กรุงเทพฯ--24 มิ.ย.--พีอาร์ แอนด์ แอสโซซิเอส
โรงพยาบาลจักษุรัตนินมีทางออกให้ผู้มีสายตาสั้น-ยาวมากผิดปกติ ที่ไม่สามารถใส่คอนแทคเลนส์หรือทำเลสิกได้ โดยให้ใส่เลนส์เสริม (Phakic Lenses) เข้าไปในดวงตา ซึ่งถือเป็นการรักษาดวงตาสมัยใหม่ที่สามารถทำให้ดวงตากลับมีสภาพเหมือนเดิมได้ ด้วยการถอดเลนส์ออกหากเกิดความผิดปกติ ไม่เหมือนกับเลสิกซึ่งไม่สามารถทำกลับเหมือนเดิมได้หากผลการรักษาไม่เป็นที่พอใจ มั่นใจแพทย์ไทยมีความชำนาญเพียงพอ เพราะทำมาแล้ว 2 ปีให้ผลปลอดภัยไม่มีผลข้างเคียง
นพ.นพรัตน์ สุจริตจันทร์ จักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการใส่เลนส์เสริมเปิดเผยว่า ปัจจุบันคนไทยมีปัญหาสายตาผิดปกติจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งนี้การแก้ไขปัญหาสายตาผิดปกติสามารถทำได้หลายวิธี เช่น การใส่แว่นตา ใส่คอนแทคเลนส์ และการผ่าตัดด้วยเลเซอร์ หรือวิธีเลสิกที่กำลังเป็นที่นิยมมากในปัจจุบัน แต่วิธีดังกล่าวยังมีขีดจำกัดเฉพาะในผู้ที่มีสายตาสั้น ยาว ในระดับหนึ่งเท่านั้น โดยวิธีเลสิกจะได้ผลดีในผู้ที่มีสายตาสั้นไม่เกิน 1,200 -1,500 หรือยาวไม่เกิน 500
"ผู้ที่มีสายตาสั้นหรือยาวมากๆ มักจะมีข้อจำกัดในการรักษา เพราะใส่แว่นตาก็ลำบากเนื่องจากเลนส์จะหนา และหนักมาก ใส่คอนแทคเลนส์ก็ไม่ได้เพราะหาเลนส์ได้ยาก หรือทำเลสิกก็ไม่ได้เนื่องจากมีข้อจำกัดเรื่องความหนาและความโค้งของกระจกตา เพราะการทำเลสิกต้องลอกผิวกระจกตาด้านนอกออก แล้วใช้เลเซอร์สลายกระจกตาด้านใน เพื่อเปลี่ยนความโค้งของกระจกตาให้ได้กำลังโฟกัสที่ต้องการ ซึ่งการเปลี่ยนความโค้งของกระจกตานี้จะมีขีดจำกัดในคนไข้ที่มีกระจกตาบางเกินไป หรือในผู้ที่มีความโค้งของกระจกตาน้อย ซึ่งจะมีผลทำให้การแก้ไขสายตาไม่ดีเท่าที่ควร ดังนั้น จักษุแพทย์จะไม่แนะนำวิธีเลสิกในผู้ที่มีสายตาสั้นหรือยาวมากๆ" นพ.นพรัตน์ กล่าวและยังเสริมว่า
"ในปัจจุบันวงการจักษุแพทย์ทั่วโลกได้มีการนำวิทยาการด้านการรักษาสายตาสั้น ยาว ด้วยวิธีการผ่าตัดใส่เลนส์เสริม (Phakic Intraocular Lens) เพื่อแก้ไขปัญหาสายตาผิดปกติในผู้ป่วยกลุ่มนี้ ซึ่งให้ความแม่นยำใกล้เคียงกับวิธีเลสิก คนไข้สามารถมองเห็นได้ใกล้เคียงกับธรรมชาติมาก และมีความปลอดภัยในระยะยาวพอๆ กับการทำเลสิก เพราะวิธีการใส่เลนส์เสริมเป็นการใส่เลนส์ที่มีกำลังโฟกัสพอดีเสริมเข้าไปภายใน ลูกตา โดยที่ไม่ต้องเอาเลนส์ตาจริงออก จึงทำให้เหมือนธรรมชาติที่สุด นอกจากนี้จักษุแพทย์ยังสามารถถอดออกได้ถ้ามีความผิดปกติเกิดขึ้น ขณะที่การทำเลสิกเป็นวิธีการรักษาแบบถาวร โดยการปรับความโค้งของกระจกตาเพื่อให้มีกำลังโฟกัสตามที่ต้องการ ซึ่งกระจกตาส่วนที่ถูกปรับแต่งไปนั้น แล้วจะไม่สามารถเปลี่ยนกลับคืนให้มาเหมือนเดิมได้"
ทั้งนี้ การผ่าตัดใส่เลนส์เสริมกำลังเป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลายในแถบยุโรป ส่วนในประเทศไทยได้มีการนำเลนส์เสริมมาใช้แล้วกว่า 2 ปี โดยนพ.นพรัตน์ สุจริตจันทร์ เป็นจักษุแพทย์ไทยที่ริเริ่มศึกษาและทำการรักษาด้วยวิธีนี้ จากประสบการณ์การผ่าตัดของ นพ.นพรัตน์ที่ได้ผ่าตัดใส่เลนส์เสริมให้กับผู้มีปัญหาด้านสายตากว่า 50 ดวงตาทั้งในคนไทยและชาวต่างชาติซึ่งเดินทางมารับการรักษาที่ประเทศไทย ผู้รับการผ่าตัดใส่เลนส์เสริมส่วนใหญ่มีอายุตั้งแต่ 22 ปี - 40 กว่าปี และมีปัญหาสายตาสั้นมากที่สุดคือ 2,500 และสายตาสั้นน้อยที่สุดคือ 700 ซึ่งทำเลสิกไม่ได้เพราะกระจกตาบางเกินไป
"วิธีการผ่าตัดใส่เลนส์เสริม คือการผ่าตัดเป็นแผลเล็กๆแล้วเอาเลนส์ชนิดพิเศษใส่เข้าไปภายในลูกตา โดยจะใช้เวลาในการผ่าตัดประมาณครึ่งชั่วโมง และหลังผ่าตัดคนไข้สามารถกลับบ้านได้ทันที แต่สิ่งที่ผู้รับการผ่าตัดต้องระมัดระวังเป็นพิเศษคือหลังการผ่าตัด 7 วันต้องไม่ขยี้ตา และถ้าเป็นโรคทางตาอย่างอื่น เราจะไม่แนะนำให้ทำ และการรักษาวิธีนี้จะเป็นแนวทางสุดท้ายที่แพทย์จะแนะนำหลังจากที่วิธีอื่นๆใช้ไม่ได้ผลแล้วเท่านั้น เนื่องจากค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง โดยสูงกว่าการทำเลสิกเล็กน้อย เพราะราคาเลนส์พิเศษนี้ค่อนข้างสูงและต้องนำเข้าจากต่างประเทศเท่านั้น" นพ.นพรัตน์กล่าวชนิดของเลนส์เสริมมี 3 ชนิด คือ ชนิดที่ 1. ใส่อยู่ระหว่างเลนส์ตากับม่านตา ซึ่งอาจมีโอกาสเกิดต้อกระจกได้ เพราะเลนส์จะไปเสียดสีกับเลนส์ตาที่อยู่ด้านหลังได้ ชนิดที่ 2. เกาะอยู่ที่มุมหน้าม่านตา ซึ่งอาจทำให้ม่านตาเบี้ยวและเกิดต้อหินได้ และชนิดที่ 3.เกาะอยู่ที่ม่านตา เรียกว่า อาร์ติสันเลนส์ (ARTISAN LENS) ที่มีขนาดเล็กและเบา ผลิตจากพลาสติกพิเศษชนิดเดียวกับที่ใช้ทำเลนส์เทียม (IOL) ซึ่งเป็นเลนส์เสริมที่จักษุแพทย์ทั่วโลกให้การยอมรับในด้านความปลอดภัยสูง และผลแทรกซ้อนน้อยเมื่อเทียบกับสองชนิดแรก และเป็นเลนส์ชนิดที่ใช้ในประเทศไทย โดยเลนส์ชนิดนี้สามารถรักษาสายตาสั้นได้ตั้งแต่ 500-2300 สายตายาว ตั้งแต่ 300-1200 และสายตาเอียงไม่เกิน 200
หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อ : คุณปองปรัชญ์ สุโรจนะเมธากุล
คุณบุษบา สุขบัติ
บริษัท พีอาร์ แอนด์ แอสโซซิเอส จำกัด
โทร. 0-2651-8989 ต่อ 330, 222
แฟกซ์ 0-2651-9649--จบ--
-อน-