กรุงเทพฯ--23 ม.ค.--กทม.
เมื่อวานนี้ (22 ม.ค. 45) เวลา 09.30 น. ที่ห้องประชุมศูนย์ปฏิบัติการกรุงเทพมหานคร นางณฐนนท ทวีสิน รองปลัดกรุงเทพ-มหานคร พร้อมด้วยนายเกษมสันต์ สุวรรณรัตน์ รองผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนกรุงเทพมหานคร นายชาญชัย ภาวสุทธิการ รองผู้อำนวยการสำนักสวัสดิการสังคม น.พ.สิทธิสัตย์ เจียมวงศ์แพทย์ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมสุขภาพ สำนักอนามัย และนางศิริกาญจน์ กุลดิลกสัมพันธ์ หัวหน้าฝ่ายพัฒนาสังคม สำนักพัฒนาชุมชน ร่วมกันบรรยายสรุปถึงการดำเนินงานแก้ไขปัญหายาเสพติดของหน่วยงานกรุงเทพมหานครแก่คณะผู้แทนจากเทศบาลเมืองแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา ซึ่งเดินทางมาเยือนกรุงเทพมหานคร เพื่อศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหายาเสพติดของกทม.
ในการบรรยายสรุปแนวทางการแก้ไขปัญหายาเสพติดของกทม. มีสาระสำคัญดังนี้ ปัจจุบันยาเสพติดที่มีอัตราการแพร่ระบาดสูงสุดได้แก่ ยาบ้า ซึ่งในปี 2543 จับกุมได้ 48 ล้านเม็ด ส่วนปีที่ผ่านมาจับกุมได้ 27 ล้านบาท โดย 12% เป็นคดีที่เกิดขึ้นในเขตกรุงเทพมหานคร ส่วนยาเสพติดที่มีสถิติจับกุมได้รองลงไปได้แก่ เฮโรอีน ยาอี และกัญชา จากจำนวนชุมชนในพื้นที่กทม. ทั้งสิ้น 1,624 ชุมชน เป็นชุมชนที่ประสบปัญหาการแพร่ระบาดของปัญหายาเสพติดในระดับรุนแรง 21%
สำหรับการดำเนินการแก้ไขปัญหายาเสพติด หลายหน่วยงานของกรุงเทพมหานครได้ประสานงานอย่างเป็นเครือข่ายร่วมกับชุมชน ประชาคม องค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) ตลอดจนองค์กรระหว่างประเทศ โดยสำนักอนามัย เป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบปัญหานี้ ปัจจุบันสำนักอนามัยมีคลินิกยาเสพติด 15 แห่ง และศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดอีก 2 แห่ง คือ ที่บ้านพิชิตใจ เขตประเวศ และศูนย์บำบัดฯ ระบบ Matrix (IOP) ที่ราชดำริ สถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดบ้านพิชิตใจให้การบำบัดผู้ติดยาเสพติดแบบคนไข้ใน (เฉพาะเยาวชนชาย) โดยผู้รับการบำบัดจะต้องใช้เวลา 1 ปี ในสถานฟื้นฟู ทั้งนี้สำนักอนามัยกำลังปรับระยะเวลาการบำบัดให้เหลือเพียง 6 เดือน เพื่อให้สามารถบำบัดผู้ติดยาเสพติดได้ปีละ 2 รุ่นๆ ละ 100 คน รวมเป็น 200 คน ส่วนการบำบัดผู้ติดยาเสพติดด้วยระบบ Matrix (IOP) หรือการบำบัดรักษาโดยผู้ป่วยไม่ต้องเข้าเป็นคนไข้ในนั้น เป็นระบบที่เริ่มนำมาใช้ในโรงพยาบาลต่างๆ ในประเทศไทยเมื่อปี 2543 เป็นวิธีการบำบัดที่มีประสิทธิภาพ สามารถช่วยให้ผู้ติดยาเสพติดไม่กลับไปเสพยาซ้ำอีกอย่างได้ผล มีข้อดีคือ ใช้เวลาบำบัดเพียง 16 สัปดาห์ ใช้งบประมาณต่ำกว่าการรักษาแบบคนไข้ในถึง 10 เท่า เน้นการบำบัดโดยอาศัยการสร้างความเข้าใจกับครอบครัวผู้ป่วยให้เข้ามามีส่วนร่วมประคับประคองให้ผู้ป่วยกลับมาดำรงชีวิตในสังคมโดยไม่กลับไปพึ่งพายาเสพติดได้อย่างถาวร ในเดือนเมษายนนี้ สำนักอนามัยจะขยายการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติดด้วยระบบ Matrix (IOP) ไปยังศูนย์บริการสาธารณสุข 43 แห่งในกทม. เพื่อให้การแก้ไขปัญหายาเสพติดครอบคลุมทั่วพื้นที่กรุงเทพฯ
ในส่วนของ สำนักสวัสดิการสังคม ได้จัดให้มีสวนสาธารณะ ลานกีฬาต้านยาเสพติด กิจกรรมดนตรีในสวน ห้องสมุดเยาวชน กิจกรรมกีฬาในศูนย์เยาวชน 26 แห่ง กิจกรรมด้านศิลปวัฒนธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้เน้นการจัดกิจกรรมที่เสริมสร้างความมั่นคงและความสัมพันธ์ในครอบครัว เช่น การจัดค่ายครอบครัวอบอุ่น การจัดกิจกรรมวันเด็ก ฯลฯ ซึ่งเป็นพื้นฐานของการแก้ไขปัญหายาเสพติด ในปี 2545 นี้ สำนักสวัสดิการสังคมมีเป้าหมายที่จะเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมือง เพิ่มจำนวนลานกีฬา รณรงค์ให้ประชาชนใช้บริการศูนย์เยาวชนและศูนย์ฝึกกีฬามากขึ้นอีก 10% ตลอดจนมีแผนจัดกิจกรรมนันทนาการต่างๆ ตลอดปี ทั้งนี้เพื่อให้คนกรุงเทพฯ และเยาวชนมีสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ มีกิจกรรมนันทนาการ และกิจกรรมกีฬา ที่ทำให้ห่างไกลจากยาเสพติด ด้านสำนักการศึกษา มีแผนจัดกิจกรรมถึง 16 กิจกรรม เพื่อหยุดยั้งการแพร่กระจายของยาเสพติดในโรงเรียนสังกัด กทม. 431 โรงเรียน โดยเน้นความร่วมมือระหว่างนักเรียน ครู ผู้บริหารโรงเรียน ผู้ปกครอง ชุมชน และตำรวจ กิจกรรมหลักที่ประสบความสำเร็จได้แก่ กิจกรรมตามโครงการโรงเรียนสีขาว ซึ่งในปีที่ผ่านมามีโรงเรียนที่ได้รับการประกาศให้เป็นโรงเรียนสีขาว ปลอดยาเสพติด จำนวน 426 โรงเรียน และมีโรงเรียนที่ยังมีปัญหา จำนวน 5 โรงเรียน ส่วนสำนักพัฒนาชุมชน ได้มีการประสานเครือข่ายประชาคมต้านยาเสพติด เพื่อสร้าง “ชุมชนสีขาว” ปลอดยาเสพติด โดยเน้นฝึกอบรมผู้นำชุมชนให้มีความตระหนักถึงปัญหาและเป็นแกนนำต่อต้านยาเสพติดในชุมชนให้ชุมชนปลอดการผลิต การขาย และการเสพยาเสพติด
ภายหลังรับฟังการบรรยายสรุป คณะผู้แทนเทศบาลเมืองแวนคูเวอร์ได้ไปเยี่ยมชมสำนักงานเขตคลองเตย โดยนายบพิธ แสงแก้ว ผู้อำนวยการเขตคลองเตย ได้บรรยายสรุปสถานการณ์ปัญหายาเสพติดในพื้นที่เขต และนำชมการประสานงานต้านยาเสพติดของประชาคมในเขตคลองเตย--จบ--
-นห-