กรุงเทพฯ--21 ก.พ.--อิมเมจพลัส คอมมิวนิเคชั่น
บริษัท เอ็น.ซี.ซี.แมนเนจเม้นท์ แอนด์ ดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด ผู้บริหารศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ วางแนวคิดการบริหารศูนย์ประชุมและแสดงสินค้าปี 2545 ภายใต้คอนเซ็ปท์ "World - Class Under One Roof" นำงานระดับโลกเข้ามาในประเทศไทยเพื่อยกระดับงานแสดงสินค้าในไทยและเปิดตลาด MICE (Meeting Incentive Convention and Exhibition) โดยคาดว่า ปี 2546 จะมีส่วนแบ่งในตลาด MICE ประมาณ 40 % หรือ 500 ล้านบาท
นางเพ็ญโสม ดามาพงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็น.ซี.ซี.แมนเนจเม้นท์ แอนด์ ดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด ผู้บริหารศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เปิดเผยถึงผลประกอบการในปี 2544 ที่ผ่านมาว่า จากตัวเลขประมาณการรายได้รวมทั้งประเทศของธุรกิจการจัดงานประชุม การท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล งานสัมมนา และงานแสดงสินค้า (MICE : Meeting Incentive Convention & Exhibition) ประมาณ 14,000 ล้านบาท ส่วนแบ่งรายได้รวมของประเทศจากธุรกิจการจัดงานแสดงฯ และงานประชุม รวมถึงสถานที่ประมาณ 10% หรือ 1,400 ล้านบาท ซึ่งตลาดการจัดงานแสดงสินค้าและการจัดงานประชุมคิดเป็นสัดส่วนถึง 60% ของตลาด ในส่วนของบริษัท เอ็น.ซี.ซี.ฯ ยังคงเป็นผู้นำโดยคิดเป็น 41.89% หรือประมาณ 884 ล้านบาทของตลาดในส่วนนี้ และในส่วนที่เอ็น.ซี.ซี.ฯ บริหารงานคิดเป็นรายได้ประมาณ 370 ล้านบาท และตั้งเป้าเพิ่มขึ้นอีก 40% หรือประมาณ 500 ล้านบาท ในปี 2546 โดยมีสัดส่วนงานในประเทศกับงานต่างประเทศ 50 ต่อ 50 และมีงานบริหารเองประมาณ 8 -10 งาน โดยในปี 2545 จะเพิ่มจำนวนการจัดงานเป็นสองเท่า
"ในปี 2545 นั้น บริษัท เอ็น.ซี.ซี.ฯ จะมีสัดส่วนของธุรกิจงานแสดงสินค้าที่ดำเนินการเองเทียบกับธุรกิจงานแสดงสินค้าที่ร่วมกับผู้อื่นดำเนินการ ในอัตราส่วน 75 ต่อ 25 โดยงานระดับนานาชาติที่จัดขึ้นเป็นประจำ ได้แก่ งาน VIV Asia, Intershop Asia และ งาน HFF Asia โดยเป็นการร่วมจัดกับพันธมิตรธุรกิจต่างชาติ คือ จาร์เบอร์ เอ็กซิบิชั่นส์ แอนด์ มีเดีย ซึ่งเป็นบริษัทจัดงานแสดงสินค้าระดับนานาชาติจากประเทศเนเธอร์แลนด์ ส่วนงานระดับประเทศที่บริหารงานเอง ได้แก่ งาน Wedding Fair (30 พ.ค. - 2 มิ.ย. 45) งาน Family Festival ( 23 - 25 ส.ค. 45) และงาน Thailand Bestbuys (13 - 22 ธ.ค. 45) ในส่วนที่บริษัท เอ็น.ซี.ซี.ฯ ร่วมดำเนินการกับพันธมิตรอื่น ๆ ได้แก่ การบริหารการจัดงาน Thaifex Thaimex และ Thailand Health & Beauty โดยร่วมกับกรมส่งเสริมการส่งออก สำหรับงานประชุมระดับโลกที่จองพื้นที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ในการจัดงานนั้นมีหลายงานด้วยกัน อาทิเช่น งาน Asia Pacific Regional Internet Conference on Operational Technologies (APRICOT 2002), 17th World Congress of Soil Science, 10th Asia Pacific League of Association for Rheumatology (APLAR), 28th Congress of World Small Animal Veterinary Association (WSAVA) และงาน 19th Asia Pacific Academy of Ophthalmology Congress ทั้งนี้ งานระดับโลกที่เข้ามาจัดในประเทศไทยนั้นมีจะบทบาทสำคัญต่อการยกระดับอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องรวมทั้งธุรกิจการจัดงานแสดงสินค้าในประเทศไทยด้วย" นางเพ็ญโสม กล่าว
สำหรับภาวะการแข่งขันด้านธุรกิจการจัดงานแสดงสินค้าและนิทรรศการในปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคตนั้น นางเพ็ญโสม ได้กล่าวว่า ธุรกิจการจัดงานในปัจจุบันถือว่ามีการขยายตัวมากขึ้นตามเศรษฐกิจของประเทศที่เริ่มฟื้นตัว ผนวกกับประเทศไทยและประเทศอื่น ๆ ภายในภูมิภาคมีนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจการจัดงานต่างๆ ในแต่ละภาคอุตสาหกรรมซึ่งถือเป็นการส่งเสริมการส่งออกของประเทศและเป็นการพัฒนาประเทศโดยรวม ทั้งนี้ เนื่องจากภาครัฐบาลได้เข้ามามีบทบาทและส่งเสริมอุตสาหกรรมการจัดงานมากขึ้นเพราะสามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศในภาคธุรกิจและการท่องเที่ยว ประกอบกับในปัจจุบันตลาดการประชุมนานาชาติในแต่ละประเทศได้มีขยายตัวมากขึ้น โดยแต่ละประเทศพยายามที่จะพัฒนาสถานที่สำหรับการจัดประชุมเพื่อขยายศักยภาพในการรองรับงาน ดังนั้น เพื่อให้การบริหารศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ในปี 2545 เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล บริษัท เอ็น.ซี.ซี.ฯ จะเน้นกลยุทธ์การบริหารงานเป็น One Stop Service ตามแนวคิด "World-Class Under One Roof" คือแนวทางในการบริหารจัดการในรูปแบบที่มีมาตรฐานระดับโลกสามารถสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างครบวงจร ซึ่งถือว่าลูกค้าจะได้รับประโยชน์สูงสุด ทั้งด้านประหยัดค่าใช้จ่ายและได้รับบริการที่ได้มาตรฐานสากล เพื่อให้สามารถรองรับงานในลักษณะหลากหลายรูปแบบ
"ด้วยประสบการณ์ในการดำเนินงานกว่า 10 ปี อันเป็นการยืนยันถึงความสำเร็จของบริษัท เอ็น.ซี.ซี.ฯ และเพื่อรักษาไว้ซึ่งความเป็นผู้นำในธุรกิจ MICE บริษัท เอ็น.ซี.ซี.ฯ จึงได้วางแนวทางในการบริหารงานในด้านต่าง ๆ เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจของภาครัฐ ด้วยการแสวงหาพันธมิตรใหม่ทางธุรกิจ ทั้งในส่วนของเทรดโชว์และบริการด้านต่าง ๆ เพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเสริมศักยภาพขององค์กรในการให้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด และเป็นการขยายฐานลูกค้าที่มีอยู่ให้มากขึ้น อาทิ การจัดทำโครงการ e-Exhibition หรือนิทรรศการออนไลน์ ร่วมกับ บริษัท ดาต้าแมท จำกัด (มหาชน) จัดทำโครงการสร้าง e-commerce online โดยมีฐานลูกค้าจากงานนิทรรศการที่จัดเอง โดยในปีนี้จะมีผู้เข้าร่วมโครงการประมาณ 1,500 - 3,000 ราย
การปรับเปลี่ยนรูปแบบการให้บริการในส่วนของภัตตาคารในศูนย์ฯสิริกิติ์ โดยผสมผสานการให้บริการด้านอาหารในสไตล์ Fusion กับการให้บริการด้านความบันเทิงเข้าไว้ด้วยกันที่ de'but caf?' การเสริมศักยภาพในการสื่อสารการตลาด โดยร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ท.ท.ท.) และสื่อต่างประเทศในการออกสื่อประชาสัมพันธ์ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ให้เป็นที่รู้จักแก่นานาประเทศทั่วโลก การหาพันธมิตรในการลงทุนจัดงานแสดงสินค้าระดับนานาชาติ อาทิ การจัด Solo Show ในต่างประเทศ โดยจะเริ่มจากตลาดใหม่ คือ ประเทศเวียดนาม โดยแนวทางดังกล่าวจะช่วยขยายฐานกำลังในการบริหารศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์และองค์กรให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้นต่อไป" นางเพ็ญโสม กล่าวในที่สุด--จบ--
-อน-