี่" เป็นการเฉพาะ โดยสภาพ ลักษณะ มาตรฐานการระบายอากาศของเขตปลอดบุหรี่และเขตสูบบุหรี่นั้นให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่กำหนด ได้แก่ 1. อาคารของมหาวิทยาลัย วิทยาลัย หรือสถานบันการศึกษาระดับอุดมศึกษา 2. บริเวณแสดงสินค้าหรือนิทรรศการ เฉพาะที่มีระบบปรับอากาศ 3. สถานที่ราชการหรือรัฐวิสาหกิจ 4. ธนาคาร และสถาบันการเงิน 5. สำนักงานที่มีระบบปรับอากาศ 6. อาคารท่าอากาศยาน สำหรับตู้โดยสารรถไฟที่ไม่มีระบบปรับอากาศก็ให้เป็นสถานที่ที่ให้มีการคุ้มครองสุขภาพผู้ไม่สูบบุหรี่เช่นกัน โดยให้มีตู้ที่จัดไว้ให้เป็น "เขตสูบบุหรี่" เป็นการเฉพาะ ซึ่งมีมาตรฐานการระบายอากาศตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนด ทั้งนี้ต้องมีจำนวนไม่เกินร้อยละ 25 ของจำนวนตู้ที่ไม่มีระบบปรับอากาศในขบวนนั้น
รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวอีกว่า กรุงเทพมหานครในฐานะองค์กรบริหารราชการส่วนท้องถิ่น ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบในการคุ้มครองและปกป้องสิทธิของผู้ไม่สูบบุหรี่ในเขตกรุงเทพฯ ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองสุขภาพผู้ไม่สูบบุหรี่ พ.ศ. 2535 มีความตระหนักในปัญหาดังกล่าว จึงได้มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดกทม. เช่น สำนักการแพทย์ สำนักอนามัย สำนักเทศกิจ สำนักการศึกษา และสำนักงานเขต ทั้ง 50 เขต ดำเนินการประชาสัมพันธ์และให้คำแนะนำเกี่ยวกับการจัดเขตสูบบุหรี่และเขตปลอดบุหรี่ที่ถูกต้องแก่เจ้าของสถานที่สาธารณะในเขตกทม. ทั้งนี้ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2545 ซึ่งเป็นฉบับแก้ไขปรับปรุง จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 8 พ.ย. 45 เป็นต้นไป ดังนั้นภายหลังวันดังกล่าว หากประชาชนพบเห็นผู้สูบบุหรี่ในสถานประกอบการ ร้านค้า ร้านอาหาร รถโดยสารประจำทาง รถแท็กซี่ ฯลฯ หรือพบว่าเจ้าของสถานประกอบการละเลย ไม่ควบคุมให้เป็นเขตปลอดบุหรี่ สามารถแจ้งได้ที่ฝ่ายเทศกิจ หรือฝ่ายสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาลของสำนักงานเขตทั้ง 50 เขต สำหรับผู้ประกอบการที่ไม่ปฏิบัติตามจะถูกจับกุมและมีโทษปรับ 20,000.- บาท ส่วนผู้สูบบุหรี่ในที่ห้ามสูบจะถูกจับกุมและปรับไม่เกิน 2,000.- บาท--จบ--
-นห-