กรุงเทพฯ--13 มิ.ย.--กทม.
นางผ่องลักษณ์ วาสิกศิริ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาชุมชน กทม.เปิดเผยว่า กรุงเทพมหานครมีนโยบายด้านการพัฒนาอาชีพและรายได้แก่ประชาชนทั่วไปในพื้นที่ กทม. โดยมีโรงเรียนฝึกอาชีพ กทม.จำนวน 10 แห่ง ในสังกัดของสำนักพัฒนาชุมชน ให้บริการส่งเสริมและสนับสนุนการเรียนวิชาชีพต่าง ๆ กว่า 40 สาขาวิชา เพื่อให้นำไปประกอบอาชีพสร้างรายได้เลี้ยงตนเองและครอบครัว ซึ่งในแต่ละปีมีผู้จบการศึกษาทั้งภาคปกติและภาคค่ำกว่า 15,000 คน อย่างไรก็ดีเพื่อยกระดับคุณภาพมาตรฐาน หลักสูตรการเรียนการสอนให้มีความทันสมัย ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา สนช.จึงได้นำคณะออกนิเทศและเยี่ยมโรงเรียนฝึกอาชีพกทม.ทั้ง 10 แห่ง เพื่อชี้แจงถึงนโยบายของผู้บริหาร กทม. และประชุมปรึกษาหารือร่วมกัน รวมถึงรับทราบปัญหา อุปสรรคต่าง ๆ ที่คณะผู้บริหารโรงเรียนและอาจารย์ผู้สอนกำลังประสบอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการบริหารจัดการ, การเรียนการสอน, งบประมาณ และบุคลากร เป็นต้น ที่ผ่านมาได้ออกเยี่ยมแล้ว 6 โรงเรียน ได้แก่ หนองจอก, กาญจนสิงหาสน์ฯ, ม้วน บำรุงศิลป์, บ่อนไก่, ดินแดง 1 และหลวงพ่อทวีศักดิ์ฯ
ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาชุมชน กล่าวต่อไปว่า หลังจากการออกเยี่ยมโรงเรียนฝึกอาชีพ กทม.ครบทั้ง 10 แห่ง สนช.จะนำอาจารย์ผู้สอนแต่ละวิชาชีพมาประชุมสัมมนาร่วมกันเพื่อปรับปรุงและพัฒนาหลักสูตรให้มีความทันสมัย ได้คุณภาพเป็นมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งจะทำให้ผู้เรียนสามารถเรียนที่โรงเรียนใดก็ได้ ขณะนี้ได้ร่วมกับกรมการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) เปิดหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) รุ่นที่ 1 ได้แก่ หมวดวิชาอุตสาหกรรม (สาขาช่างยนต์และช่างอิเล็กทรอนิกส์) และหมวดวิชา คหกรรมสาขาคหกรรมผ้าและเครื่องแต่งกายเพื่อให้นักเรียนขยายโอกาสของกทม.ที่เรียนจบมัธยมศึกษาปีที่ 3 แต่ไม่มีโอกาสเรียน ต่อในสายสามัญ ได้เรียนต่อในสายวิชาชีพ และจะได้ร่วมกับกรมอาชีวศึกษาปรับปรุงและพัฒนาหลักสูตรวิชาชีพสำหรับผู้เรียนที่ ไม่จำกัดวุฒิการศึกษา ให้เทียบเท่าหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ 2545 ของกรมอาชีวศึกษา ซึ่งมุ่งเน้นการเรียนการสอน ภาคปฏิบัติมากยิ่งขึ้น เพื่อให้ผู้เรียนได้ฝึกทักษะ ความชำนาญของตนอย่างแท้จริง--จบ--
-นห-