กรุงเทพฯ--25 ม.ค.--กทม.
ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เมื่อวานนี้ (24 ม.ค. 45) เวลา 10.30 น. ร.ต.ต.เกรียงศักดิ์ โลหะชาละ ปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานแถลงข่าวผลการศึกษาดูงานเตาเผาขยะที่ประเทศสิงคโปร์ โดยมีนายสุทธิชัย ทรรศนสฤษดิ์ รองปลัดกรุงเทพมหานคร นายพิชัย ไชยพจน์พานิช ผู้อำนวยการสำนักรักษาความสะอาด และนายพงษ์ศักดิ์ เสมสันต์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผน กรุงเทพมหานคร ร่วมแถลงข่าว
ปลัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ก่อนที่กรุงเทพมหานครจะพิจารณาตัดสินใจว่าการดำเนินโครงการก่อสร้างโรงงานกำจัดมูลฝอยด้วยวิธีผสมผสานที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช (โครงการอ่อนนุช 1) จะได้ประโยชน์คุ้มค่าหรือไม่ ตนพร้อมด้วยคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร และคณะกรรมการพิจารณาโครงการกำจัดขยะมูลฝอยของกทม. จึงได้เดินทางไปศึกษาดูงานระบบการกำจัดมูลฝอย ณ ประเทศสิงคโปร์ ระหว่างวันที่ 20-22 มกราคม ที่ผ่านมา เพื่อเพิ่มพูนความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับระบบการกำจัด เทคโนโลยี และการควบคุมคุณภาพสิ่งแวดล้อมจากระบบการกำจัดมูลฝอยด้วยวิธีผสมผสาน
สิงคโปร์เลือกวิธีเผากำจัดขยะได้90%
ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวต่อไปอีกว่า จากการที่คณะฯ ได้ไปดูงานเรื่องเตาเผาขยะ โดยฟังบรรยายจากภาครัฐและภาคเอกชนที่มีประสบการด้านการกำจัดขยะมูลฝอย แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ประสบการณ์กับวิทยากรและเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง รวมทั้งไปสังเกตการณ์ในสถานที่จริง ณ เตาเผามูลฝอย Tuas ซึ่งเป็นเตาเผาที่ใหญ่ที่สุดในโลกและใหม่ที่สุดของประเทศสิงคโปร์ ทั้งนี้สิงคโปร์ได้ใช้วิธีการกำจัดขยะโดยการเผา เนื่องจากมีข้อจำกัดด้านพื้นที่รองรับมูลฝอย เคยใช้วิธีเทกองมูลฝอยบนพื้นที่นานถึง 29 ปีจนถึงปี 2542 รองรับมูลฝอยได้ประมาณ 20 ล้านตัน ซึ่งขณะนั้นมีปริมาณมูลฝอยเพียงวันละ 1,260 ตัน แต่ปัจจุบันปริมาณมูลฝอยเพิ่มขึ้นวันละประมาณ 7,677 ตัน จึงเลือกใช้เทคโนโลยีการเผา โดยขณะนี้สิงคโปร์มีเตาเผามูลฝอยทั้งสิ้น 4 เตา ซึ่งสามารถกำจัดได้มากถึง 90% ขยะที่เหลือจากการเผาจะถูกส่งไปฝังกลบอย่างถูกสุขลักษณะที่ SEMAKAU ทั้งนี้สิงคโปร์มีระบบการลดปริมาณมูลฝอยคล้ายกับกทม. โดยการส่งเสริมให้มีการหมุนเวียนมูลฝอยกลับมาใช้ใหม่ ในหลักการลดการใช้ (Reduce) นำมาใช้ซ้ำ (Reuse) และนำมากลับมาใช้ใหม่ (Recycle) มีเป้าหมายในการลดปริมาณมูลฝอยจาก 40% เป็น 60% ในช่วงเวลา 10 ปี คาดว่าจะมีประชาชนมีส่วนร่วม 50% ในปี 2545
ระบบเตาเผาแบบ Stoker Type แบบเดียวกับที่อ่อนนุช
สำหรับเตาเผาขยะดังกล่าว ได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2543 เวลาในการก่อสร้าง 4 ปี ด้วยงบประมาณ 21,600 ล้านบาท และมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการตันละประมาณ 1,500 บาท ปัจจุบันใช้เผาขยะวันละ 3,000 ตัน เป็นระบบเผาแบบ Stoker Type เช่นเดียวกับที่กทม. จะใช้ที่อ่อนนุช มีระบบการนำพลังความร้อนหมุนเวียนมาใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 40 เมกกะวัตต์ ส่วนเถ้าที่เหลือจากการเผาไหม้จะถูกนำไปฝังกลบอย่างถูกสุขลักษณะที่ SEMAKAU ซึ่งใช้เวลาในการขนส่งประมาณ 30 นาที
ระบบเตาเผาแบบ Stoker Type จะมี 2 ห้องเผา โดยมูลฝอยที่เข้ามาที่บ่อรับมูลฝอยซึ่งมี 2 บ่อ จะมีระบบตรวจสอบการลุกไหม้ของมูลฝอย โดยระบบฉีดน้ำอัตโนมัติเพื่อป้องกันการลุกไหม้ในบ่อขยะ หลังจากเผาไหม้มูลฝอยในห้องเผาไหม้ที่สอง ความร้อนจะถูกส่งผ่านไปยังระบบหม้อไอน้ำเพื่อต้มน้ำให้เป็นไอหมุนเครื่องกำเนิดไฟฟ้า เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้ามาใช้ประโยชน์ต่อไป
ส่วนระบบการป้องกันมลภาวะในอากาศของเตาเผาขยะดังกล่าวจะประกอบด้วยระบบบำบัดมลภาวะทางอากาศซึ่งเป็นไอกรดโดยใช้ปูนขาว และระบบเครื่องกรองฝุ่นเพื่อดักจับฝุ่นที่มีขนาดเล็กก่อนปล่อยลงสู่ปล่อง ส่วนไดออกซินจะใช้การควบคุมอุณหภูมิการเผาในห้องเผาที่สอง ให้มีอุณหภูมิสูงกว่า 1,000 องศาเซลเซียส จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดไดออกซิน นอกจากนี้ยังมีระบบตรวจวัดคุณภาพอากาศซึ่งใช้มาตรฐานทางยุโรปไม่ให้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม มีค่าธรรมเนียมในการกำจัดโดยระบบเตาเผาตันละ 1,600 บาท
โรงกำจัดขยะแบบผสมผสานวิธีแก้ปัญหาขยะล้นเมืองของกทม.
สำหรับการไปศึกษาดูงานในครั้งนี้ของคณะผู้บริหารกทม. สืบเนื่องจากที่กรุงเทพมหานครมีแนวคิดที่จะแก้ไขปัญหาขยะซึ่งเพิ่มปริมาณมากขึ้นกว่า 9,000 ตันต่อวัน โดยก่อสร้างโรงกำจัดขยะแบบผสมผสาน ซึ่งประกอบด้วย โรงแยกขยะยังใช้ได้ โรงแปรสภาพขยะเป็นปุ๋ยชีวภาพ และมีเตาเผาขยะอยู่ในแห่งเดียวกัน ในวงเงินก่อสร้างประมาณ 7,640 ล้านบาท ซึ่งงบลงทุนจะมาจากการกู้เงินเจบิค 5,730 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็น 75% ส่วนอีก 25% หรือ 1,910 ล้านบาท กทม. จะต้องเป็นผู้ลงทุนสมทบ โดยที่ผ่านมา กทม. ได้ขอสนับสนุนงบส่วน 25% ดังกล่าวจากรัฐบาล แต่ทางรัฐบาลได้ขอให้กทม. เป็นผู้รับผิดชอบในการลงทุนและก่อสร้างทั้งหมด โดยรัฐบาลจะสนับสนุนในการหาแหล่งเงินกู้ให้กทม.
ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันปัญหาขยะในกรุงเทพฯจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน จึงถึงเวลาที่ กทม. ต้องตัดสินใจอย่างจริงๆ ที่จะดำเนินการก่อสร้างโรงงานกำจัดขยะด้วยวิธีผสมผสาน ทั้งนี้การดำเนินการได้ผ่านมาหลายขั้นตอนมานานแล้ว ทั้งได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี สภาพัฒน์ฯ กระทรวงการคลัง และการประชาพิจารณ์จากประชาชนผู้อยู่บริเวณใกล้เคียงกับที่จะสร้างเตาเผาขยะ ซึ่งขณะนี้กำลังเสนอขอความเห็นชอบจากสภากทม. เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบข้อบัญญัติการกู้ยืมเงินเจบิค จากนั้นจะยืนยันการกู้เงินต่อกระทรวงการคลัง และเสนอให้คณะรัฐมนตรีรับทราบต่อไป ทั้งนี้ตามขั้นตอนต่างๆ ที่กล่าวมา คาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการประกวดราคาหาผู้รับเหมาก่อสร้างได้ประมาณกลางปี 2546
ส่วนเงินลงทุนที่กทม. จะต้องจ่ายสมทบกับเงินกู้เจบิค 25% นั้น กทม. มีภาระจะต้องจ่ายเงินสมทบตามระยะเวลาก่อสร้าง 5 ปี โดยจ่ายปี 46 ประมาณ 7.5 ล้านบาท เพื่อจัดจ้างที่ปรึกษาและจัดทำเอกสารประกวดราคา คัดเลือกผู้รับเหมา ปี 47 จ่าย 378.5 ล้านบาท ปี 48 และ 49 จ่ายปีละ 664.5 ล้านบาท และปี 50 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายต้องจ่ายสมทบ 195 ล้านบาท อย่างไรก็ตามหากสภากทม. เห็นชอบผ่านร่างข้อบัญญัติ เรื่อง การเพิ่มค่าธรรมเนียมเก็บขนมูลฝอยจากเดิมที่เก็บเดือนละ 4 บาท/บ้าน ซึ่งใช้อัตรานี้มาเป็นเวลา 50 ปี ให้เป็นเดือนละ 40 บาท กทม. ก็จะมีรายได้เพิ่มขึ้นปีละ 1,000 ล้านบาท โดยงบส่วนนี้หลังจากที่จัดสรรเป็น สวัสดิการให้พนักงานเก็บขนมูลฝอยแล้ว คาดว่าจะเหลือประมาณปีละ 600 ล้านบาท ด้วยงบประมาณดังกล่าวจะทำให้กทม. มีงบประมาณไปลงทุนร่วมกับเงินกู้เจบิคได้ ซึ่งเป็นวิธีที่ดีกว่าการกู้เงินจากสถาบันการเงินเพิ่ม เพราะจะทำให้กทม. ต้องแบกรับภาระดอกเบี้ยมากเกินไป--จบ--
-นห-