กรุงเทพ--23 ก.ค.--มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชี้แจงกรณีกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย ประจำปี 2543 แขวนงบประมาณ 913 ล้านบาท ที่มหาวิทยาลัยขอแปลงงบฯ จากการก่อสร้างศูนย์บริการวิชาการและการประชุมนานาชาติ มาใช้ในโครงการใหม่ 6 รายการ ยืนยันทำถูกต้องตามขั้นตอนสมบูรณ์ทุกประการ
ตามที่ รองศาสตราจารย์ ดร.นริศ ชัยสูตร อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล อินนา รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนพัฒนาและเทคโนโลยี อาจารย์แก้วสรร อติโพธิ รองอธิการบดีฝ่ายกิจการพิเศษ และคณบดีจากคณะต่าง ๆ เข้าชี้แจงงบประมาณของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ต่อที่ประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2543 เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2542 และได้มีการชี้แจงต่อที่ประชุมว่าได้ยกเลิกสัญญากับบริษัท เกษมกิจ คอนสตรัคชั่น จำกัด ในโครงการก่อสร้างศูนย์บริการวิชาการและการประชุมนานาชาติ วงเงิน 913 ล้านบาท และขอแปลงงบประมาณนี้ไปก่อสร้างศูนย์บริการวิชาการที่มีขนาดเล็กลงแทน และจะนำงบประมาณส่วนที่เหลือไปใช้ในการก่อสร้างและปรับปรุงโครงการต่าง ๆ รวม 6 รายการ (รวมศูนย์บริการวิชาการ) ได้แก่ 1.ปรับปรุงยิมเนเซี่ยมแฮนด์บอลเป็นอาคารหอสมุด 2.ปรับปรุงยิมเนเซี่ยมแบดมินตันเป็นห้องเรียน 3.ก่อสร้างสำนักงานอธิการบดี 4.ปรับปรุงอาคารโดม ศูนย์รังสิต 5.ก่อสร้างกลุ่มอาคารทางสังคมศาสตร์ 6.ก่อสร้างอาคารศูนย์บริการวิชาการ แต่กรรมาธิการฯ เห็นว่าการแปลงงบประมาณนี้จะต้องคิดให้รอบคอบและมีมติให้แขวนงบประมาณดังกล่าว
กรณีนี้ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า เพื่อให้ประชาคมธรรมศาสตร์และสาธารณชนทั่วไปเข้าใจถึงข้อเท็จจริงและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในที่ประชุมวันที่ 12 กรกฎาคม 2542 จึงใคร่ขอชี้แจงเรื่องต่าง ๆ กล่าวคือ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้รับอนุมัติให้มีการทำสัญญากับบริษัท เกษมกิจ คอนสตรัคชั่น จำกัด ก่อสร้างศูนย์บริการวิชาการและการประชุมนานาชาติ วงเงิน 913 ล้านบาท เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2540 และสัญญาเริ่มวันที่ 15 ตุลาคม 2540 ซึ่งนับถึงวันที่ 24 สิงหาคม 2541 บริษัทไม่ได้เริ่มลงมือก่อสร้างตามสัญญาแต่อย่างใด รวมถึง 314 วัน มหาวิทยาลัยจึงทบทวนโครงการนี้โดยขั้นแรก คือ ขอยกเลิกสัญญา ขั้นที่2 หลังจากยกเลิกสัญญาแล้ว มหาวิทยาลัยได้ทบทวนร่วมกับสำนักงบประมาณเพื่อที่จะใช้งบประมาณนี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในภาวะวิกฤติเศรษฐกิจของประเทศ โดยจะไม่นำไปก่อสร้างศูนย์ประชุมขนาดใหญ่ แต่ขอเปลี่ยนแปลงงบประมาณนี้กับสำนักงบประมาณ เพื่อขอใช้ประโยชน์ให้เกิดกับการเรียนการสอนมากที่สุด และเพื่อเตรียมรองรับการขยายไปศูนย์รังสิตด้วย ซึ่งได้นำเรื่องนี้เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติ เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2542 ตามที่ได้เสนอข่าวไปแล้วนั้น รองศาสตราจารย์ ดร.นริศ ชัยสูตร กล่าวต่อไปว่า ในที่ประชุมกรรมาธิการฯ มีการพิจารณาถึงโครงการศูนย์บริการวิชาการและการประชุมนานาชาติ อยู่ 2 ประเด็น ประเด็นแรกคือ เทคนิควิธีการงบประมาณ ซึ่งสำนักงบประมาณยืนยันว่า กรณีนี้สามารถเปลี่ยนแปลงงบประมาณได้ และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็ดำเนินการถูกต้องตามขั้นตอนทุกประการ จนกระทั่งเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี แต่กรรมาธิการฯ ยังมีความเห็นแตกต่างว่า โดยวิธีการงบประมาณแล้ว การเปลี่ยนแปลงงบฯ จะถูกต้องหรือไม่ จึงได้มีมติแขวนงบฯ ไว้ก่อน และในวันต่อมาสำนักงบประมาณได้เข้าปรึกษาและยืนยันต่อคณะรัฐมนตรีว่าถูกต้องทุกประการ โดยขั้นตอนต่อไปเป็นเรื่องที่สำนักงบประมาณจะชี้แจงให้กรรมาธิการฯ พิจารณาในขั้นทบทวนต่อไป โดยมหาวิทยาลัยกำลังรอฟังความคืบหน้าอยู่ในขณะนี้
ประเด็นที่สองที่มีการพิจารณาในที่ประชุม คือ มีการซักถามในลักษณะที่เหมือนกับเป็นการกล่าวหามหาวิทยาลัยเป็นนัยว่า มีเจตนาที่จะยกเลิกสัญยาเพื่อจะนำงบประมาณไปดำเนินการส่วนอื่น ๆ ซึ่งมหาวิทยาลัยได้ยืนยันไปว่า บริษัทนี้ได้รับงานไปถึง 314 วัน แต่ไม่ได้ดำเนินการใด ๆ เลย โดย 4 เดือนแรกมีหนังสือขอต่อเวลา ทั้งที่ยังไม่ได้ลงมือทำ และยื่นข้อเสนอว่า ถ้ามหาวิทยาลัยไม่ต่อเวลาให้ก็จะขอยกเลิก โดยมหาวิทยาลัยยืนยันว่าก่อนขอต่อสัญญานั้นไม่เข้าข่ายยกเว้นตามมติคณะรัฐมนตรี ต่อมาบริษัทก็เจรจาจะขอเปลี่ยนวัสดุ แต่มหาวิทยาลัยพบว่าบริษัทไม่เพียงแต่เปลี่ยนวัสดุเท่านั้น กลับเปลี่ยนแบบด้วย ซึ่งจะทำให้มูลค่าของเนื้องานลดลง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไม่สามารถยอมรับได้ ประกอบกับผู้บริหารมหาวิทยาลัย ได้ฟังความเห็นจากคณะที่ปรึกษากฎหมายของมหาวิทยาลัยที่มีมติเป็นเอกฉันท์ว่า กรณีของบริษัท เกษมกิจ คอนสตรัคชั่น จำกัด ถือได้ว่า เป็นกรณีทิ้งงานมหาวิทยาลัยจึงจำเป็นต้องใช้สิทธิบอกเลิกสัญญา
อนึ่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงปัญหาที่ว่ามีตัวแทนของผู้รับเหมาเข้ามาอยู่ในที่ประชุมกรรมาธิการฯ เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม นั้นและมีคำถามว่า เข้ามาได้อย่างไร การซักถามของกรรมาธิการฯ มีปัญหาอะไรหรือไม่ กรณีนี้มหาวิทยาลัยไม่ขอก้าวล่วง ขอให้เป็นกลไกความรับผิดชอบทางการเมืองเท่านั้น และปัญหาการเปลี่ยนแปลงงบประมาณ 913 ล้านบาทนี้ ควรจะได้รับอนุมัติหรือไม่ เป็นเรื่องของระเบียบวิธีงบประมาณที่กรรมาธิการฯกับสำนักงบประมาณจะวินิจฉัยร่วมกัน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ซึ่งมีส่วนได้เสีย จะไม่ขอแสดงท่าทีใด ๆ เนื่องจากจะเป็นการไม่สมควรต่อการทำงานของกรรมาธิการฯ ในทุกกรณี--จบ--