กรุงเทพฯ--17 ก.ย.--กทม.
เมื่อวานนี้ (16 ก.ย.45) เวลา 11.00 น. ที่ห้องรับรองกรุงเทพมหานคร ศาลาว่าการกทม. ร.ต.ต.เกรียงศักดิ์ โลหะชาละ ปลัดกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นายสนั่น โตทอง รองปลัดกรุงเทพมหานคร และนายชาตินัย เนาวภูต ผู้อำนวยการกองออกแบบ สำนักการโยธา ร่วมแถลงข่าว "พบกันจันทร์ละหน คนกับข่าว" ครั้งที่ 59 เรื่อง พิธีเปิดสะพานพระราม 8
เสด็จพระราชดำเนินทรงกดปุ่มเปิดสะพานพระราม 8 วันที่ 20 ก.ย.นี้
ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า หลังจากที่กรุงเทพมหานครได้ทดลองเปิดใช้สะพานพระราม 8 ตั้งแต่วันที่ 7 พฤษภาคม 2545 เป็นต้นมา ขณะนี้สะพานพระราม 8 พร้อมเปิดให้บริการแก่ประชาชนอย่างเป็นทางการแล้ว โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะเสด็จพระราชดำเนินมาทรงกดปุ่มเปิดสะพานพระราม 8 ในวันศุกร์ที่ 20 กันยายน 2545 นี้ โดยมีฤกษ์พิธีเปิดในช่วงเวลา 17.19 -17.49 น.
สำหรับกำหนดการเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดสะพานพระราม 8 นั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะเสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งมาถึงพลับพลาพิธีบริเวณเชิงลาดสะพานพระราม 8 ฝั่งพระนคร เวลา 17.15 น. โดยมี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรนายกรัฐมนตรี นายสมัคร สุนทรเวช ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร.ต.ต.เกรียงศักดิ์ โลหะชาละ ปลัดกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย ประธานสภากรุงเทพมหานคร รองประธานสภากรุงเทพมหานคร สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ เฝ้าฯรับเสด็จฯ ในวาระดังกล่าว ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหาจะเข้าเฝ้าฯทูลเกล้าฯถวายของที่ระลึก ซึ่งเป็นหุ่นจำลองของสะพานพระราม 8 ที่ทำด้วยทองคำ มีขนาดกว้าง 25 ซม. ยาว 75 ซม. และสูง 23 ซม.
ปลัดกรุงเทพมหานครจะเข้าเฝ้าฯทูลเกล้าฯถวายหนังสือที่ระลึกที่กรุงเทพมหานครจัดทำขึ้นเป็นพิเศษสำหรับพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ จากนั้น ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี กราบบังคมทูลรายงานการดำเนินงานโครงการแก้ไขปัญหาการจราจรในกรุงเทพมหานครตามแนวพระราชดำริ และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กราบบังคมทูลรายงานการก่อสร้างสะพานพระราม 8 และเชิญเสด็จฯ ทรงประกอบพิธีเปิด โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จฯไปยังแท่น เพื่อทรงกดปุ่มไฟฟ้าเปิดสะพานพระราม 8 หลังจากนั้นจะทรงพระราชทานของที่ระลึกแก่ผู้ทำคุณประโยชน์ในการก่อสร้างโครงการสะพานพระราม 8 จำนวน 15 ราย โอกาสนี้จะทรงลงพระปรมาภิไธยในแผ่นศิลา และเสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งข้ามสะพานฯไปยังเชิงสะพานริมน้ำฝั่งธนบุรี เพื่อทอดพระเนตรนิทรรศการและโครงการตามแนวพระราชดำริ ก่อนจะเสด็จฯกลับ เวลาประมาณ 18.30 น.
จัดแสดงนิทรรศการเทิดพระเกียรติรัชกาลที่ 8 พร้อมตกแต่งสะพานด้วยดวงไฟอย่างสวยงามตระการตา ในวันเปิด
ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวต่อไปว่า เนื่องในวันพิธีเปิดสะพานพระราม 8 ตรงกับวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ที่บริเวณใต้เชิงสะพานฯฝั่งธนบุรีซึ่งกรุงเทพมหานครจะจัดสร้างเป็นสวนสาธารณะ ต่อไปนั้น จะมีการจัดนิทรรศการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ฉลองราชธานี 220 ปี กรุงรัตนโกสินทร์ โดยจะจัดแสดงนิทรรศการพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจที่ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อประเทศชาติและประชาชนชาวไทย รวมทั้งนิทรรศการแสดงโมเดลของสวนสาธารณะใต้สะพานพระราม 8 ซึ่งกรุงเทพมหานครจะจัดสร้างเพื่อเทิดพระเกียรติรัชกาลที่ 8 นอกจากนี้กรุงเทพมหานครยังได้ร่วมกับหลายหน่วยงาน อาทิ กรมทางหลวง สำนักงานคณะกรรมการจัดการจราจรทางบก (สจร.) จัดนิทรรศการการแก้ไขปัญหาจราจรตามโครงการพระราชดำริ และร่วมกับกรมชลประทานจัดนิทรรศการการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมตามโครงการพระราชดำริ ในบริเวณเดียวกันนี้ด้วย
ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวอีกว่า ขณะนี้กรุงเทพมหานครและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันเตรียมการสำหรับพิธีเปิดสะพานฯ โดยมีการประชุมหารือกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การเปิดสะพานพระราม 8 มีความเรียบร้อยสมบูรณ์ และสมพระเกียรติ ซึ่งในวันนี้ (17 ก.ย.) จะเชิญสื่อมวลชนไปดูสถานที่ และซ้อมใหญ่พิธีเปิดในวันพุธที่ 18 ก.ย.45 ก่อนจะตรวจดูความพร้อมทุกด้าน อีกครั้ง ในวันที่ 19 ก.ย. 45 เพื่อให้งานนี้มีความสมบูรณ์ที่สุด ทั้งนี้จะมีการตกแต่งไฟเพื่อเพิ่มความโดดเด่นสวยงามให้แก่สะพานฯมากยิ่งขึ้นในวันพิธีเปิด จนถึงวันที่ 22 ก.ย.45 รวม 3 วัน และมีการถ่ายทอดสดโดยโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ซึ่งมีไอทีวีเป็นแม่ข่ายแพร่สัญญาณไปทุกช่อง ในช่วงเวลา 17.00-18.30 น.
สะพานพระราม 8 จุดต่อเชื่อมโครงการจตุรทิศตะวันตก-ออก เพื่อแก้ไขปัญหาจราจรตามพระราชดำริ
ด้านรองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวด้วยว่า โครงการสะพานพระราม 8 เป็นหนึ่งในโครงการจตุรทิศเพื่อแก้ไขปัญหาจราจรอันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งได้ทรงตระหนักถึงความคับคั่งของการจราจรบนสะพานสมเด็จ พระปิ่นเกล้า ที่จะมีปริมาณเพิ่มขึ้นในอนาคต อีกทั้งปัญหาการจราจรในกรุงเทพฯ ระหว่างพื้นที่ฝั่งพระนครกับฝั่งธนบุรียังขาดการเชื่อมต่อที่เพียงพอ ทำให้เกิดการคับคั่งของการจราจรบริเวณพื้นที่ด้านตะวันออก โดยเฉพาะกรุงเทพฯ ชั้นในบริเวณถนนราชดำเนินกลาง ซึ่งเชื่อมต่อกับฝั่งธนบุรีโดยผ่านสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า และถนนจรัญสนิทวงศ์ซึ่งเป็นถนนสายหลักเส้นหนึ่งของฝั่งธนบุรีที่มีปริมาณการจราจรเป็นจำนวนมาก ดังนั้น เพื่อคลี่คลายปัญหาการจราจรในบริเวณดังกล่าว และบริเวณใกล้เคียง รวมทั้งเพื่อต่อเชื่อมโครงการจตุรทิศตะวันตก-ตะวันออก ในส่วนที่ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงทรงมีพระราชดำริ เมื่อปี 2538 ให้กรุงเทพมหานครพิจารณาก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มขึ้นอีก 1 แห่ง กรุงเทพมหานครได้สนองพระมหากรุณาธิคุณดำเนินการตามพระราชดำริ จึงได้พิจารณาก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ณ บริเวณโรงงานสุราบางยี่ขันบรรจบกับปลายถนนวิสุทธิกษัตริย์ ใกล้ธนาคารแห่งประเทศไทย โดยใช้ชื่อว่า "โครงการสะพานพระราม 8" ซึ่งเป็นชื่อพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อระลึกถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8
เนื้องานสะพานพระราม 8 โดยสรุป
กรุงเทพมหานครได้ศึกษาความเหมาะสมของโครงการ และได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้ดำเนินการโครงการ อันเนื่องมาจากพระราชดำริดังกล่าว โดยกำหนดลักษณะโครงการ ประกอบด้วย การก่อสร้างทางแยกต่างระดับเชื่อมถนนคู่ขนานลอยฟ้า (พระ)บรมราชชนนี ทางยกระดับและถนนระดับพื้นราบด้านฝั่งธนบุรี การก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งใหม่ และการก่อสร้างทางยกระดับด้านฝั่งพระนคร โดยใช้งบประมาณเงินอุดหนุนจากรัฐบาลร้อยละ 70 และเงินงบประมาณของกรุงเทพมหานคร ร้อยละ 30
การก่อสร้างโครงการสะพานพระราม 8 แบ่งการก่อสร้างเป็น 2 ตอน คือ ตอนที่ 1 จากคลองบางยี่ขันบรรจบโครงการทางคู่ขนานลอยฟ้าถนน(พระ)บรมราชนนนี และ ตอนที่ 2 จากถนนวิสุทธิกษัตริย์ถึงคลองบางยี่ขันเป็นสะพานข้ามแม่น้ำและทางยกระดับ โดยทั้ง 2 ตอน แยกทำสัญญาในการดำเนินโครงการ รวมค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างทั้งหมด 3,427 ล้านบาท ปัจจุบันโครงการสะพานพระราม 8 ทั้ง 2 ตอนได้เปิดใช้เส้นทางแล้ว โดย ตอนที่ 1 เปิดใช้เส้นทาง เมื่อวันที่ 31 ธ.ค. 42 ส่วนตอนที่ 2 เปิดใช้เส้นทาง เมื่อวันที่ 7 พ.ค.45 ยังไม่รวมทางขึ้นลงที่บางยี่ขัน ซึ่งการเปิดการจราจรทั้ง 2 ส่วน จะสมบูรณ์แบบพร้อมทางขึ้น-ลง ที่บางยี่ขัน ในวันที่ 20 ก.ย.นี้
การจราจรในถนนราชดำเนินและสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าคล่องตัวขึ้นหลังเปิดใช้สะพานพระราม 8
รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวต่อไปว่า หลังจากที่มีการเปิดใช้เส้นทางสะพานพระราม 8 ตั้งแต่วันที่ 7 พ.ค. เป็นต้นมา สามารถคลี่คลายปัญหาการจราจรโดยเฉพาะบริเวณสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า และถนนราชดำเนิน ได้อย่างมาก โดยเฉลี่ยแล้วมีรถใช้สะพานนี้ประมาณวันละ 45,000 คัน ส่วนใหญ่เป็นรถที่ออกนอกเมืองและเข้าเมือง และยังทำให้โครงการจตุรทิศตะวันตก-ตะวันออกมีความสมบูรณ์ครบถ้วน เนื่องจากสะพานแห่งนี้เป็นจุดเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างฝั่งตะวันตกที่เริ่มจากถนนคู่ขนานลอยฟ้า(พระ)บรมราชชนนี ถนนสมเด็จพระปิ่นเกล้า ถนนบรมราชนนี ไปยังฝั่งตะวันออกซึ่งเริ่มจากถนนราชดำเนินนอก ถนนศรีอยุธยา ถนนเลียบบึงมักกะสัน ถนนเลียบคลองบางกะปิ ถนนพระราม 9 และสะพานข้ามทางแยกถนนรามคำแหง-ถนนพระราม 9 เข้าสู่ถนนพระราม 9 ตัดใหม่ ต่อไปจนถึงถนนกรุงเทพ-ชลบุรี
สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งแรกที่ออกแบบให้มีเอกลักษณ์พิเศษด้านความสวยงามควบคู่กับประโยชน์ใช้สอย
ผู้อำนวยการสำนักการโยธา กล่าวเสริมว่า สำหรับตัวสะพานพระราม 8 มีการออกแบบก่อสร้างเป็นสะพานขึงแบบอสมมาตร มีเสาสะพานหลักเสาเดียวอยู่บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งธนบุรี และใช้สายเคเบิลขึง 2 ระนาบ จำนวน 28 คู่ ขึงยึดรั้งพื้นสะพานช่วงข้ามแม่น้ำ ความยาว 300 เมตร โดยปราศจากเสาตอม่อในแม่น้ำ และใช้สายเคเบิลอีก 1 ระนาบ จำนวน 28 เคเบิล ขึงยึดรั้งเสาสะพานกับแท่นสมอสะพานช่วงบนบกด้านฝั่งธนบุรี ซึ่งมีความยาวแท่นสมอ 75 เมตร และระหว่างสมอกับเสาสะพานหลัก มีโครงสร้างพื้นสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กอัดแรงความยาว 100 เมตร รวมความยาวของสะพานทั้งสิ้น 475 เมตร
ขณะเดียวกันสะพานพระราม 8 ยังเป็นสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งแรกที่มีเอกลักษณ์ ความสวยงามเป็นพิเศษ เนื่องจากการออกแบบได้คำนึงถึงความสวยงาม กลมกลืนด้านทัศนียภาพ เอกลักษณ์ความเป็นไทย และบรรยากาศในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมบริเวณโดยรอบ กล่าวคือ มีหอชมวิวบนยอดสะพานหลักฝั่งธนบุรี เป็นโครงสร้างโลหะสีทองถักทอประสานกันเป็นลวดลายคล้ายกลีบดอกบัวตูม ซึ่งได้จากตราพระราชลัญจกรในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 8 พร้อมลิฟท์โดยสารและบันไดไว้ภายในเสาสะพาน, เพิ่มลวดลายบนผิวเสาสะพานและประดับกลางเสาสะพานด้วยวัสดุอลูมิเนียมสีเหลืองทอง ทำให้ช่องว่างสามเหลี่ยมเสาสะพานสื่อให้เห็นถึงมโนภาพเรือนแก้วประจำพระโพธิสัตว์ ซึ่งเป็นพระราชลัญจกรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล, ส่วนของแท่นสมอสะพานที่ยึดรั้งเคเบิลได้เตรียมผนังทั้ง 4 ด้าน เพื่อเสริมภาพประติมากรรมนูนต่ำ ซึ่งกรุงเทพมหานครจะดำเนินการประกาศให้ศิลปินต่างๆ ร่วมเสนอแนวความคิดและออกแบบ, สายเคเบิลสะพานหุ้มด้วยวัสดุเคลือบสีเหลืองทอง, บันไดและลิฟท์คนพิการทั้งสองฝั่งสะพานออกแบบให้มีลักษณะเป็นพานพุ่มถวายบังคมแสดงความเคารพเทิดทูนต่อองค์พระมหากษัตริย์, ราวกันตกของสะพานทั้งหมดประดับเป็นลวดลายของกลีบดอกบัวสีทอง
พร้อมกันนี้ได้เพิ่มส่วนโค้งส่วนเว้าให้กับโครงสร้างทางยกระดับและเพิ่มลวดลายของกลีบดอกบัวที่เสา, ฝ้าเพดานใต้แผ่นพื้นของทางยกระดับช่วงบริเวณริมแม่น้ำกรุวัสดุที่มีลวดลายจำลองมาจากรูปกลีบดอกบัวสลับกับซี่ระแนงโปร่ง, ราวกันตกของทางยกระดับออกแบบให้มีส่วนโค้งต่อเนื่องมาจากคานขวางหัวเสา เพื่อความสวยงาม ลดความกระด้างใหญ่โตของรูปแบบเดิมๆ, มีไฟประดับส่องสะพานและบริเวณสำคัญ เพื่อให้แลดูสวยงามเป็นทัศนียภาพที่โด่ดเด่นในเวลากลางคืนของลำน้ำเจ้าพระยา นอกจากนี้ยังได้มีการออกแบบภูมิสถาปัตยกรรมสิ่งแวดล้อมโดยรอบพื้นที่ตั้งเสาสะพานบริเวณฝั่งธนบุรี เนื้อที่รวมประมาณ 55 ไร่ โดยจะปรับปรุง พื้นที่ดังกล่าวเป็นสวนเฉลิมพระเกียรติ รัชกาล 8 ประกอบด้วย พระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 8 อาคารพิพิธภัณฑ์รัตนโกสินทร์ อาคารพิพิธภัณฑ์สะพานพระราม 8 สวนสาธารณะขนาดใหญ่ ฯลฯ ซึ่งคณะสถาปัตยกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้ออกแบบ
อนึ่ง ในวันที่ 20 ก .ย.45 ซึ่งเป็นวันเปิดสะพานพระราม 8 อย่างเป็นทางการ จะปิดการจราจรบนสะพานพระราม 8 ทั้งฝั่งพระนครและฝั่งธนบุรี รวมทั้งถนนวิสุทธิกษัตริย์ บริเวณแยกวิสุทธิกษัตริย์ถึงแยก จ.ป.ร. ตั้งแต่เวลา 12.00 น. เป็นต้นไปจนกว่าจะเสร็จสิ้นพิธีการ--จบ--
-นห-
กรุงเทพฯ--17 ก.ย.--กทม. เมื่อวานนี้ (16 ก.ย.45) เวลา 11.00 น. ที่ห้องรับรองกรุงเทพมหานคร ศาลาว่าการกทม. ร.ต.ต.เกรียงศักดิ์ โลหะชาละ ปลัดกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นายสนั่น โตทอง รองปลัดกรุงเทพมหานคร และนายชาตินัย เนาวภูต ผู้อำนวยการกองออกแบบ สำนักการโยธา ร่วมแถลงข่าว "พบกันจันทร์ละหน คนกับข่าว" ครั้งที่ 59 เรื่อง พิธีเปิดสะพานพระราม 8 เสด็จพระราชดำเนินทรงกดปุ่มเปิดสะพานพระราม 8 วันที่ 20 ก.ย.นี้ ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า หลังจากที่กรุงเทพมหานครได้ทดลองเปิดใช้สะพานพระราม 8 ตั้งแต่วันที่ 7 พฤษภาคม
ร้อยตำรวจตรีเกรียงศักดิ์ โลหะชาละ ที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์...
สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และหน่วยงานภาคี ร่วมกันจัดโครงการ “กำแพงศิลปะเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ใน...