กรุงเทพฯ--12 พ.ย.--กทม.
เมื่อวานนี้ (11 พ.ย. 45) เวลา 11.00 น. ที่ห้องรับรองกรุงเทพมหานคร นางณฐนนท ทวีสิน ปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการแถลงข่าว "พบกัน จันทร์ละหน คนกับข่าว " ครั้งที่ 67 เรื่อง มาตรการและแนวทางการปฏิบัติเกี่ยวกับการตรวจสอบและ การควบคุมการจำหน่ายดอกไม้เพลิง และการกวดขันไม่ให้มีการจำหน่ายและเล่นดอกไม้เพลิงช่วงเทศกาลวันลอยกระทง โดยมี นายสุทธิชัย ทรรศนสฤษดิ์ รองปลัดกรุงเทพมหานคร นายธวัชชัย กำลังงาม ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ นายชาญชัย วามะศิริ ผู้อำนวยการเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย นายจิตติ รอดบางยาง ผกก.สน.สำราญราษฎร์ พ.ต.อ.เรวัต เทียนศรี ผู้แทนกองสรรพวุธ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ต.ท.กฤษณพร ยี่สาคร ผู้แทนกองทะเบียน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และนายวิภาคย์ ธนรัช ผู้แทนกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย ร่วมแถลงข่าว
ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า การจัดกิจกรรมวันลอยกระทงเป็นการส่งเสริม และอนุรักษ์ประเพณีของชาวไทย ตลอดจนเป็นการเสริมสร้างการท่องเที่ยว ซึ่งกทม.ร่วมกับองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชนจัดกิจกรรมดังกล่าวขึ้น และเพื่อให้ประชาชนได้สนุกสนานกับเทศกาลลอยกระทง กรุงเทพมหานครจึงได้ประสานความร่มมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินมาตรการด้านการรักษาความ ปลอดภัยในช่วงเทศกาลวันลอยกระทง โดยได้รับความร่วมมือจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสถานีตำรวจนครบาลท้องที่ ในการควบคุมการเล่นและการจำหน่ายดอกไม้เพลิงอย่างเคร่งครัด รวมถึงการป้องกันการเกิดเหตุเพลิงไหม้และยาเสพติดด้วย
ดำเนินมาตรการเข้มทางกฎหมายกับผู้ฝ่าฝืนจำหน่ายและเล่นดอกไม้เพลิง
รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า เทศกาลลอยกระทงในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา กรุงเทพมหานคร ได้เน้นย้ำเรื่องความปลอดภัยในการเล่นและการจำหน่ายดอกไม้เพลิงตลอดมา เนื่องจากก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญและมีผู้ได้รับอันตรายจากการเล่นดังกล่าว ปัจจุบันกรุงเทพมหานครไม่มีการต่อใบอนุญาตให้แก่ผู้จำหน่ายดอกไม้เพลิง เนื่องจากกรุงเทพมหานครมีแหล่งชุมชนและประชากรอยู่อาศัยเป็นจำนวนมาก ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรงแก่ผู้อยู่อาศัยบริเวณใกล้เคียง ดังนั้นจึงขอแจ้งเตือนผู้ประกอบกิจการค้าดอกไม้เพลิงห้ามจำหน่ายดอกไม้เพลิงช่วงเทศกาลวันลอยกระทง รวมไปถึงห้ามมีการจุดประทัด ดอกไม้เพลิง หรือพลุต่างๆโดยเด็ดขาด ทั้งนี้หากมีผู้ฝ่าฝืนประกอบการโดยไม่มีใบอนุญาต ลักลอบจำหน่าย คณะกรรมการเปรียบเทียบคดี จะพิจารณาเปรียบเทียบปรับแก่ ผู้ที่ฝ่าฝืน โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติสาธารณสุข พ.ศ.2535 และข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง กิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ พ.ศ.2544 รวมทั้งกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการครอบครองวัตถุระเบิด ฯลฯ ซึ่งมีอัตราโทษสูงสุด คือ ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนี้ได้ขอความร่วมมือสถานีตำรวจนครบาลในพื้นที่ในการดูแลรักษาความสงบ เรียบร้อยในริเวณที่มีการจัดงานลอยกระทงทั่วกรุงเทพมหานคร และได้นำรถขนผู้ต้องหาของสถานีตำรวจไปจอดในย่านที่มีการเล่นดอกไม้ไฟในที่ชุมชน เพื่อจับกุมผู้ที่ฝ่าฝืนเล่นพลุ ดอกไม้เพลิงที่เป็นอันตราย รวมทั้งจัดเจ้าหน้าที่เทศกิจจากสำนักเทศกิจและทุกสำนักงานเขต ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในการตรวจตราดูแลรักษาความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกในบริเวณงาน บริเวณสวนสาธารณะของกรุงเทพมหานคร สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ตลอดจนท่าเทียบเรือต่างๆ นอกจากนี้ยังได้ดำเนินการป้องกันอันตรายทางน้ำโดยจะมีหน่วยแพทย์กู้ชีวิต วชิรพยาบาล ตำรวจน้ำ และมูลนิธิต่างๆ จะมาร่วมเฝ้าระวังภัยให้ด้วย
กทม.ไม่ต่อใบอนุญาตแก่ผู้ประกอบการดอกไม้เพลิงในกรุงเทพมหานคร
ผู้อำนวยการเขตป้อมปราบฯ กล่าวว่า ภายหลังจากที่ได้มีการแก้ไขและประกาศใช้พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ.2535 ซึ่งให้มีการควบคุมการค้าประเภทดอกไม้เพลิงแล้ว ได้มีผู้มายื่นขออนุญาตประกอบการกับทางสำนักงานเขต จำนวน 22 ราย ขณะนี้บางส่วนได้เลิกกิจการ และส่วนที่เหลือใบอนุญาตได้หมดอายุไปแล้วเมื่อวันที่ 31 ธ.ค.42 จนถึงปัจจุบันทางสำนักงานเขตฯ ยังไม่ได้ออกใบอนุญาตแก่ผู้ประกอบการรายใด แต่ในส่วนของทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติยังคงมีการอนุญาตให้จำหน่ายดอกไม้เพลิงได้บางราย เนื่องจากสถานที่ประกอบการตั้งอยู่พื้นที่ชานเมืองชั้นนอก อีกทั้งไม่เป็นย่านชุมชนหรือใกล้แหล่งที่อยู่อาศัย อย่างไรก็ดีปัจจุบันการจดทะเบียนดังกล่าวได้ลดจำนวนลงเหลือเพียง 6 ราย ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันอันตรายร้ายแรงต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน สำนักงานเขตจึงได้จัดประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย กองป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน กทม., สำนักเทศกิจ, กองอนามัยและสิ่งแวดล้อม สำนักอนามัย, กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย, กองทะเบียน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, สถานีตำรวจนครบาลสำราญราษฎร์, งานดับเพลิงที่ 18 ภูเขาทอง, และกองสรรพาวุธ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อหารือและกำหนดแนวทางในการดำเนินงานและออกดำเนินงานตามที่กำหนดไว้ เพื่อตรวจสอบการเก็บสะสม การขนส่ง การจำหน่าย ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่ายังมีผู้ประกอบการที่ลักลอบสะสมและจำหน่ายดอกไม้เพลิงอยู่ จำนวน 9 ราย (การดำเนินคดีอยู่ระหว่างการดำเนินการของพนักงานเจ้าหน้าที่) ในส่วนของประชาชนสำนักงานเขตฯ ได้มีหนังสือแนะนำและประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือให้ระมัดระวังการเล่นดอกไม้เพลิง รวมถึงอันตรายในด้านอื่นๆ และจะพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายหากพบผู้ฝ่าฝืน นอกจากนี้ได้มีการตั้งคณะเจ้าหน้าที่ตรวจร่วม ออกตรวจเพื่อกวดขันสถานประกอบการ โรงงานผลิต หรือสถานที่เก็บสะสมและจำหน่ายดอกไม้เพลิงในพื้นที่ทั่วกรุงเทพมหานคร เพื่อตรวจสอบใบอนุญาตประกอบกิจการค้าและให้มีการจัดเก็บอย่างถูกต้องไม่เสี่ยงต่ออันตราย รวมถึงมีอุปกรณ์ดับเพลิงที่มีประสิทธิภาพอย่างเพียงพอ
สำนักงานตำรวจแห่งชาติขอความร่วมมือประชาชนป้องกันภัยในวันลอยกระทง
ด้านสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ขอความร่วมมือจากประชาชน ช่วยกันป้องกันอันตรายในวันลอยกระทง ดังนี้ 1.ผู้ใช้เรือและผู้ควบคุมเรือ ต้องไม่บรรทุกของหรือผู้โดยสารเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ รวมถึงผู้ควบคุมเรือทุกชนิดต้อง ไม่เสพสุราหรือของมึนเมา ในเวลากลางคืนเรือทุกลำต้องจุดโคมไฟให้เรือลำอื่นเห็นได้ในระยะไกล และลดความเร็วเมื่อเข้าใกล้บริเวณที่มีประชาชนลอยกระทงเพื่อไม่ให้ลูกคลื่นก่อความเดือดร้อนและเสียหายแก่กระทงของประชาชน อย่านำเรือที่มีขนาดเล็กหรือไม่ได้ขนาดเล่นใน ลำคลองใหญ่หรือแม่น้ำ และเจ้าของเรือหรือผู้ควบคุมเรือต้องไม่ยินยอมให้ผู้ที่ไม่มีประกาศนียบัตรนายท้ายเรือเป็นผู้ถือท้ายเรือ 2.ผู้ขับขี่และผู้ใช้ถนน ต้องใช้ความระมัดระวังในการขับขี่และอย่าขับรถเร็ว ผู้ที่เดินทางเท้าต้องข้ามถนนโดยใช้สะพานลอยหรือทางข้ามหรือที่ที่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจคอยให้ความสะดวก 3.ประชาชนทั่วไป ห้ามจุดประทัด ดอกไม้เพลิง หรือเล่นลูกปาหรือขว้างสายรุ้งโดยเด็ดขาด ประชาชนที่ไปลอยกระทงหรือเที่ยวงานไม่ควรดื่มสุราจนมึนเมาจนไม่สามารถครองสติได้เพราะอาจประสบอุบัติเหตุได้โดยง่าย ให้ระมัดระวังพวกมิจฉาชีพที่ถือโอกาสประทุษร้ายต่อทรัพย์และไม่ควรใส่เครื่องประดับของมีค่าในวันดังกล่าว อย่าเบียดเสียดยัดเยียดกันบนแพหรือท่าเทียบเรือ เพราะอาจจะทำให้พลิกคว่ำเป็นอันตรายต่อร่างกายและชีวิตได้ ควรไปลอยกระทงในสถานที่ที่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจคอยดูแลให้ความปลอดภัย ในด้านของผู้ปกครองควรกำชับเด็กให้ระวังผู้ที่หลอกลวงไปในทางมิชอบและไม่ควรให้เด็กประดับของมีค่าหรือไปเที่ยวงานโดยลำพัง ผู้ปกครองควรจัดทำบัตรหรือสิ่งอื่นใดให้ปรากฏชื่อเด็ก ชื่อบิดา มารดา หรือ ผู้ปกครองของเด็ก และสถานที่อยู่พร้อมหมายเลขโทรศัพท์ใส่ไว้ในกระเป๋าเสื้อหรือกางเกงของเด็กเพื่อสะดวกในการติดตาม ผู้ปกครองหรือนำเด็กไปส่งผู้ปกครอง ในกรณีที่เด็กพลัดหลง และหากมีการพบเห็นวัสดุ กระเป๋า กล่อง หรือภาชนะที่ต้องสงสัย ให้รีบออกจากบริเวณจุดที่พบและแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจทราบโดยด่วน ทั้งนี้ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้สั่งให้ตำรวจภูธรภาค 1 - 9 กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง กองบัญชาการตำรวจนครบาล และหน่วยงานอื่นๆ ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่มีหน้าที่ เกี่ยวข้องวางมาตรการในการรักษาความปลอดภัยให้แก่ประชาชนในวันดังกล่าวด้วยแล้ว--จบ--
-นห-