กรุงเทพฯ--27 ส.ค.--กทม.
เมื่อวานนี้ (26 ส.ค.45) เวลา 11.00 น. ที่ห้องรับรองกรุงเทพมหานคร นายนิคม ไวรัชพานิช ผู้อำนวยการสำนักผังเมือง กทม. พร้อมด้วย นายชิตชนก เขมาวุฒานนท์ รองผู้อำนวยการสำนักผังเมือง ร่วมแถลงข่าว เรื่อง การปรับปรุงป้อมมหากาฬ และการ ปรับปรุงฟื้นฟูชายทะเลบางขุนเทียนปรุงปรุงภูมิทัศน์ป้อมมหากาฬสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม
ผู้อำนวยการสำนักผังเมือง กล่าวว่า กรุงเทพมหานครได้จัดโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณป้อมมหากาฬและกำแพงเมือง ที่ตั้งอยู่ริมถนนราชดำเนินกลาง ช่วงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการตามแผนแม่บทในการดำเนินงานอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์เพื่อพัฒนาและฟื้นฟูพื้นที่ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์รอบเกาะรัตนโกสินทร์ เป็นการอนุรักษ์โบราณสถานประเภทป้อม ซึ่งปัจจุบันเหลืออยู่เพียง 2 แห่ง ในจำนวนทั้งหมด 14 ป้อมที่สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) ทั้งนี้การปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณป้อมมหากาฬใช้แนวคิดหลักของการเปิดมุมมองโบราณสถานในพื้นที่ให้มีความโดดเด่นและสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม หลีกเลี่ยงการก่อสร้างอาคารหรือสิ่งก่อสร้างอื่นๆ รวมทั้งปรับปรุงสภาพแวดล้อมโดยรอบให้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ ศึกษาหาความรู้ทางประวัติศาสตร์ เป็นพื้นที่นันทนาการประกอบกิจกรรม การละเล่นทางวัฒนธรรม ตลอดจนเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นเอกลักษณ์ของกรุงรัตนโกสินทร์ เช่นเดียวกับบริเวณป้อมพระสุเมรุ และสวนสันติชัยปราการริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาที่ได้รับการปรับปรุงเป็นสวนสาธารณะที่มีความสวยงาม และสร้างบรรยากาศร่มรื่นให้กับชุมชนย่านถนนพระอาทิตย์ได้เป็นอย่างมาก
ซึ่งหากการดำเนินการปรับปรุงแล้วเสร็จจะสามารถเชื่อมโยงบริเวณป้อมมหากาฬสู่บริเวณสถานที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ ลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ วัดราชนัดดา โลหะปราสาท วัดเทพธิดาราม ภูเขาทอง วัดสุทัศน์เทพวราราม เสาชิงช้า แพร่งนรา แพร่งภูธร และแพร่งสรรพศาสตร์สำหรับโครงการปรับปรุงและบูรณะที่ดินบริเวณป้อมมหากาฬ เพื่อจัดทำสวนสาธารณะและอนุรักษ์โบราณสถานของชาติได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2502 มีที่ดินทั้งสิ้นจำนวน 21 แปลง รวมเป็นพื้นที่ประมาณ 5 ไร่ ประกอบด้วย อาคารสิ่งปลูกสร้างภายในป้อมมหากาฬจำนวน 102 หลัง แบ่งเป็น ชุมชน และส่วนที่เป็นผู้ค้าสัตว์เลี้ยง ค้าของเก่า ประทัด ดอกไม้ไฟ และอู่ซ่อมรถยนต์ ซึ่งปัจจุบันได้ดำเนินการรื้อย้ายผู้ค้าออกจากพื้นที่ได้ทั้งหมด ยังเหลือเพียงชุมชนพักอาศัยอีก 77 หลังคาเรือน ซึ่งจะต้องดำเนินการรื้อย้ายต่อไป เนื่องจากได้มีการจ่ายและวางเงินค่าทดแทนตามขั้นตอนของกฎหมายเวนคืนครบถ้วนแล้ว
ส่วนผู้ที่บุกรุกภายหลังประกาศใช้พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินให้บริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่ แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร พ.ศ.2535 ถือเป็นผู้ไม่มีสิทธิ์ได้รับเงินค่าทดแทน ซึ่งจะต้องรื้อย้ายออกเช่นกัน ทั้งนี้กรุงเทพมหานครได้เตรียมให้ความช่วยเหลือด้านสถานที่สำหรับประกอบการ อาทิ ตลาดนัดจตุจักร 2 และสนามหลวง 2 รวมทั้งพื้นที่เพื่อการพักอาศัย โดยจะขอความร่วมมือจากการเคหะแห่งชาติเพื่อรองรับประชาชนดังกล่าวด้วย
ฟื้นฟูชายฝั่งทะเลบางขุนเทียนควบคู่กับการแก้ปัญหาน้ำกัดเซาะชายฝั่ง
ชายทะเลบางขุนเทียนเป็นพื้นที่แห่งเดียวของกรุงเทพมหานครที่ติดทะเล และมีป่าชายเลนซึ่งมีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ ที่มีความสำคัญ แต่ปัจจุบันพื้นที่ดังกล่าวเกิดปัญหาการกัดเซาะอย่างรุนแรงตลอดแนวชายฝั่ง ทั้งนี้หน่วยงานต่างๆ ได้ร่วมการศึกษาหาแนวทางการป้องกันพื้นที่ดังกล่าวอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด แต่ไม่สามารถระงับการพังทลายซึ่งเกิดจากการกัดเซาะของกระแสน้ำได้ เป็นเพียงการชะลอความเสียหายบางส่วนเท่านั้น ดังนั้นกรุงเทพมหานครจึงได้จัดประชุมสัมมนาเพื่อพิจารณาหาแนวทางในการอนุรักษ์ปรับปรุงฟื้นฟูสภาพพื้นที่ป่าชายเลนควบคู่กับการแก้ไขปัญหาน้ำกัดเซาะชายฝั่ง โดยการก่อสร้างทางเดินศึกษาธรรมชาติและทางจักรยาน
การก่อสร้างทางเดินไม้ยกระดับในแนวป่าโกงกางถึงชายฝั่งทะเลเพื่อเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชน รวมทั้งการปลูกป่าในแนวบนด้านในลึกเข้ามา ตลอดจนพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ โดยแบ่งเป็น 2 ระยะ ดังนี้ 1.แนวทางการดำเนินงานระยะสั้น โดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการสร้างแนวป้องกันคลื่น หรือสร้างปะการังเทียมตามแบบของกลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่ง ต.บางแก้ว จ.สมุทรปราการ ผนวกกับแนวกันคลื่นที่มีอยู่เดิมโดยการทิ้งหิน ซึ่งได้ดำเนินการไว้แล้ว เนื่องจากการทิ้งหินยังมีความจำเป็นในการช่วยลดกระแสคลื่นได้ และปลูกป่าชายเลนบริเวณพื้นที่ด้านในให้มากขึ้น รวมทั้งสนับสนุนโครงการที่เกี่ยวกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมชายฝั่ง สถานที่พักผ่อนหย่อนใจ สถานที่ท่องเที่ยว โดยให้ชุมชนในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมเป็นแกนนำในการดำเนินการ ตลอดจนสนับสนุนกิจกรรมเศรษฐกิจชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาชีพการประมง เช่น การเพาะเลี้ยงกุ้งตามวิธีทางธรรมชาติ การเพาะเลี้ยงหอยแมลงภู่ หอยแครง ปู และส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ 2.การดำเนินงานระยะยาว จากผลการศึกษาของหน่วยงานต่างๆ ประกอบด้วย การศึกษาของกลุ่มที่ปรึกษาจากประเทศเนเธอแลนด์ กรมป่าไม้ ไจก้า กรมเจ้าท่า และกรุงเทพมหานคร ได้ผลสรุปว่า ให้ดำเนินการก่อสร้างรอดักตะกอนหรือเขื่อนป้องกันคลื่นน้ำ หรือสิ่งก่อสร้างอื่นๆ ซึ่งเป็นโครงสร้างที่น้ำสามารถซึมผ่านและสอดคล้องกับภูมิปัญญาท้องถิ่นในการสร้างแนวป้องกันคลื่นหรือการสร้างปะการังเทียม ซึ่งแผนระยะยาวเพื่อปรับปรุงฟื้นฟู ดังกล่าวใช้งบประมาณจำนวนมาก ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาต่อไป
สำหรับการทิ้งหินยังมีความจำเป็นเนื่องจากมีส่วนช่วยในการลดกระแสคลื่นได้ และเปรียบเสมือนการสร้างปะการังเทียมโดยไม่จำเป็นต้องถมให้พ้นจากผิวน้ำ รวมถึงการประกอบอาชีพประมงในบริเวณดังกล่าว มีส่วนช่วยลดความแรงของคลื่นด้วย--จบ--
-นห-