กรุงเทพฯ--3 ก.ค.--เนคเทค
หลังจากที่เนคเทคได้จัดให้มีการสอบมาตรฐานวิชาชีพไอทีในประเทศไปแล้ว 2 ครั้งในปี 2544 โดยได้รับความร่วมมือจากประเทศญี่ปุ่น ปีนี้เนคเทคได้ลงนามความร่วมมือ MOU กับ JITEC ของประเทศญี่ปุ่น เพื่อเป็นหน่วยงานที่จัดสอบมาตรฐานวิชาชีพไอทีอย่างเต็มตัว
เนคเทค หรือ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็คทรอนิคส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ ได้ร่วมมือกับ Japan Information Processing Development Corporation (JIPDEC) ภายใต้การกำกับการดูแลของกระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรม (Ministry of Economy, Trade and Industry:METI) ประเทศญี่ปุ่น จัดสอบมาตรฐานวิชาชีพไอทีในประเทศไทย โดยได้ลงนามความร่วมมือ MOU (Memorandum of Understanding Regardinging Mutual Certification) ระหว่าง NECTEC/NSTDA และ The Japan Information Technology Engineers Examination Center (JITEC), Japan Information Processing หน่วยงานในกำกับของ JIPDEC
ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็คทรอนิคส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้จะส่งผลดีต่อประเทศไทยอันเป็นการแสดงถึงความร่วมมือ การรับรองมาตรฐานทักษะ และความสามารถบุคลากรด้านไอทีระหว่างประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น รวมถึงประเทศอื่นๆที่จะร่วมลงนามใน MOU ต่อไปในอนาคต
การสอบมาตรฐานวิชาชีพไอที หรือ Certificate ของเนคเทคได้มีการจัดสอบมาแล้ว 2 ครั้ง โดยการสอบครั้งที่ 1 เป็นการสอบวิชา Fundamental Information Technology Engineer เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2544 โดยมีผู้สอบผ่าน 12 คนจากผู้สมัครสอบ 535 คน คิดเป็น 2.5 เปอร์เซ็น การสอบครั้งนี้ใช้ภาษาอังกฤษในการสอบ ส่วนครั้งที่ 2 ได้จัดสอบในวิชาเดียวกัน เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2544 มีผู้สอบผ่าน 16 คน จากจำนวนผู้สมัครสอบ 203 คน หรือคิดเป็น 9.3 เปอร์เซ็น โดยการสอบครั้งนี้มีทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ สำหรับการสอบครั้งต่อไปจะจัดสอบในเดือนตุลาคม 2545 โดยในครั้งนี้จะเพิ่มวิชาที่จัดสอบเข้าไป 2 วิชา คือ Network System Professional และ Database System Professional
สำหรับด้านการเตรียมเนื้อหาข้อสอบ ดร.ทวีศักดิ์ กล่าวว่า ตัวข้อสอบที่นำมาจัดสอบนี้ได้มีการกำหนดเกณฑ์อ้างอิงที่ใช้กำหนดขอบเขตเพื่อจัดทำการสอบให้เป็นมาตรฐานของไทย โดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆทั้งภาครัฐและเอกชน เนคเทคได้ร่างมาตรฐานทักษะวิชาชีพไอที (Information Technology Professional Skill Standards:ITPSS) ซึ่งได้กำหนดหลักเกณฑ์อ้างอิงสำหรับนักวิชาชีพไอที (Information Technology Professional Examinations:ITPE) ที่ใช้ในการทดสอบความสามารถ ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ใช้ข้อสอบจากทางประเทศญี่ปุ่นในการสอบและได้นำข้อสอบมาปรับเข้ากับข้อสอบของไทย
สำหรับวัตถุประสงค์การ ผอ.เนคเทค กล่าวว่า เพื่อที่จะพัฒนาและผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพด้านเทคโนโลยีสารสนเทศให้เทียบเท่ามาตรฐานสากล ซึ่งความเป็นมาตรฐานสากลนี้เทียบตัวข้อสอบจากทางประเทศญี่ปุ่นเองและจากประเทศในแถบเอเชียแปซิฟิกที่เข้าร่วมโครงการ โดยนำข้อสอบจากประเทศต่างๆมาปรับให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน นอกจากนี้เพื่อเป็นการช่วยเหลือสถาบันการศึกษาให้มีแนวทางในการปรับปรุงหลักสูตรให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน โดยการสำรวจความต้องการจากทั้งภาคเอกชนและภาครัฐบาลว่าต้องการบุคลากรที่มีความรู้ในด้านใดแล้วนำผลสำรวจนั้นมาใช้เป็นข้อมูลในการจัดสอบ
" ที่ผ่านมา ทั้งภาคเอกชนและภาครัฐบาลได้ให้การตอบรับกับโครงการนี้อย่างดี โดยมีหลายหน่วยงานที่เข้าร่วมโครงการ เช่น สำนักงาน ก.พ. ทบวงมหาวิทยาลัย สมาคมธุกิจคอมพิวเตอร์ สมาคมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย สมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย สมาคมเครือข่ายสารสนเทศ เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย สามาคมส่งเสริมเทคโนโลยี(ไทย-ญี่ปุ่น) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าลาดกระบัง บริษัท สยามกูรู จำกัด บริษัท เทเลคอมเอเชีย คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ธนาคารไทยพานิชย์ และธนาคารนครหลวงไทย "
" การจัดสอบในครั้งนี้ไม่ได้เป็นการผลิตบุคลากรเพื่อรองรับบริษัทร่วมทุนญี่ปุ่น แต่เป็นการจัดสอบที่เป็นกลางโดยใช้มาตรฐานระดับชาติและไม่อิงกับชื่อหน่วยงาน ธุรกิจและ ผลิตภัณฑ์ใดๆ นอกจากนี้ไม่ได้เป็นการทำให้เงินของประเทศรั่วไหลออกสู่ประเทศแต่ทางกลับกัน ถ้าพนักงานในบริษัทแอบไปสอบกับต่างประเทศและสอบได้ มีการไปทำงานให้กับต่างประเทศ นั่นคือการทำให้เงินของประเทศรั่วไหล " ดร.ทวีศักด์ กล่าวสรุป--จบ--
-สส-