กรุงเทพฯ--5 มิ.ย.--สศช.
วันนี้ (30 พฤษภาคม 2545) รัฐบาลไทยและธนาคารโลก ได้ร่วมกันจัดงานเปิดตัวโครงการความร่วมมือเพื่อการพัฒนาประเทศด้านความยากจนอย่างเป็นทางการ (The Country Development Partnership on Poverty : CDP-P) ซึ่งโครงการดังกล่าว เป็นโครงการที่ให้ความช่วยเหลือรัฐบาลไทยในการดำเนินงานให้สามารถบรรลุเป้าหมายของการลดจำนวนคนจนลงเป็นจำนวน 1.5 ล้านคนภายในปี พ.ศ. 2549
ในการเปิดตัวโครงการฯ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายแพทย์กระแส ชนะวงศ์) ได้กล่าวเปิดงานและปาฐกถาพิเศษต่อผู้เข้าร่วมงานมากกว่า 100 คน ซึ่งประกอบด้วย ผู้แทนจากภาครัฐ นักวิชาการ ผู้แทนจากภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และองค์กรระหว่างประเทศ โดยมีใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า วิกฤตเศรษฐกิจ ทำให้ประเทศไทยไม่ประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาความยากจน นอกจากนี้ ยังกล่าวอีกว่า ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 (พ.ศ.2545-2549) รัฐบาลไทยได้ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาความยากจนเป็นอย่างมาก
แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9 มีเป้าหมายที่ชัดเจนในการลดอัตราความยากจนจากร้อยละ 14.5 ใน ปี พ.ศ.2543 เหลือน้อยกว่าร้อยละ 12 ในปี 2549 โดยรัฐบลไทยได้กำหนดยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาความยากจน เพื่อมุ่งให้เกิดผลในทางปฏิบัติ ซึ่งประกอบด้วย 5 ยุทธศาสตร์ย่อย ได้แก่ ยุทธศาสตร์การส่งเสริมนโยบายเศรษฐกิจมหภาพให้เอื้อต่อการแก้ไขปัญหาความยากจน ยุทธศาสตร์การเพิ่มศักยภาพและโอกาสของคนจน ยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบคุ้มครอง ทางสังคมและผู้ด้อยโอกาส ยุทธศาสตร์การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และยุทธศาสตร์การปรับปรุงระบบบริหารภาครัฐเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน
โครงการ CDP-P เป็นโครงการความร่วมมือระหว่างสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และธนาคารโลกที่ให้เงินช่วยเหลือแบบให้เปล่า จำนวน 800,000 เหรียญสหรัฐ ซึ่งมีระยะเวลาดำเนินงานต่อเนื่อง 3 ปี โดยในปีแรกเน้นการให้ความช่วยเหลือทางวิชาการ ความร่วมมือในการดำเนินงานยังครอบคลุมถึงหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานสถิติแห่งชาติ มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย และองค์กรระหว่างประเทศ
เลขาธิการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช) ได้แสดงปาฐกถาในแง่มุมของการเปลี่ยนแปลงกลไกในเรื่องความยากจน โดยใจความสำคัญตอนหนึ่งได้มุ่งเน้นถึงการพัฒนาว่า ชุมชนมีส่วนสำคัญต่อการดำเนินกิจกรรมในการพัฒนาซึ่งต้องอาศัยการสนับสนุนและความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
Mr.Nicholas Stern หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ และรองประธานอาวุโสของธนาคารโลก กล่าวถึงโครงการความร่วมมือนี้ว่า เป็นการริเริ่มกรอบแนวทางการแก้ไขปัญหาความยากจน ในประทเศไทยได้อย่างดียิ่ง นอกจากนี้ ยังเน้นว่า ความสำเร็จในการลดปัญหาความยากจน ในประเทศไทยให้น้อยกว่าร้อยละ 14.5 ของคนยากจนในประเทศ ขึ้นอยู่กับความสำเร็จของโครงการความร่วมมือที่อยู่ระหว่างการดำเนินงาน 3 โครงการ ได้แก่ โครงการความร่วมมือระหว่างประเทศด้านการคุ้มครองทางสังคม ด้านการเพิ่มขีดความสามารถของประเทศ และด้านการบริหารจัดการที่ดี โดยมีใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า
การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ จะช่วยลดต้นทุนในตลาดซึ่งคนจนเป็นผู้บริโภค และยังช่วยสร้างโอกาสในตลาดที่คนจนเป็นผู้ขายและผู้ผลิต ในขณะที่ การบริหารจัดการที่ดี จะช่วยพัฒนาช่องทางการเข้าสู่บริการทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้การพัฒนาการจัดสรรทรัพยากร ที่มีเป้าหมายในการช่วยเหลือคนจน จะส่งผลต่อการสร้างความเข้มแข็ง และการลงทุนของคนไทย
โครงการ CDP-P ประกอบด้วยแผนงานหลัก 4 แผนงาน ดังต่อไปนี้
- การปรับปรุงระบบข้อมูลที่เกี่ยวกับความยากจน ฐานข้อมูลที่มีความครอบคลุมเป็นปัจจุบันจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการพัฒนาและติด ตามผลการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ กิจกรรมหลักประกอบด้วย การออกแบบและจัดทำแผนที่ความยากจน การประสานระบบข้อมูล ระดับชุมชน การจัดทำข้อมูลที่จัดเก็บได้จากกลุ่มตัวอย่างเดิมในช่วงระยะเวลาหนึ่ง เกี่ยวกับมาตรฐานการครองชีพของครัวเรือน
- การวัดและการวิเคราะห์เกี่ยวกับปัญหาความยากจน ความไม่เท่าเทียมกันและความเสี่ยงต่อความยากจน การสร้างองค์ความรู้และ เพิ่มทักษะในการวัดและวิเคราะห์ปัญหาความยากจน ความไม่เท่าเทียมกันและความเสี่ยงต่อความยากจน จะสนับสนุนความพยายามของรัฐบาลในการติดตามการเปลี่ยนแปลงมาตรฐานการดำรงชีพของคนจน กิจกรรมหลักประกอบด้วยกระบวนการเพิ่มทักษะทางด้านเทคนิค และองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับความยากจน การวิจัยเชิงนโยบายและเสนอแนะแนวทางเพื่อเข้าใจถึงสาเหตุและรูปแบบของปัญหาความยากจนในมิติต่างๆ
- การจัดทำยุทธศาสตร์แก้ไขปัญหาความยากจน วัตถุประสงค์ของการวัดและวิเคราะห์ปัญหาความยากจนก็เพื่อการจัดทำนโยบายที่มีประ สิทธิผลมากยิ่งขึ้น โดยการใช้ประโยชน์จากผลที่ได้รับจากแผนงานอื่นๆ กิจกรรมหลักประกอบด้วย การพิจารณาว่ากิจกรรมใดช่วยบรรเทาปัญหาความยากจนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยตระหนักถึงข้อจำกัดทางด้านการบริหารจัดการของสถาบันและงบประมาณ
- การจัดทำระบบติดตามและตรวจสอบมาตรการต่างๆ และการประเมินผลกระทบทางด้านความยากจนจากโครงการต่างๆ ความเข้า ใจถึงสาเหตุและรูปแบบของความยากจน จะช่วยให้รัฐบาลสามารถกำหนดนโยบายที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น กิจกรรมหลักประกอบด้วย การปรับปรุงทักษะในการประเมินผลกระทบต่อความยากจนจากการดำเนินโครงการและนโยบายต่างๆ การจัดทำการประเมินผลกระทบจากโครงการและนโยบายต่างๆ ต่อความยากจน โดยการกำหนดตัวชี้วัดเพื่อติดตามการแปลงยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาความยากจน 5 ยุทธศาสตร์หลักไปสู่การปฏิบัติ และการตรวจสอบการเข้าร่วมของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อประโยชน์ต่อการบูรณาการในการแก้ไขปัญหา--จบ--
-อน-