นิทรรศการศิลปกรรม โดย เตยงาม ศรีสุบัติ 8 มิถุนายน - 6 กรกฎาคม 2545 ณ หอศิลปมหาวิทยาลัยกรุงเทพ

04 Jun 2002

กรุงเทพฯ--4 มิ.ย.--บางกอก พีอาร์

นิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกของเตยงาม ศรีสุบัติ เป็นส่วนหนึ่งของงานภาคปฏิบัติที่อยู่บนพื้นฐานของงานวิจัยที่เตยงามเริ่มเข้าศึกษาต่อที่ Chelsea College of Art & Design ตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. 2543 ศิลปินได้แรงบันดาลใจมาจากแนวคิดในเรื่องของ "เวลา" ที่เกิดขึ้นและมีอยู่ทั้งในฝั่งตะวันออกและตะวันตก นิทรรศการครั้งนี้จึงเป็นผลจากการที่ศิลปินผสมผสานแนวคิดทั้งสองแบบเข้าด้วยกัน โดยที่แนวความคิดแบบตะวันตกถูกนำมาใช้เพื่ออธิบายหรือขยายแนวความคิดในเรื่องของเวลาในบรรยากาศของตะวันออก ศิลปินต้องการเน้นว่า เวลาเป็นสิ่งที่ไม่สามารถถูกสรุปได้อย่างง่ายๆ เวลาเป็นสิ่งที่ซับซ้อนและยากที่จะให้ความหมายใดความหมายหนึ่งกับมันได้ และไม่จำเป็นเสมอไปที่เวลาจะต้องถูกนำเสนอด้วยรูปแบบเดิมๆ ที่คุ้นเคย เช่น นาฬิกา ปฏิทิน และการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล ฯลฯ ในนิทรรศการครั้งนี้ศิลปินได้สร้างรูปแบบการนำเสนอแนวคิดเรื่องเวลา ในรูปงานศิลปะที่เรียกว่า "ศิลปะแบบจัดวาง" มีงานทั้งสิ้น 3 ชิ้น โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

'time-scape' (2001-2002) ประกอบไปด้วยเสียงที่ศิลปินบันทึกจากสภาพแวดล้อมในกรุงเทพฯ ทั้งที่วุ่นวาย โกลาหล และสงบเงียบ ผลงานชิ้นนี้จะถูกติดตั้งในลิฟท์ 4 ตัว ในอาคารเดียวกับหอศิลปมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ความหลากหลายของเสียงเมื่อถูกใส่เข้ามาไว้ในลิฟท์ซึ่งเป็นพื้นที่ปิด หวังที่จะกระตุ้นให้คนใช้ลิฟท์นึกภาพและที่มาของเสียงที่มีอยู่จริงในความกว้างใหญ่ของเมืองกรุงเทพฯ

'container site' (2001-2002) ประกอบด้วย วิดีโอ เสียง และ การจัดวางในแบบสามมิติ ในวิดีโอแสดงภาพสบายๆ ของคนงานในโกดังขนส่งบริเวณคลองเตย ที่กำลังนั่งเอกเขนกหลังพักทานอาหารกลางวัน ภาพสาวยาคูลท์เดินผ่านและขายยาคูลท์ให้กับคนงานในช่วงเวลานี้ด้วยเช่นกัน ศิลปินได้แสดงภาพที่เกิดขึ้นในเวลาและพื้นที่จริงอย่างตรงไปตรงมา ในขณะที่ผลงานการจัดวางในแบบสามมิติในพื้นที่บริเวณเดียวกัน ถูกสร้างขึ้นอย่างจงใจให้มีลักษณะคล้ายกับพื้นที่จริงในโกดังขนส่ง อย่างไรก็ดี ศิลปินต้องการอุบส่วนที่สำคัญที่สุดของงานชิ้นนี้ไว้ และจะนำเสนอในวันเปิดงาน ซึ่งคือวันเสาร์ที่ 8 มิถุนายน 2545 เวลา 17.30-20.30 น.

'… and a real TV' (2001-2002) ประกอบด้วย วัตถุสามมิติ วิดีโอ และเสียง วัตถุสามมิติแสดงภาพถ่ายตึกแถวสไตล์อาณานิคมย่านบางลำพู ด้านหน้าของตึกแถวมีตู้โทรศัพท์สาธารณะที่มีโทรศัพท์ดังอยู่เป็นระยะๆ (โดยที่ไม่มีคนรับสาย) คนดูงานสามารถมองลอดช่องว่างที่ทะลุไปด้านหลังของตึกแต่ไม่สามารถมองเห็นจุดสิ้นสุดของพื้นที่ด้านหลังได้ ศิลปินได้ใช้เทคนิคในทางวิดีโอที่เรียกว่า scratches and hair ที่มีลักษณะเป็นเส้นที่วิ่งพาดจอหนังสมัยโบราณ ฉายลงไปบนตัวตึกแถวอีกที

อะไรจะเกิดขึ้น อะไรคือสารที่สำคัญของงานแสดงครั้งนี้ และผลงานทั้ง 3 ชิ้น (time-scape, container site, … and a real TV) สามารถแทนค่า "เวลา" ได้อย่างไร ศิลปินขอเชิญมาชมและร่วมพิสูจน์ …

ในโอกาสนี้ หอศิลปมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ขอเรียนเชิญท่านร่วมในพิธีเปิดนิทรรศการดังกล่าว ในวันเสาร์ที่ 8 มิถุนายน 2545 เวลา 17.30 น. โดย ดร. ธารทอง ทองสวัสดิ์ ให้เกียรติมาเป็นประธานในพิธี ณ หอศิลปมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ชั้น 3 อาคาร 9 มหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กล้วยน้ำไท) ถนนพระราม 4 คลองเตย กรุงเทพฯ 10110 นิทรรศการจะจัดแสดงไปจนถึงวันเสาร์ที่ 6 กรกฎาคม 2545 (ทุกวันอังคาร-วันเสาร์ ระหว่างเวลา 9.30-19.00 น.)

ในส่วนโครงการการศึกษา หอศิลปฯ ได้เชิญศิลปินมาพูดคุยและซักถามถึงผลงานในวันพุธที่ 26 มิถุนายน เวลา 15.00-16.00 น. ณ หอศิลปมหาวิทยาลัยกรุงเทพ สำรองที่นั่งได้ที่ 0-2671 7526 หรือแฟกซ์ 0-2240 1819--จบ--

-อน-