กรุงเทพฯ--25 ธ.ค.--ศูนย์ ปชส. กระทรวงคมนาคม
นายอุดม ไกรวัตนุสสรณ์ เลขานุการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ได้เดินทางไปตรวจสอบข้อมูลและหาแนวทางแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน จังหวัดสมุทรสาคร เนื่องจากตลิ่งพังทลายและถนนชำรุด พร้อมด้วย นายชลอ คชรัตน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม นายถวัลย์รัฐ อ่อนศิระ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร ผู้แทนกรมทางหลวง ผู้แทนกรมทางหลวงชนบท เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2545
นายอุดม ไกรวัตนุสสรณ์ เลขานุการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า หลังจากได้ตรวจสภาพพื้นที่ รับทราบข้อมูลและปัญหาจากผู้นำท้องถิ่น และแนวทางแก้ไขปัญหาจากหน่วยงานที่รับผิดชอบแล้ว กระทรวงคมนาคมและหน่วยงานในสังกัดที่รับผิดชอบจะช่วยแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนจังหวัดสมุทรสาคร เนื่องจากตลิ่งพังทลาย พื้นที่ชายฝั่งทะเลถูกน้ำทะเลกัดเซาะ ถนนชำรุดทั้งในส่วนของกรมทางหลวงชนบท และกรมทางหลวง ซึ่งสรุปแนวการแก้ไข ดังนี้
1. พื้นที่ที่ตรวจสอบที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี
1.1 สภาพตลิ่ง คลองสุนัขหอน บริเวณหน้าวัดชีผ้าขาว ต.ท่าจีน อ.เมือง จ.สมุทรสาคร จะแก้ไขปัญหาโดยการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งพัง ซึ่งจะมีการจัดส่งวิศวกรไปทำการสำรวจออกแบบเขื่อนฯ ก่อนการเสนอขอตั้งงบประมาณค่าก่อสร้างในปี 2547
1.2 พื้นที่ชายฝั่งทะเลที่ถูกกัดเซาะ ด้านฝั่งทิศตะวันตกของปากแม่น้ำท่าจีนในเขต อ.เมือง 3 แห่ง คือ บริเวณหมู่ 1 ต.บางกระเจ้า หมู่ 9 ต.บ้านบ่อ และหมู่ 7 ต.กาหลง จะแก้ไขปัญหาโดยการก่อสร้างเขื่อนป้องกันการกัดเซาะในพื้นที่ทั้ง 3 แห่ง ดังกล่าว
การดำเนินการ ในปัจจุบัน กรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวีอยู่ระหว่างรอผลการออกแบบโครงสร้างเขื่อนป้องกันชายฝั่งทะเลบริเวณปากแม่น้ำท่าจีน อ.เมือง จ.สมุทรสาคร จากบริษัทวิศวกรที่ปรึกษา คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณเดือนพฤษภาคม 2546 และจะขอจัดตั้งงบประมาณค่าก่อสร้างในปี 2547 โดยพื้นที่ที่ทำการออกแบบเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งทะเล ประกอบด้วย
- ด้านฝั่งทิศตะวันออกของปากแม่น้ำท่าจีน หมู่ 4 บ้านสหกรณ์ ต.พันท้ายนรสิงห์ ความยาวของชายฝั่งที่จะก่อสร้างเขื่อนฯ
ประมาณ 4.58 กม. ค่าก่อสร้างประมาณ 297 ล้านบาท
- ด้านฝั่งตะวันตกของปากแม่น้ำท่าจีน หมู่ 1 บ้านชายทะเล ต.บางกระเจ้า, หมู่ 9 บ้านกระซ้าขาว ต.บ้านบ่อ และหมู่ 7 บ้านกาหลง ต.กาหลง ความยาวชายฝั่งทะเลที่จะก่อสร้างเขื่อนฯ ประมาณ 3.84 กม. ค่าก่อสร้างประมาณ 252 ล้านบาท
2. พื้นที่ที่ตรวจสอบที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมทางหลวงชนบท
เนื่องจากมีถนนที่อยู่ในสภาพชำรุดเสียหาย เพราะมีปริมาณการจราจรสูง และสภาพคันทางเดิมของถนนเป็นดินอ่อน มีความจำเป็นอย่างเร่งด่วน ในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน 3 โครงการ คือ ถนน สค.3005 บ้านหลักสาม-บ้านดอนกระทือ อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร, ถนนสายสค.2003 บ้านแพ้ว-บ้านหนองไข่ อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร และถนนเอกชัย (ช่วงพระราม 2 - จ.สมุทรสงคราม)
แนวทางแก้ไขปัญหา สำนักทางหลวงชนบทที่ 4 (เพชรบุรี) เห็นว่าเพื่อการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่อ.บ้านแพ้ว อ.กระทุ่มแบน และอ.เมือง จ.สมุทรสาคร เห็นควรดำเนินการและขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากกรมทางหลวงชนบท ดังนี้
- ซ่อมสร้างถนนลาดยางสาย สค.3005 บ้านหลักสาม-บ้านดอนกระทือ อ.บ้านแพ้ว ให้มีผิวจราจรลาดยางกว้าง 6.00 ม. ไหล่ทางลาดยางกว้างข้างละ 1 ม.ระยะทาง 11.240 กม.วงเงินงบประมาณ 9,368,000 บาท
- ซ่อมสร้างถนนลาดยางสาย สค.2003 บ้านแพ้ว-บ้านหนองนกไข่ อ.กระทุ่มแบน ให้มีผิวลาดยางกว้าง 6.00 ม.
ไหล่ทางลาดยางกว้างข้างละ 1 ม. ระยะทาง 11.878 กม. วงเงินงบประมาณ 2,723,000 บาท
- ก่อสร้างถนนลาดยางสายเอกชัย (ช่วงพระราม 2 - จ.สมุทรสงคราม)
ผิวจราจรลาดยางกว้าง 6.00 ม. ไหล่ทางลาดยางกว้างข้างละ 1.50 ม. ระยะทาง 9 กม.วงเงินงบประมาณ 30,600,000 บาท
3. พื้นที่ที่ตรวจสอบที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมทางหลวง
3.1 ทางหลวงหมายเลข 3242 ตอนแยกทางหลวงหมายเลข 35 ที่สมุทรสาคร-ธนบุรีที่กม.34+152 จะแก้ไขปัญหา โดยเร่งรัดดำเนินการขยายถนนและสะพาน จาก 2 ช่องจราจร ให้เป็น 6 ช่องจราจร
การดำเนินงาน แขวงการทางธนบุรี ได้เสนอเข้าแผนงานโครงการย่อย งานปรับปรุงย่านชุมชน ซึ่งรวมถึงขยายสะพานที่ กม.34+152 ด้วย ในปีงบประมาณ 2547 วงเงินงบประมาณ 30 ล้านบาท อย่างไรก็ตามเลขานุการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมได้ขอให้แขวงฯ พิจารณาดำเนินการในส่วนของการขยายสะพานก่อน แขวงฯ จึงมีความเห็นว่าควรส่งเรื่องให้สำนักสำรวจและออกแบบดำเนินการออกแบบสะพานที่จุดดังกล่าว และให้ศูนย์และบูรณะสะพานที่ 3 เป็นผู้ดำเนินการ เพื่อให้การก่อสร้างแล้วเสร็จโดยรวดเร็ว
3.2 ทางหลวงหมายเลข 3091 ตอนแยกทางหลวงหมายเลข 4 - ต่อทางเทศบาลเมืองสมุทรสาครควบคุม บริเวณเชิงลาดของสะพาน Over Pass ข้ามทางหลวงหมายเลข 35
การดำเนินงาน แขวงการทางธนบุรีได้ตรวจสอบแล้วพบว่า สาเหตุที่น้ำท่วมบริเวณดังกล่าว เนื่องจากบริเวณเชิงลาดของสะพานทรุดต่ำเป็นแอ่งยาวประมาณ 80 ม. การระบายน้ำช้า ในช่วงน้ำทะหนุนและฝนตกจะมีน้ำท่วมขัง เห็นควรดำเนินการแก้ไข คือ 1.)ลอกท่อระบายน้ำ โดยการจัดจ้างกรมราชทัณฑ์ 2.)ก่อสร้าง Curb & Gutter และบ่อพักเพิ่มเติม และ 3.)ปรับผิวที่ทรุดต่ำด้วย Hot Mixed หนาเฉลี่ย 15 ซม.จะใช้งบประมาณในการแก้ไขน้ำท่วมบริเวณดังกล่าวประมาณ 620,000 บาท--จบ--
-กจ-