กรุงเทพ--6 ม.ค.--ปตท.
นายปรีชา อรรถวิภัชน์ ประธานกรรมการ การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) แถลงว่า ในการประชุมคณะกรรมการ ปตท. ครั้งที่ 12/2541 ซึ่งเป็นครั้งสุดท้ายของปีนี้ ได้มีการพิจารณาคัดเลือกผู้รับเหมาก่อสร้าง โครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ราชบุรี-วังน้อย ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 30 นิ้ว ความยาวประมาณ 154 กิโลเมตร โดยที่ประชุมมีมติอนุมัติให้ว่าจ้าง กลุ่มบริษัท SAIPEM ASIA SDN BHD / MITUI & CO.LTD CONSORTIM ซึ่งเป็นบริษัทร่วมค้าของประเทศอิตาลีและญี่ปุ่น เป็นผู้จัดหาและวางท่อส่งก๊าซฯ เนื่องจากเป็นบริษัทที่เสนอรายละเอียดถูกต้องตามข้อกำหนด มีเทคนิคในการดำเนินงานก่อสร้างดี รวมทั้งมีราคาต่ำที่สุดด้วย คือ 5,206 ล้านบาท จากราคากลางที่ตั้งไว้ 6,554 ล้านบาท ทำให้ประหยัดงบประมาณได้ 1,350 ล้านบาท
โครงการฯ ราชบุรี-วังน้อย เป็นโครงการท่อส่งก๊าซฯ สายหลักในแผนแม่บทระบบท่อก๊าซ" ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2540 นับเป็นโครงการที่มีความสำคัญต่อความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศอย่างมาก เพราะเป็นเส้นที่เชื่อมระหว่างแหล่งก๊าซฯ จากพม่าและจากอ่าวไทย ให้สามาถนำมาใช้ทดแทนกันได้ โดยผ่านการเห็นชอบจากคณะกรรมากรสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เมื่อกรกฎาคม 2541 และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้อนุมัติให้ปตท.ดำเนินโครงการฯ ในวงเงิน 10,660 ล้านบาท เมื่อเดือนสิงหาคม 2541 ที่ผ่านมา
นายปรีชา เปิดเผยถึงวิธีการคัดเลือกผู้รับเหมา ว่า มีขั้นตอนปฏิบัติที่ชัดเจน โดยเริ่มจากบริษัทวิศวกรที่ปรึกษา คือ บริษัท BECHTEL ประเทศ สหรัฐอเมริกา เป็นผู้บริหารโครงการ ออกแบบรายละเอียดทางวิศวกรรม จัดทำเอกสารประกวดราคาผ่านสื่อต่าง ๆ กำหนดวันซื้อและยื่นซองเอกสารฯ ชัดเจน ซึ่งมีบริษัทมาซื้อซอง 14 ราย แต่มายื่นเพียง 5 ราย โดยในการเปิดซองประกวด ราคานั้น จะมีคณะกรรมการจัดหาพัสดุ 4 คน รวม 12 คน ทั้งนี้ ผู้เสนอราคาต่ำสุด มิได้หมายความว่าจะเป็นผู้ได้รับการคัดเลือก เพราะสิ่งที่ต้องพิจารณา คือ รายละเอียดด้านเทคนิค และเงื่อนไขด้านการค้าควบคู่กันไป
สำหรับการพิจารณาเอกสารประกวดราคานั้น จะแบ่งเป็น 2 ขั้นตอน คือเบื้องต้นจะพิจารณาคุณสมบัติของผู้เสนอราคาตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้เป็นอันดับแรก หากคุณสมบัติครบถ้วนคณะกรรมการฯ จึงจะเปิดเอกสารข้อเสนอทางเทคนิค และข้อเสนอด้านราคาต่อไปเพื่อพิจารณาในรายละเอียด โดยบริษัทวิศวกรที่ปรึกษา จะทำการประเมินวิเคราะห์รายละเอียดด้านเทคนิค ซึ่งจะมีหัวข้อเสนอทางเทคนิค และข้อเสนอด้านราคาต่อไปเพื่อพิจารณาในรายละเอียด โดยบริษัทวิศวกรที่ปรึกษาจะทำการประเมินวิเคราะห์รายละเอียดด้านเทคนิค ซึ่งจะมีหัวข้อหลัก ๆ อยู่ 6 หัวข้อ ผลการประเมินจะแสดงเป็นคะแนน โดยรายใดที่เสนอรายละเอียดชัดเจนครบถ้วน มีแผนงานที่ดี เทคนิคดี มีการควบคุมคุณภาพที่ดี ฯลฯ ก็จะมีคะแนนสูง และถูกเรียงลำดับไว้ จากนั้นจึงเป็นการพิจารณารายละเอียดด้านราคาในแต่ละรายการ ว่าครบถ้วนหรือไม่ เมื่อประเมินได้ราคารวมแล้ว จึงนำมาพิจารณาประกอบกับรายละเอียดด้านเทคนิค โดยบริษัทวิศวกรที่ปรึกษาจะเป็นผู้พิจารณา และให้คำแนะนำกับ ปตท. ว่าบริษัทใดสมควรได้รับการคัดเลือก ซึ่งบริษัทที่อยู่ในข่ายพิจารณา ต้องมีคะแนนด้านเทคนิคอยู่ในเกณฑ์ใช้ได้ ยิ่งสูงยิ่งดี ส่วนราคาที่ผ่านมกาวิเคราะห์แล้วควรจะต่ำสุด
นายปรีชา เปิดเผยด้วยว่า การประกวดราคาลักษณะนี้เป็นวิธีสากลที่ใช้กันทั่วไป และเป็นมาตรฐานของธนาคารโลกสำหรับโครงการขนาดใหญ่ เรียกว่า Close Bid หมายถึงผู้ยื่นซองแต่ละราย จะไม่ทราบข้อเสนอด้านราคาของคนอื่น ซึ่งจะเป็นผลดีต่อเจ้าของโครงการ คือ ทำให้มีอำนาจต่อรองมากยิ่งขึ้น โดยโครงการใหญ่ ๆ ของปตท. และของหน่วยงานรัฐอื่น ๆ ก็ใช้วิธีการเช่นนี้ ทั้งนี้สำหรับบริษัท SAIPEM ที่ได้รับการคัดเลือกครั้งนี้ เป็นบริษัทที่ผ่านขั้นตอนการพิจารณาด้านเทคนิค ด้านราคา และมีราคาวิเคราะห์รวมต่ำสุด ซึ่งยืนยันได้ว่าดำเนินการด้วยความโปร่งใส--จบ--