กรุงเทพฯ--29 มี.ค.--เอเชี่ยน ฮอนด้า มอเตอร์
หลังการแข่งขันฟอร์มูลา วัน รายการมาเลเซียน กรังด์ปรีซ์ ที่สนามเซปัง เอฟวัน เซอร์กิต ฮอนด้าและทีมพันธมิตรต่างมุ่งหน้าสู่ทวีปอเมริกาใต้ เพื่อเตรียมตัวสำหรับการแข่งขันรถสูตร 1 รายการบราซิลเลียน กรังด์ปรีซ์ ซึ่งเป็นการแข่งขันสนามที่ 3 ของฤดูกาลปี 2002 ที่จะจัดขึ้น ณ สนามอินเตอร์ลาโกส เมืองเซา เปาโล ประเทศบราซิล ในวันอาทิตย์ที่ 31 มีนาคม ศกนี้
ฮอนด้าและทีมพันธมิตรทั้งสองคือ ลัคกี้ สไตรค์ บี เอ อาร์ ฮอนด้า และดีเอชแอล จอร์แดน ฮอนด้า ต่างเตรียมพร้อมเผชิญการแข่งขันในสภาวะอากาศอันแปรปรวนของภูมิอากาศเขตร้อนในทวีปอเมริกาใต้ โดยอากาศอันร้อนระอุของเมืองเซา เปาโล ต้องการเครื่องยนต์ฟอร์มูลา วัน ที่ทรงสมรรถนะและมีระบบระบายความร้อนดีเยี่ยม ในขณะเดียวกันสภาพพื้นสนามแข่งที่ไม่ค่อยเรียบของสนามอินเตอร์ลาโกส บวกกับสถานที่ตั้งของสนามซึ่งมีความสูงจากระดับน้ำทะเลมาก ยังเป็นความท้าทายที่ทั้งทีมวิศวกรของฮอนด้าและนักแข่งทุกคนจะต้องฝ่าฟันไปให้ได้
ประวัติศาสตร์แห่งความสำเร็จของฮอนด้า ในการแข่งขันกรังด์ปรีซ์ที่อเมริกาใต้เริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 1965 เมื่อริชชี่ กินเธอร์ นักแข่งในสังกัดทีมฮอนด้า สามารถคว้าชัยชนะครั้งแรกมาให้ทีม ในศึกฟอร์มูล่า วันที่ประเทศเม็กซิโก ส่วนที่บราซิลนั้น ฮอนด้าได้เข้าร่วมการแข่งขันเป็นครั้งแรก ณ เมืองริโอ เดอ จาเนโร เมื่อปี 1984 และจบการแข่งขันในครั้งนั้นโดยได้ขึ้นแท่นรับรางวัลในอันดับที่สองจากฝีมือของ เกเก้ รอสเบิร์ก นักแข่งในสังกัดทีมวิลเลียมส์-ฮอนด้า อีกสองปีต่อมา เนลสัน ปิเกต์ ก็คว้าชัยชนะครั้งแรกที่บราซิลให้แก่ฮอนด้า ภายใต้สังกัดวิลเลียมส์-ฮอนด้า โดยมีชัยเหนือนักแข่งวีรบุรุษเจ้าถิ่น ไอร์ตัน เซนน่า และอีก 5 ปีต่อมา ไอร์ตัน เซนน่า ก็ประสบความสำเร็จในกรังด์ปรีซ์ที่บ้านเกิด โดยยอดนักแข่งชาวบราซิลสามารถคว้าชัยชนะในสนามนี้ และครองตำแหน่งแชมป์โลกปี 1991 ภายใต้สังกัดแมคลาเรน-ฮอนด้า
มร. ชูเฮ นากาโมโต้ ผู้จัดการทีมแข่งและทีมทดสอบของฮอนด้า เรซซิ่ง ดิเวลลอปเมนท์ กล่าวถึงการแข่งขันฟอร์มูล่า วัน ที่บราซิลในครั้งนี้ว่า "ทีมงานของเราต่างเฝ้ารอคอยการแข่งขันฟอร์มูล่า วัน ที่สนามอินเตอร์ลาโกส เพราะนอกจากฮอนด้าจะมีความทรงจำที่ดีกับการแข่งที่นี่แล้วสนามแห่งนี้ยังเปิดโอกาสให้ทีมวิศวกรของเราได้พบกับความท้าทายในการปรับแต่งเครื่องยนต์ให้เข้ากับสภาพสนาม สิ่งที่เราต้องมุ่งเน้นในการแข่งขันสัปดาห์นี้คือต้องพยายามรักษาสมรรถนะสูงสุดไว้และช่วยทีมพันธมิตรของเราให้สามารถนำรถแข่งทั้ง 4 คัน เข้าเส้นชัยให้ได้ด้วยพลังสูงสุดทั้งหมดของเครื่องยนต์ตัวนี้"
- มารู้จักฮอนด้าในบราซิล
ในขณะที่บราซิลเป็นสนามแข่งฟอร์มูล่า วัน ที่ฮอนด้าฝากผลงานอันน่าประทับใจไว้มากมาย การเข้ามาดำเนินธุรกิจในบราซิลของฮอนด้ายังแสดงถึงวิสัยทัศน์ของบริษัท ฮอนด้าเริ่มธุรกิจในภาคพื้นอเมริกาใต้โดยการส่งออกรถจักรยานยนต์ไปยังบราซิลในช่วงทศวรรษที่ 1960 และหลังจากนั้นเป็นต้นมาก็ได้ขยายการดำเนินธุรกิจครอบคลุมไปถึงผลิตภัณฑ์หลักอื่นๆ อย่างรวดเร็ว ทั้งนี้การพัฒนาธุรกิจหลักๆ ของฮอนด้าในภาคพื้นอเมริกาใต้ก็มักเริ่มต้นจากประเทศบราซิลเสมอ โดยเริ่มเปิดสายการผลิตรถจักรยานยนต์และรถยนต์ในช่วงต้นทศวรรษ 1970 และปี 1997 ตามลำดับ
ปัจจุบันโรงงานประกอบรถจักรยานยนต์ของฮอนด้าในประเทศบราซิล มีกำลังการผลิตถึงกว่า 400,000 คันต่อปี ซึ่งก็ได้ตอบสนองการเติบโตของตลาดรถจักรยานยนต์ในทวีปอเมริกาใต้ และด้วยความมุ่งมั่นที่จะสร้างมาตรฐานทางด้านสิ่งแวดล้อมให้สูงขึ้น โรงงานแห่งนี้จึงได้รับการรับรองมาตรฐานการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม หรือ ISO14001 เมื่อเดือนตุลาคม 1998
ในทศวรรษที่ 1980 ฮอนด้าได้เริ่มทำการตลาดรถยนต์ทั่วทวีปอเมริกใต้ควบคู่ไปกับการรักษาสถานะของการเป็นฐานการผลิตรถจักรยานยนต์ของภูมิภาคไปพร้อมกัน และการดำเนินธุรกิจรถยนต์ก็ได้เจริญรอยตามความสำเร็จของธุรกิจรถจักรยานยนต์ โดยได้เริ่มก่อตั้งโรงงานประกอบรถยนต์ขึ้นในประเทศบราซิลเมื่อปี 1997
สำหรับธุรกิจเครื่องยนต์อเนกประสงค์ของฮอนด้าในอเมริกาใต้นั้นเติบโตอย่างรวดเร็วหลังจากได้เริ่มส่งออกไปยังประเทศเปรู เมื่อปี 1966 เป็นต้นมา โดยมีเครือข่ายการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องยนต์อเนกประสงค์อาทิเช่น เครื่องกำเนิดไฟฟ้าและเครื่องสูบน้ำ ครอบคลุมถึง 13 ประเทศทั่วทวีป นอกจากนี้ฮอนด้ายังได้ก่อตั้งบริษัทวิจัยและพัฒนาขึ้นอีก 2 แห่งในประเทศบราซิล โดยแห่งหนึ่งสำหรับรถจักรยานยนต์และอีกแห่งหนึ่งสำหรับรถยนต์
- รายละเอียดการแข่งขันบราซิลเลียน กรังด์ปรีซ์ วันที่ 29 - 31 มีนาคม 2545
สนามแข่งขัน อินเทอร์ลาโกส (Interlagos)
สถานที่ตั้ง Avenida Senador Teotonio Vilelia 259, San Paulo, Brazil
ความยาวสนาม 4.309 กม. / 2.677 ไมล์
วันฝึกซ้อม ศุกร์ที่ 29 มี.ค. 11.00 - 12.00 น. และ 13.00 - 14.00 น. (เวลาช้ากว่าไทย 10 ชม.)
เสาร์ที่ 30 มี.ค. 09.00 - 09.45 น. และ 10.15 - 11.00 น.
รอบคัดเลือก เสาร์ที่ 30 มี.ค. 13.00 - 14.00 น.
วันแข่งขัน อาทิตย์ที่ 31 มี.ค. เวลา 12.00 น. (ตรงกับเวลา 22.00 น.ในประเทศไทย)
จำนวนรอบที่แข่งขัน 71 รอบ
ผลการแข่งขันบราซิลเลียน กรังด์ปรีซ์ ปีที่แล้ว (2544)
ชนะเลิศ เดวิด คูลธาร์ด (แมคลาเรน) 1 ชม. 39 นาที 00.834 วินาที
ผู้ทำเวลาเร็วที่สุดต่อรอบ ราฟล์ ชูมัคเกอร์ (วิลเลียมส์) 1 นาที 15.692 วินาที
ผู้ทำเวลาเร็วที่สุดในรอบคัดเลือก มิชาเอล ชูมัคเกอร์ (เฟอร์รารี่) 1 นาที 13.780 วินาที
สถิติความเร็วสูงสุดต่อรอบของสนาม มิชาเอล ชูมัคเกอร์ (เฟอร์รารี่) 1 นาที 28.214 วินาที
ผลงานของนักแข่งทีมฮอนด้าในบราซิลเลียน กรังด์ปรีซ์ ปีที่แล้ว
ปานีส์ อันดับ 4 / ทรุลลี่ อันดับ 5 / วิลล์เนิฟ อันดับ 19 / เฟรนต์เซ่นต์ อันดับ 11
ผลงานของทีมฮอนด้าในบราซิลเลียน กรังด์ปรีซ์
เข้าร่วมแข่งขันบราซิลเลียน กรังด์ปรีซ์ 5 ครั้ง
ผู้ชนะเลิศฟอร์มูล่า วันในทีมฮอนด้า
เซนน่า 32 ครั้ง, มานเซลล์ 13 ครั้ง, พรอสต์ 11 ครั้ง, ปิเกต์ 7 ครั้ง, เบอร์เกอร์ และรอสเบิร์ก 3 ครั้ง, กินเธอร์ และ เซอร์ตีส
1 ครั้ง
ทีมที่คว้าแชมป์ประเภททีมผู้ผลิตด้วยเครื่องยนต์ฮอนด้า
แมคลาเรน-ฮอนด้า 44 ครั้ง, วิลเลียมส์-ฮอนด้า 23 ครั้ง, ฮอนด้า 2 ครั้ง และโลตัส-ฮอนด้า 2 ครั้ง
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ฮอนด้าในวงการฟอร์มูล่า วัน ได้ที่ www.hondaf1.com-- จบ--
-อน-