กรุงเทพฯ--4 มี.ค.--กทม.
ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร วันนี้( 3 เม.ย.45 ) เวลา 10.30 น. ดร.ธารินทร์ สงวนเสริมศรี รองผู้ว่าราชการ กรุงเทพมหานคร เป็นประธานแถลงข่าว เรื่อง โรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครแกนนำปลอดลูกน้ำยุงลาย โดยมีนายวันชัย อมรพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักการศึกษา และน.พ.กฤษณ์ หิรัญรัศ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย ร่วมแถลงข่าว
ดร.ธารินทร์ กล่าวว่า สืบเนื่องจากสถานการณ์โรคไข้เลือกออกในปีที่ผ่านมา พบว่า ผู้ป่วยที่เป็นโรคไข้เลือกออกนั้น ส่วนใหญ่เป็นเด็กในกลุ่มอายุ 5 – 14 ปี คือร้อยละ 47 และจากการรายงานของสถานพยาบาลใน กทม.ตั้งแต่ มกราคม – 2 เม.ย. 2545 มีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกถึง 1,708 ราย ในส่วนของการกำจัดยุงลายให้ประสบผลสำเร็จนั้นต้องทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุง ให้หมดไป ส่วนการใช้หมอกควันนั้นใช้สำหรับการกำจัดเฉพาะตัวยุงเท่านั้น ดังนั้นกทม.จึงได้มอบหมายให้สำนักอนามัยและ สำนักการศึกษา ดำเนินการเร่งรัดป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออกในโรงเรียนและสถานการศึกษาต่าง ๆ อย่างจริงจังและ เป็นรูปธรรม เนื่องจากโรงเรียนเป็นสถานที่ที่เด็กนักเรียนจะใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ในช่วงเวลากลางวันซึ่งตรงกับระยะเวลาออกหากินของยุงลายซึ่งเป็นพาหะโรคไข้เลือดออก โดยกำหนดให้มีการรณรงค์ให้โรงเรียนสังกัด กทม.ทุกแห่งจัดกิจกรรมกำจัดลูกน้ำยุงลายอยู่เป็นประจำทุกสัปดาห์อย่างต่อเนื่องจนไม่พบลูกน้ำยุงลายจากภาชนะขังน้ำทั้งหมดในโรงเรียน และขยายผลการดำเนินงานโรงเรียนปลอดลูกน้ำยุงลายไปสู่โรงเรียนทุกสังกัดทั้งภาครัฐและภาคเอกชน รวมทั้งบ้านเรือน ชุมชนครอบคลุมพื้นที่กทม.ภายในปี 2545 โดยจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนเมษายนนี้เป็นต้นไป
นายวันชัย กล่าวด้วยว่า จากนโนบายของกทม.ที่ต้องการให้โรงเรียนในกทม.ทุกแห่งปลอดลูกน้ำยุงลาย สำนักการศึกษา กทม.ร่วมกับโรงเรียนในสังกัดได้กำหนดมาตรการดำเนินการดังนี้ 1.ตั้งคณะกรรมการระดับนักเรียนโดยมีนักเรียนเป็นผู้ดำเนินการ เป็นคณะกรรมการกำจัดยุงลาย ดำเนินการทุกวันศุกร์และมีคณะกรรมการตรวจสอบผลการดำเนินการในทุกจันทร์ 2.กำหนดให้ทุก โรงเรียนมีข้อมูลเกี่ยวกับภาชนะขังน้ำที่สามารถเป็นจะแหล่งเพาะพันธุ์ยุงได้ว่ามีจำนวนมากน้อยเพียงไรและที่ใหน 3.ให้ขยายผลการดำเนินการไปยังบ้านเรือน ดังนั้นการดำเนินการต้องมีความร่วมมือระหว่างโรงเรียนและบ้าน 4.ในการประชุมผู้ปกครองนักเรียนที่จัดเป็นประจำยังให้ความรู้แก่ผู้ปกครองเรื่องของโรคไข้เลือดออกอีกด้วย นอกจากนี้ทุกชุมชนที่ตั้งอยู่บริเวณรอบโรงเรียนระยะห่างไม่เกิน 100 เมตร ในช่วงสัปดาห์รณรงค์พร้อมกันทั่วประเทศทุก 3 เดือนจะต้องจัดกิจกรรมด้วย 5.โรงเรียนต้องส่งรายงานผลการสำรวจดัชนีลูกน้ำยุงลายทุกเดือนแก่สำนักงานเขต
ด้าน น.พ.กฤษณ์ กล่าวว่า จากสถานการณ์โรคไข้เลือดออกในปี 2544 กทม.มีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกรวมทั้งสิ้น จำนวน16,734 ราย(เป็นผู้เสียชีวิต 25 ราย) ในจำนวนนี้เป็นเด็กวัยเรียน กลุ่มอายุ 5 – 14 ปี ร้อยละ 47 และในปี2545 ตั้งแต่ 1 ม.ค. ถึง 2 เม.ย. มีผู้ป่วยฯทั้งสิ้น 1,708 ราย ในจำนวนนี้เป็นเด็กกลุ่มอายุ 5 – 14 ปี ร้อยละ 55 ทั้งนี้การดำเนินงานป้องกันและควบคุม โรคไข้เลือดออกให้ประสบผลสำเร็จจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากประชาชนทุกครอบครัว ชุมชน โรงเรียน และสถานศึกษาทุกแห่ง ในการเร่งรัดกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ทุกๆ 7 วัน
สำหรับในเดือนกุมภาพันธ์ 2545 สำนักอนามัย ได้ดำเนินการสำรวจดัชนีลูกน้ำยุงลาย ในชุมชนต่าง ๆ จำนวน 1,512 ชุมชนพบว่า ชุมชนที่มีความเสี่ยงน้อยที่สุดเพียง 180 ชุมชน และโรงเรียนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่กทม. จำนวน 512 โรงเรียน พบว่า มีโรงเรียนที่มีระดับดีพอใช้ประมาณ 300 โรงเรียน ทั้งนี้ในปี 2545 สำนักอนามัยมีเป้าหมายที่จะเร่งดำเนินการกำจัดลูกน้ำยุงลาย โดยจะเร่งรัดดำเนินการให้ชุมชนจำนวน 300 ชุมชนและโรงเรียนในสังกัดกทม.ทุกโรงเรียนมีความเข้มแข็งปราศจากลูกน้ำยุงลาย โดยเน้นในชุมชนและโรงเรียนที่มีอัตราการเสี่ยงเป็นโรคไข้เลือดออก นอกจากนี้สำนักอนามัยได้จัดประชุมชี้แจงการดำเนินการเกี่ยวกับกิจกรรมโรงเรียนปลอดลูกน้ำยุงลายให้แก่ผู้บริหารและครู อาจารย์ของโรงเรียนในสังกัดกทม.ทุกแห่ง รวมทั้งแกนนำชุมชนต่าง ๆ แล้ว ตลอดจนมีการติดตามดำเนินงาน การประกวดชุมชนและโรงเรียนปลอดลูกน้ำยุงลายซึ่งจะมีการประกาศผลประมาณ เดือนกันยายนหรือตุลาคมศกนี้--จบ--
-สส-