กรุงเทพฯ--21 ต.ค.--กรมอาชีวศึกษา
ภาคเอกชน 6 กลุ่มอาชีพพร้อมร่วมผลักดันกรมอาชีวศึกษานำร่องเปิดสอนหลักสูตรปริญญาทวิภาคี เพื่อผลิตนักเทคโนโลยีสายปฏิบัติการ โดยจะเป็นแกนนำเชิญชวนกลุ่มธุรกิจและสถานประกอบการชั้นนำเข้ามารองรับการฝึกทักษะวิชาชีพตลอดหลักสูตร เปิดโอกาสให้ได้ปฏิบัติงานในสถานการณ์จริง เพื่อมุ่งเน้นพัฒนาสมรรถนะของนักศึกษาอาชีวะให้มีความเป็นเลิศทางวิชาชีพ รวมทั้งยกระดับมาตรฐานฝีมือให้แข่งขันได้ในระดับนานาชาติ
ดร.พยุงศักดิ์ จันทรสุรินทร์ อธิบดีกรมอาชีวศึกษา และผู้แทนภาคเอกชน ร่วมแถลงข่าวโครงการความร่วมมือผลิตบุคลากรสายวิชาชีพระดับปริญญา ซึ่งเป็นหลักสูตรต่อเนื่องระบบทวิภาคี เพื่อรองรับผู้ประสงค์จะเข้าศึกษาต่อสายวิชาชีพ รวมทั้งเปิดโอกาสให้สถานประกอบการคัดเลือกพนักงานที่มีคุณวุฒิ และประสบการณ์ทางวิชาชีพได้ศึกษาต่อเพื่อเพิ่มคุณวุฒิให้สูงขึ้น
หลักสูตรดังกล่าวกำหนดการรับนักศึกษา และระยะเวลาเรียนเป็น 2 ประเภท
ประเภทที่ 1. รับจากผู้สำเร็จประกาศนียบัตรวิชาชีพ ( ปวช.) ศึกษาต่อ 4 ปี
ประเภทที่ 2 รับนักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) เรียนต่อ 2 ปี เพื่อรับคุณวุฒิปริญญา
ในระยะแรกนี้จะยกร่างหลักสูตร เพื่อเปิดสอน 6 สาขาวิชาชีพ ได้แก่
1. สาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ ด้านซอฟแวร์
โดยร่วมมือกับเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย นำร่องเปิดสอนที่วิทยาลัยเทคนิคสมุทรปราการ
2. สาขาวิชาการค้าปลีก
ร่วมมือกับสมาคมค้าปลีกไทย นำร่องเปิดสอนที่วิทยาลัยพณิชยการธนบุรี
3. สาขาวิชาการจัดการโรงแรมและธุรกิจท่องเที่ยว
ร่วมมือกับชมรมธุรกิจโรงแรมจังหวัดภูเก็ต นำร่องเปิดสอนที่วิทยาลัยอาชีวศึกษาภูเก็ต
4. สาขาวิชาเมคคาทรอนิกส์
ร่วมมือกับนิคมอุตสาหกรรมไฮเทค และบริษัทแม็กเนคอมท์ (ประเทศไทย) จำกัด นำร่องเปิดสอนที่วิทยาลัยเทคนิคพระนครศรีอยุธยา และวิทยาลัยเทคนิคมีนบุรี
5. สาขาวิชาโทรคมนาคม
ร่วมมือกับบริษัทเทเลคอมเอเซีย คอร์ปอเรชั่น จำกัด มหาชน นำร่องเปิดสอนที่วิยาลัยการอาชีพนวมินทราชูทิศ
6. สาขาวิชาอัญมณี
ร่วมมือกับบริษัทบิวตี้ เจมส์ แฟคตอรี่ จำกัด นำร่องเปิดสอนที่กาญจนาภิเษกวิทยาลัยช่างทองหลวง
หลักสูตรปริญญาสายเทคโนโลยีหรือสายปฏิบัติการทั้ง 6 สาขาวิชาชีพดังกล่าวจะเป็นหลักสูตรที่จัดให้มีความยืดหยุ่น เพื่อให้นักศึกษามีโอกาสได้เข้ารับการฝึกงานในสถานประกอบการเสมือนเป็นพนักงานคนหนึ่ง ดังนั้นครูฝึกของสถานประกอบการ และอาจารย์ของสถานศึกษา จะร่วมกันรับผิดชอบในการบริหารจัดการหลักสูตรเหมือนเป็นหุ้นส่วนกัน นับตั้งแต่การคัดเลือกนักศึกษา การยกร่างหลักสูตร การกำหนดแผนการเรียนและการฝึกงาน รวมทั้งการวัดผลเพื่อประเมินความรู้ ทักษะ และความสามารถในการเรียนและการปฏิบัติงาน เป็นต้น
อธิบดีกรมอาชีวศึกษากล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดทำหลักสูตรผลิตนักศึกษาอาชีวะระดับปริญญาครั้งนี้ เป็นพันธกิจใหม่ของกรมอาชีวศึกษาและสถาบันการอาชีวศึกษา
ตามนโยบายการปฏิรูปอาชีวศึกษาเพื่อสร้างความแข็งแกร่งทางวิชาชีพ และผลิตนักศึกษาสายปฏิบัติการตามความต้องการของตลาดแรงงานทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพอย่างแท้จริง
ทั้งนี้เมื่อยกร่างหลักสูตรเรียบร้อยแล้ว จะนำเสนอคณะกรรมการ 3 ฝ่าย ได้แก่ คณะกรรมการการอาชีวศึกษา คณะกรรมการการอุดมศึกษา และผู้แทนภาคเอกชนและสถานประกอบการ พิจารณาให้ความเห็นชอบ ทั้งนี้เป็นไปตามหลักการที่เสนอไว้ในร่าง พ.ร.บ. การอาชีวศึกษา ซึ่งคาดว่าจะสามารถเปิดรับนักศึกษาได้ตั้งแต่ปีการศึกษา 2546 เป็นต้นไป--จบ--
-ตม-