กรุงเทพฯ--23 ม.ค.--กรมการประกันภัย
ฯพณฯรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ (ดร.สุวรรณ วลัยเสถียร) ได้กล่าวว่า การประกันภัยรถในปัจจุบัน แยกออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้
1. การประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับ หรือที่คนส่วนใหญ่เรียกกันว่า “ประกันรถตาม พ.ร.บ.” เป็นการประกันภัยที่กฎหมายกำหนดให้รถทุกคัน ทุกประเภท ต้องทำประกันภัยให้ความคุ้มครองการสูญเสียชีวิต ทุพพลภาพ และบาดเจ็บของบุคคลเท่านั้น เจ้าของรถที่ไม่ทำประกันภัยมีความผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 ต้องถูกปรับไม่เกิน 10,000 บาท และกรณีนำรถที่ไม่มีประกันภัยมาใช้ จะถูกปรับอีกไม่เกิน 10,000 บาท
2. การประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ เป็นการคุ้มครองส่วนที่เกิน พ.ร.บ. ขึ้นไป เช่นต้องการให้บริษัทประกันภัยรับผิดชอบเมื่อทรัพย์สินเสียหายจากการที่รถชนกันเป็นต้น การประกันภัยประเภทนี้ เป็นไปตามความสมัครใจของเจ้าของรถจะทำประกันภัยหรือไม่ก็ได้ ซึ่งสามารถเลือกซื้อได้ 3 ประเภท แต่ละประเภทจะได้รับความคุ้มครองต่างกัน ถ้าเลือกรับความคุ้มครองสูง เบี้ยประกันภัยจะสูงและหากเลือกความคุ้มครองต่ำเบี้ยประกันภัยจะน้อยลง ซึ่งมีให้เลือกซื้อดังนี้
ประเภท 1 (การประกันภัยชั้น 1) ให้ความคุ้มครองครอบคลุมมากที่สุดคือ
- ความรับผิดชอบต่อชีวิต ร่างกาย หรืออนามัยของบุคคลภายนอก และผู้โดยสารในรถ ในส่วนที่เกินความคุ้มครองภาคบังคับหรือตาม พ.ร.บ.
- ความรับผิดต่อทรัพย์สินของบุคคลภายนอก
- ความรับผิดต่อความเสียหายของตัวรถยนต์คันเอาประกันภัย
- ความรับผิดต่อความสูญหายและไฟไหม้ของตัวรถยนต์คันเอาประกันภัย
ประเภท 2 (การประกันภัยชั้น 2) ผู้ทำประกันภัยประเภทนี้จะได้รับความคุ้มครอง คือ
- ความรับผิดชอบต่อชีวิต ร่างกาย หรืออนามัยของบุคคลภายนอก และผู้โดยสารในรถ ในส่วนที่เกินความคุ้มครองภาคบังคับหรือตาม พ.ร.บ.
- ความรับผิดต่อทรัพย์สินของบุคคลภายนอก
- ความรับผิดต่อความสูญหายและไฟไหม้ของตัวรถยนต์คันเอาประกันภัย
3. ประเภท 3 (การประกันภัยชั้น 3) ซึ่งเป็นประเภทที่ให้ความคุ้มครองเฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอก ดังนี้
- ความรับผิดชอบต่อชีวิต ร่างกาย หรืออนามัยของบุคคลภายนอก และผู้โดยสารในรถ ในส่วนที่เกินความคุ้มครองภาคบังคับหรือตาม พ.ร.บ.
- ความรับผิดต่อทรัพย์สินของบุคคลภายนอก
ฉะนั้นการประกันภัย ประเภท 3 อัตราเบี้ยประกันภัยจึงต่ำกว่าประเภทอื่นๆ
ดร.สุวรรณ วลัยเสถียร กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการเลือกซื้อประกันภัยทั้ง 3 ประเภทดังกล่าว แบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ แบบระบุชื่อผู้ขับขี่ และไม่ระบุชื่อผู้ขับขี่ ถ้าต้องการที่จะจ่ายเบี้ยประกันภัยให้ถูกลงก็ควรเลือก แบบระบุชื่อผู้ขับขี่ ซึ่งสามารถระบุชื่อได้ไม่เกิน 2 คน เท่านั้น กรมธรรม์แบบนี้ผู้เอาประกันภัยต้องเป็นบุคคลธรรมดา (ไม่ใช่นิติบุคคล) ที่ใช้รถส่วนบุคคล
ทั้งนี้ ผู้เอาประกันภัยจะได้รับส่วนลดอัตราเบี้ยประกันภัย ดังนี้
- ผู้ขับขี่อายุ 18-24 ปี จะได้ส่วนลด 5 %
- ผู้ขับขี่อายุ 25-35 ปี จะได้ส่วนลด 10 %
- ผู้ขับขี่อายุ 36-50 ปี จะได้ส่วนลด 20 %
- ผู้ขับขี่อายุเกิน 50 ปี จะได้ส่วนลด 15 %
แต่การประกันภัยแบบระบุชื่อนี้ จะต้องมีความระมัดระวังไม่ให้ผู้ที่มิได้ระบุชื่อไว้ไปขับรถ มิฉะนั้นหากผู้ที่มิได้ระบุชื่อไว้ก่อให้เกิดอุบัติเหตุ ก็จะต้องร่วมรับผิดชอบกับบริษัทประกันภัยต่อความเสียหายที่เกิดของอุบัติเหตุแต่ละครั้ง ในกรณีที่อุบัติเหตุเกิดจากความประมาทของรถคันเอาประกันภัย หรือในกรณีที่ไม่สามารถแจ้งให้บริษัททราบว่าถูกรถคันใดชน โดยผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบเอง ดังนี้
- ความเสียหายต่อตัวรถคันเอาประกันภัยไม่เกิน 6,000 บาท
- ความเสียหายต่อทรัพย์สินบุคคลภายนอกไม่เกิน 2,000 บาท
ฉะนั้น หากเจ้าของรถเห็นว่ารถของตนมีผู้ขับขี่ไม่เกิน 2 คน ก็ควรที่จะเลือกประกันภัยแบบระบุชื่อผู้ขับขี่ เพื่อจะได้รับส่วนลดจากเบี้ยประกันภัยในอัตรา 5-20% และใช้ความระมัดระวังไม่ให้ผู้อื่นขอยืมรถไปใช้ ทั้งนี้หากมีข้อสงสัยเพิ่มเติม ขอให้สอบถามไปยังกรมการประกันภัย (โทร.0-2547-4524 หรือสายด่วนประกันภัย 1186 ได้ทั่วประเทศ) ส่วนคุ้มครองผู้เอาประกันภัยเขตทุกเขต และสำนักงานประกันภัยจังหวัดที่ท่านสะดวกได้ตลอดเวลาราชการ--จบ--
-อน-