กรุงเทพฯ--19 ก.ย.--อาซิแอม เบอร์สัน-มาร์สเตลเลอร์
กรรมการบริษัทลูกหนี้ทั้งสามไม่ปฏิเสธการเป็นหนี้
ตามที่บริษัท เอ็ฟเฟ็คทีฟ แพลนเนอร์ส จำกัด (อีพีแอล) ในฐานะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด (มหาชน) หรือทีพีไอ ได้ยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เพื่อขอให้ดำเนินการเรียกชำระหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงิน จำนวน 3 ฉบับ รวมเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นมูลค่า 8,559 ล้านบาท จากบริษัท พรชัยวิสาหกิจ จำกัด จำนวน 4,608 ล้านบาท บริษัท ทีพีไอ โฮลดิ้ง จำกัด จำนวน 2,607 ล้านบาท และบริษัท ทีพีไอ อีโออีจี จำกัด จำนวน 1,344 ล้านบาท ให้กับทีพีไอ ตามความในมาตรา 90/39 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2545 นั้น บริษัททั้งสามโดยนายประมวล เลี่ยวไพรัตน์ และนายประหยัด เลี่ยวไพรัตน์ กรรมการของบริษัทฯ ได้ยื่นคำร้องคัดค้านขอปฏิเสธหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เมื่อวันที่ 12 เดือนกันยายน 2545 ที่ผ่านมา
ในคำร้องคัดค้านได้ให้เหตุผลไว้หลายประการ อาทิ อีพีแอลไม่ใช่ผู้ทรงตั๋วสัญญาใช้เงินจึงไม่มีสิทธิทวงถาม การกู้ยืมเงินจากทีพีไอดังกล่าวมิได้มีการทำเป็นหลักฐานการกู้ยืมไว้ มีเพียงการออกตั๋วสัญญาใช้เงินของบริษัทดังกล่าวให้แก่ทีพีไอเท่านั้น ซึ่งคำคัดค้านระบุว่า แม้ตั๋วสัญญาใช้เงินจะเป็นประเภทที่ต้องชำระคืนเมื่อทวงถาม แต่บริษัททั้งสามอ้างว่ามีสัญญาค้ำประกันระหว่างบริษัททั้งสามกับทีพีไอ ซึ่งกำหนดว่า การทวงถามให้ชำระหนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อภาระค้ำประกันทีพีไอและ/หรือภาระผูกพันใดๆ ที่นายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ นายประทีป เลี่ยวไพรัตน์ นายประมวล เลี่ยวไพรัตน์ และนายประหยัด เลี่ยวไพรัตน์ ได้ให้ไว้ต่อทีพีไอได้ระงับลงแล้ว และได้มีการคืนหนังสือค้ำประกันแก่บุคคลทั้ง 4 ซึ่งในขณะนี้ภาระการค้ำประกันยังคงมีอยู่ สุดท้ายยังระบุว่าการคำนวณดอกเบี้ยไม่ถูกต้อง
อย่างไรก็ตาม คำคัดค้านดังกล่าวกลับไม่มีส่วนใดที่ปฏิเสธการกู้ยืมหรือการเป็นหนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่มีส่วนใดที่ ปฏิเสธการเป็นหนี้สำหรับเงินต้นที่กู้ยืมไป ดังนั้น รายละเอียดในคำคัดค้านจึงเป็นประเด็นที่ไม่มีสาระสำคัญ เนื่องจากอีพีแอลมีอำนาจและหน้าที่ในฐานะผู้บริหารแผนที่จะทวงถามเงินกู้จากบริษัทเหล่านี้แทนทีพีไอและได้พิจารณารายละเอียดต่างๆ โดยรอบคอบแล้วก่อนจะยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ โดยอีพีแอลจะให้การเพื่อตอบคำคัดค้านในทุกประเด็นในชั้นสืบสวนต่อไป
อีพีแอล ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบครอบคลุมถึงการเรียกชำระหนี้ทั้งหมดที่ทีพีไอได้ให้กู้ยืมแก่บุคคลที่ 3 เพื่อรักษาผลประโยชน์สูงสุดของทีพีไอ ซึ่งเป็นบริษัทมหาชนและจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และมีความเกี่ยวข้องกับบุคคลผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจำนวนมาก อาทิ ผู้ถือหุ้นที่เป็นประชาชนทั่วไป พนักงานของทีพีไอ และเจ้าหนี้ทั้งในและต่างประเทศ เป็นต้น แม้ว่าผู้บริหารเดิมของทีพีไอจะแสดงการยอมรับในการกู้ยืมเงินจากทีพีไอจริง แต่ปฏิเสธการชำระหนี้คืนตามคำคัดค้านข้างต้น อีพีแอลก็จะพยายามในการดำเนินการเรียกชำระหนี้จากตระกูลเลี่ยวไพรัตน์คืนแก่ทีพีไอ เพื่อให้ทีพีไอซึ่งมีภาระหนี้ประมาณ 120,000 ล้านบาท มีสภาพคล่องในการดำเนินงานเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้การฟื้นฟูทีพีไอมีความสำเร็จลุล่วงเร็วยิ่งขึ้น
โดยตามกระบวนการของศาลล้มละลาย ภายหลังการยื่นคำร้องคัดค้านครั้งนี้ เจ้าหน้าที่พิทักษ์ทรัพย์จะดำเนินการไต่สวนทั้งสองฝ่ายก่อนจะลงความเห็นว่า บริษัททั้งสามควรจะต้องชำระคืนหนี้หรือไม่ หากมีความเห็นว่าจะต้องชำระคืนก็จะมีคำสั่งให้ชำระคืนใน 14 วัน และหากบริษัททั้งสามไม่ชำระและยื่นคัดค้านต่อศาล ศาลอาจมีคำสั่งให้อายัดทรัพย์ของบริษัททั้งสามที่เป็นหนี้ดังกล่าวไว้ก่อนได้
ทั้งนี้ บริษัท พรชัย วิสาหกิจ จำกัด ถือหุ้นโดย บริษัท เลี่ยวไพรัตน์ วิสาหกิจ จำกัด (ตระกูลเลี่ยวไพรัตน์ถือหุ้น ร้อยละ 100) ร้อยละ 48 บริษัท ทีพีไอ ร้อยละ 25 และบริษัท ทีพีไอโพลีน ร้อยละ 16 บริษัท ทีพีไอ โฮลดิ้ง จำกัด ถือหุ้นโดยบริษัท เลี่ยวไพรัตน์ วิสาหกิจ จำกัด ร้อยละ 50.5 บริษัท ธนาพรชัย วิสาหกิจ จำกัด ร้อยละ 7.5 บริษัท อุตสาห-กรรมสหธัญญพืช จำกัด ร้อยละ 5 และบริษัท ทีพีไอ อีโออีจี จำกัด ถือหุ้นโดย บริษัท ทีพีไอ โฮลดิ้ง จำกัด ร้อยละ 75 และทีพีไอ ร้อยละ 25
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ
อาซิแอม เบอร์สัน-มาร์สเตลเลอร์
เอ็ฟเฟ็คทีฟ แพลนเนอร์ส จำกัด
เจมส์ / วราพร /สาธิดา
เจษฎ์ เจษฎ์ปิยะวงศ์
โทร 0 2252-9871
โทร 0 2679 5400--จบ--
-นห-
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit