กรุงเทพ--22 พ.ย.--กพช.
ในช่วงที่ผ่านมาที่ราคาน้ำมันมีการขยับสูงขึ้นตลอดเวลา ท่านผู้อ่านอาจจะได้ยินคำว่า กพช. (คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ) บ่อยครั้งขึ้น และคงสงสัยว่า กพช. นี้คืออะไร มีบทบาทหน้าที่และความสำคัญอย่างไร ซึ่งอันที่จริงแล้ว กพช. มีบทบาทอย่างมากในการกำหนดนโยบายการใช้พลังงานของประเทศ รวมทั้งการกำหนดหาแหล่งพลังงานใหม่ ๆ มาทดแทน ไม่ใช่เพิ่งจะมามีบทบาทในตอนนี้ เพียงแต่ว่าระยะนี้เป็นจังหวะที่น้ำมันมีราคาแพงเท่านั้นเองจึงได้ยินชื่อของ กพช. อยู่บ่อย ๆ ในข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์ชื่อเต็มของ กพช. ก็คือ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ มี นายศุภชัย พานิชภักดิ์ เป็นประธานฯ และมีนายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ เป็นเลขาธิการฯ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สพช.) จริง ๆ แล้วบทบาทของ กพช. ค่อนข้างจะเกี่ยวพันกับชีวิตประจำวันของเราอยู่เหมือนกันเพราะว่า เราจะใช้น้ำมัน ไฟฟ้า ราคาเท่าใด หรือว่าพลังงานเหล่านี้จะขาดแคลนหรือมากเกินความจำเป็น การกำหนดนโยบายต่าง ๆ ที่จะมีผลกระทบหรือเกี่ยวข้องกับเราก็ขึ้นอยู่กับ กพช. โดยตรงคณะกรรมการฯ ชุดนี้ นอกจากจะกำหนดแนวทางพลังงานของประเทศซึ่งเป็นหน้าที่หลักประการหนึ่งแล้ว ยังรับผิดชอบการดำเนินงานของ "กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน" อีกด้วย ซึ่งเงินจากกองทุนฯ นี้แหละที่จะนำมาใช้ในการส่งเสริมและสนับสนุนโครงการต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศ กองทุนฯ คือตัวจักรสำคัญยิ่งของ กพช. ที่จะจัดสรรเงินงบประมาณมาใช้ดำเนินการแต่ละแผนงานการดำเนินงานของกองทุนฯ ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ดร.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ เลขาธิการฯ สพช. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลการใช้เงินของกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน เพื่อให้มีการใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ กล่าวว่า การดำเนินงานในช่วงปีงบประมาณ 2538-2542 ถือได้ว่าประสบผลสำเร็จในระดับที่น่าพอใจ เพราะการดำเนินงานตามแผนอนุรักษ์พลังงานที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการกองทุนฯ มีความคืบหน้าไปมากสำหรับแผนงานของกองทุนฯ แบ่งเป็น 3 แผนงานคือ แผนงานภาคบังคับ แผนงานภาคความร่วมมือ และแผนงานสนับสนุน โดยมีเป้าหมายหลักอยู่ที่ ความสามารถในการประหยัดพลังงานโดยรวมของประเทศ และการแสวงหาแหล่งพลังงานใหม่ ๆ ที่หลากหลายและมีประสิทธิภาพมาทดแทน
แต่ละแผนคืบหน้าไปมากน้อยแค่ไหนแล้วนั้น มาเริ่มกันที่แผนแรกคือ 1.แผนงานภาคบังคับ ซึ่งแผนงานนี้ทำงานกันอย่างเต็มที่ โดยเน้นหนักในการปรับปรุงอาคารและโรงงานต่าง ๆ ทั้งของรัฐและเอกชน ในส่วนของภาครัฐนั้นก็คือ การปรับปรุงอาคารสถานที่ราชการที่มีขนาดใหญ่ทั่วประเทศและมีการใช้พลังงานมาก เพื่อให้มีการใช้พลังงานลดน้อยลง ไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงทางด้านอาคาร ด้านอุปกรณ์ใช้งาน ตลอดจนการอบรมให้ความรู้กับบุคลากรของหน่วยงานนั้น ๆ เรียกได้ว่า ทำงานแบบครบวงจรเลยทีเดียว ซึ่งที่ผ่านมาได้ปรับปรุงไปแล้ว 573 แห่ง เป็นเงินรวม 1,588 ล้านบาท นอกจากนั้นยังรวมไปถึงโครงการโรงงานและอาคารควบคุมที่กำลังใช้งาน ได้ตรวจสอบไปแล้ว 1,371 แห่ง จัดทำเป้าหมายและแผนไปแล้ว 77 แห่ง เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้งาน ส่วนโครงการโรงงานและอาคารที่อยู่ระหว่างการออกแบบหรือก่อสร้าง ได้ลงทุนตามแบบที่ปรับปรุงไปแล้ว 1 แห่ง และโครงการโรงงานและอาคารทั่วไปอีกจำนวนมาก ยังอยู่ระหว่างรอความพร้อมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่วนแผนงานภาคความร่วมมือนั้น ชื่อก็บ่งบอกอยู่แล้วว่าร่วมมือ ดังนั้นกองทุนฯ จะมีบทบาทสนับสนุนและร่วมมือกับหน่วยงานรัฐและองค์กรเอกชนต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น มหาวิทยาลัย สถาบันวิจัย เพราะกองทุนฯ ให้การสนับสนุนเต็มที่กับโครงการที่มีประโยชน์ต่อการอนุรักษ์พลังงานอยู่แล้ว แผนงานฯ นี้แยกเป็น 3 โครงการใหญ่ ๆ คือ 1.โครงการพลังงานหมุนเวียนและกิจกรรมการผลิตในชนบท โดยให้การสนับสนุนไปแล้ว 11 โครงการ รวมเป็นเงิน 598 ล้านบาท สามารถลดการใช้พลังงานคิดเป็นเงินได้ 2,114 ล้านบาท โครงการนี้มีพื้นที่ดำเนินงานอยู่ในชนบทเป็นหลัก ทำการส่งเสริมใน 2 ลักษณะ คือ การนำของเหลือทั้งภาคเกษตรและอุตสาหกรรมมาใช้เป็นพลังงานในรูปต่าง ๆ และการนำพลังงานธรรมชาติมาแปรรูปเป็นพลังงานไฟฟ้า เช่น การส่งเสริมการผลิตก๊าซชีวภาพจากมูลสัตว์ในฟาร์มขนาดใหญ่ การผลิตกระแสไฟฟ้าจากหลุมขยะ เป็นต้น ท่านผู้อ่านคงนึกไม่ถึงใช่ไหมว่า มูลสัตว์หรือหลุมขยะก็ยังเป็นประโยชน์ถ้าเรารู้จักนำมาใช้โครงการที่ 2 เป็นโครงการส่งเสริมธุรกิจด้านการอนุรักษ์พลังงาน ที่ผ่านมาได้ใช้เงินจากกองทุนฯ สนับสนุนไปแล้ว 23 โครงการ รวมเป็นเงิน 482 ล้านบาท สามารถลดการใช้พลังงานคิดเป็นเงิน 583 ล้านบาท เช่น การสาธิตการใช้ประโยชน์จากพลังงานแสงอาทิตย์เช่น ระบบผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าบนหลังคาบ้าน ระบบสูบน้ำในหมู่บ้าน โครงการเหล่านี้ช่วยลดการใช้พลังงานคิดเป็นเงินประมาณ 583 ล้านบาทอีกโครงการหนึ่งคือ โครงการศึกษา วิจัย และพัฒนา ส่วนใหญ่แล้วจะเน้นหนักไปที่การสนับสนุนงานวิจัยของหน่วยงานต่าง ๆ ที่เสนอเข้ามาเพื่อส่งเสริมให้โครงการวิจัยต่าง ๆ นั้นเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาเช่น ศึกษาและพัฒนาอุปกรณ์อัดแท่งเชื้อเพลิงเขียว ศึกษาและพัฒนาอุปกรณ์ใช้ก๊าซชีวภาพ เป็นต้น ส่วนนี้แหละที่ทำให้เราได้ค้นพบและรู้จักกับเทคโนโลยีใหม่ ๆเงินของกองทุนฯ ไม่ใช่เข้าไปสนับสนุนแต่เรื่องเทคโนโลยีหรือเรื่องการบังคับบรรดาอาคารต่าง ๆ เท่านั้น แต่ยังมี แผนงานสนับสนุน ที่คอยให้การสนับสนุนในการสร้างบุคลากรทางด้านพลังงานของประเทศ เรียกได้ว่าอยู่เบื้องหลังก็ไม่ผิด โดยมีเนื้องานหลัก ๆ 3 อย่างคือ โครงการพัฒนาบุคลากร โครงการประชาสัมพันธ์ โครงการบริหารงานตามพระราชบัญญัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2535หากจะแยกออกมาแต่ละโครงการแล้ว การพัฒนาบุคลากรได้ให้ทุนระดับปริญญาโท 200 ทุน และปริญญาเอก 50 ทุน นอกจากนี้ยังส่งเสริมการเรียนการสอนเรื่องการอนุรักษ์พลังงานในคณะวิศวกรรมศาสตร์ ระดับปริญญาตรีอีก 500 ทุนต่อปี และปริญญาโท 200 ทุนต่อปี ซึ่งผู้ที่ได้รับทุนนั้นก็จะส่งผลดีสะท้อนกลับมายังประเทศในการพัฒนาการอนุรักษ์พลังงาน ส่วนโครงการประชาสัมพันธ์ คิดว่าเป็นส่วนที่เราคงได้ยินคุ้นหูและสัมผัสมากที่สุดคือ โครงการ "รวมพลังหาร 2" ที่ สพช. รณรงค์ให้เราประหยัดพลังงานและตอกย้ำทางสื่อมวลชนตลอดเวลา แต่ไม่ใช่รณรงค์ประหยัดพลังงานอย่างเดียว ยังได้เสนอวิธีการประหยัดพลังงานแนวทางใหม่ ๆ ให้ด้วย เช่น คาร์พูล การใช้รถยนต์ร่วมกันในทางเดียวกัน อีกโครงการหนึ่งดูออกจะห่างไกลตัวเราสักเล็กน้อยแต่ก็สำคัญไม่แพ้กันคือ โครงการบริหารงานตามพระราชบัญญัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2535 ซึ่งเกี่ยวข้องกับค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติงานเมื่อได้รับรู้โครงการต่าง ๆ ของกองทุนฯ แล้วว่า ดำเนินโครงการและกิจกรรมมากมายเช่นนี้ หลายคนอยากรู้ว่า ผลลัพธ์ที่ได้รับกลับมาจากการดำเนินงานตามแผนฯ เป็นอย่างไรบ้างผลประโยชน์ที่ได้รับนั้นมากมายในแง่ของการประหยัดการใช้พลังงานและประหยัดเงินสรุปผลงานโดยรวมของกองทุนฯ ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา จะพบว่า ผลงานทั้งหมดของกองทุนฯ สามารถทดแทนการใช้พลังงานไฟฟ้าได้มากถึง 139 ล้านหน่วย/ปี คิดเป็นเงิน 305 ล้านบาท หากคิดรวมตลอดอายุการใช้งานของอุปกรณ์และเทคโนโลยี 25 ปีแล้ว จะสามารถลดค่าใช้จ่ายได้เป็นเงิน 3,400 ล้านบาท
ในด้านของพลังงานเชื้อเพลิง สามารถทดแทนพลังงานเชื้อเพลิงได้ 26 ล้านลิตรน้ำมันดิบ/ปี คิดเป็นเงิน 220 ล้านบาท/ปี แต่ถ้าคิดรวมตลอดโครงการแล้วจะประหยัดได้ถึง 2,231 ล้านบาท รวมความสามารถในการอนุรักษ์พลังงาน คิดเป็นเงินรวม 5,631 ล้านบาท
นับว่าแผนงานของกองทุนฯ เป็นการทำงานเพื่อประหยัดพลังงานของประเทศได้อย่างดี และที่สำคัญยังจะช่วยประหยัดเงินตราของประเทศในด้านการใช้จ่ายพลังงานได้ด้วย แม้ว่าแต่ละแผนงานฯ จะใช้เวลาดำเนินการระยะยาวก็ตาม แต่ผลที่ได้รับนั้นคุ้มค่ามากซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศได้อีกทางหนึ่ง--จบ--