กรุงเทพฯ--18 ก.ค.--กทม.
นางสาวอรอนงค์ กาญจนชูศักดิ์ โฆษกสภากรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า เมื่อวานนี้ (17 ก.ค.45) เวลา 10.00 น. ที่ห้องประชุมสภากรุงเทพมหานครได้มีการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่ 1 (ครั้งที่ 3) ประจำปีพุทธศักราช 2545 โดยที่ประชุมได้มีการพิจารณาญัตติของนายอภิชาติ หาลำเจียก สมาชิกสภากรุงเทพมหานครเขตจตุจักร และนายกวี ณ ลำปาง สมาชิกสภากรุงเทพมหานครเขตพญาไท เรื่อง ขอให้กรุงเทพมหานครดำเนินการจัดตั้งโรงพยาบาลสัตว์กรุงเทพมหานครและจัดระเบียบความ เรียบร้อยในเรื่องสุนัขและแมวจรจัด
นายอภิชาติ กล่าวว่า ขณะนี้สุนัขจรจัดมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น กรุงเทพมหานครจึงควรมีนโยบายในการจำกัดจำนวนสุนัขจรจัดไม่ให้เพิ่มขึ้น โดยเร่งรัดดำเนินมาตรการทำหมันให้ทั่วพื้นที่กรุงเทพมหานคร และขอให้กรุงเทพมหานครดำเนินการจัดตั้ง “โรงพยาบาลสัตว์กรุงเทพมหานคร” เป็นหน่วยงานที่ให้การดูแลสุนัขจรจัดหลังจากได้รับการผ่าตัด และเป็นการช่วยลดอัตราการเสียชีวิตของสุนัข จรจัดด้วย
ด้านนายกวี กล่าวว่า ปัจจุบันกรุงเทพมหานครได้มีนโยบายทำหมันสุนัขและแมวจรจัดแล้วนำกลับมาถิ่นเดิม เพื่อเป็นการลดจำนวนสุนัขและแมวจรจัด แต่สุนัขและแมวจรจัดดังกล่าวได้ทำความสกปรกบนถนน ตรอก ซอย ที่สาธารณะ สร้างความเดือดร้อนรำคาญให้แก่ประชาชนและอาจก่อให้เกิดอันตรายจากโรคพิษสุนัขบ้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งทำให้บ้านเมืองไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย ดังนั้น จึงควรนำสุนัขหรือแมวจรจัดไปดูแลในที่ห่างไกลชุมชนหรือในต่างจังหวัด เพื่อไม่ให้ก่อปัญหาเสียงหรือกลิ่นรบกวนแก่ประชาชนผู้อยู่อาศัยใกล้เคียง รวมทั้งเป็นการแก้ปัญหาดังกล่าวข้างต้น เพราะหากจะใช้วิธีกำจัดจะเป็นการผิดศีลธรรม เพราะประเทศไทยเป็นเมืองพุทธ นอกจากนี้ขอให้กรุงเทพมหานครทำการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการจัดทำโครงการ ดังกล่าว โดยร่วมบริจาคที่ดิน ทรัพย์ หรืออาคาร เพื่อใช้ในการเลี้ยงดูสุนัขและแมวจรจัดต่อไป
นพ.ประพันธ์ กิติสิน รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ขณะนี้กรุงเทพมหานครได้มีการดำเนินโครงการรณรงค์ ทำหมันสุนัขจรจัด โดยร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน อาทิ กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สถานเสาวภา สภากาชาดไทย คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะสัตวแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีกรุงเทพมหานคร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สมาคมสัตวแพทย์ผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์แห่งประเทศไทย รณรงค์ผ่าตัดทำหมันและฝังไมโครชิพสุนัขจรจัด จำนวน 120,000 ตัวให้เสร็จภายใน 16 เดือน โดยแบ่งเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ตั้งแต่ 1 มิ.ย.-30 ก.ย.45 จำนวน 30,000 ตัว ระยะที่ 2 คือ 1 ต.ค.45- 30 ก.ย.46 จำนวน 90,000 ตัว ทั้งนี้ได้มีการติดตาม ดูแลสุนัขจรจัดที่ได้รับการผ่าตัดทำหมันอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้กรุงเทพมหานครยังได้มีการกำหนดข้อบัญญัติของกรุงเทพมหานคร เรื่อง การเลี้ยงสุนัข เพื่อเป็นการควบคุมไม่ให้สุนัขบ้านออกมาเพ่นพ่านในที่สาธารณะด้วย รวมทั้งทางกรุงเทพมหานครได้มีการประชุมหารือคณะอนุกรรมการฯ ที่ดูแลเกี่ยวกับการหามาตรการแก้ไขปัญหาสุนัขจรจัดทุกอาทิตย์
รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวต่อไปว่า กรุงเทพมหานครยังมีโครงการจัดหาสถานที่ให้สุนัขจรจัดอยู่ โดยขณะนี้กรุงเทพมหานครมีสถานที่ให้สุนัขพักอาศัย 2 แห่ง คือ ที่ดินแดง มีเนื้อที่ประมาณ 1 ไร่ ดูแลสุนัขได้ประมาณ 200 ตัว และที่ประเวศ มีเนื้อที่ประมาณ 13 ไร่ ดูแลสุนัขได้ประมาณ 800 ตัว แต่สถานที่ทั้ง 2 แห่งก็ยังไม่เพียงพอกับจำนวนสุนัขจรจัดที่เพิ่มขึ้นอย่าง รวดเร็ว กรุงเทพมหานครจึงจำเป็นต้องจัดหาสถานที่เพิ่มเติม ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการจัดหาสถานที่อยู่ นอกจากนี้ยังได้มีโครงการขอความร่วมมือจากกรมปศุสัตว์ และหน่วยงานภาครัฐที่จะหาพื้นที่ว่างในต่างจังหวัด อาทิ ชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ทำที่ดูแลสุนัขด้วย อย่างไรก็ดีในส่วนของโรงพยาบาลสัตว์ทางกรุงเทพมหานครจะรับไปพิจารณาต่อไป
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบกับญัตติดังกล่าว--จบ--
-นห-