กรุงเทพ--25 พ.ย.--ปตท.
นายพละ สุขเวช ผู้ว่าการ การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) เปิดเผยว่า เพื่อให้การปรับและฟื้นฟูสภาพแวดล้อม หลังวางแนวท่อส่งก๊าซธรรมชาติ แหล่งยาดานา มีความสมบูรณ์มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ปตท.จึงได้เชิญนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการเพื่อแก้ปัญหากรณีท่อส่งก๊าซธรรมชาติแหล่งยาดานา และผู้แทนกลุ่มอนุรักษ์ต่างๆ ที่มีความห่วงใยสิ่งแวดล้อมเข้าตรวจและดูการฟื้นฟูสภาพพื้นที่ตามแนวท่อก๊าซฯ ระหว่างวันที่ 24-26 พฤศจิกายน เพื่อให้คำชี้แนะเพิ่มเติม ซึ่งขณะนี้ในส่วนพื้นที่ทำกิน ปตท.ได้ดำเนินการปรับสภาพให้เหมือนเดิมและราษฎรสามารถปลูกพืชไร่ได้ตามปกติแล้ว ส่วนที่เป็นพื้นที่ป่าได้ดำเนินการไปแล้วกว่า ร้อยละ 90 ทั้งนี้ ปตท.จักได้นำคำชี้แนะต่างๆ มาปรับปรุงให้การฟื้นฟูมีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น
สำหรับการปรับสภาพพื้นที่ป่าหลังวางแนวท่อนี้ ประกอบด้วยขั้นตอนหลัก คือ การปรับระดับความลาดชันของภูมิประเทศเข้าสู่สภาพเดิม การบดอัดพื้นที่ การปลูกพืชคลุมดิน และการจัดทำคันดิน เพื่อป้องกันการชะล้างหน้าดินในระยะที่พืชคลุมดินยังไม่โต ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่ดำเนินการเรียบร้อยแล้ว ยังเหลือเฉพาะช่วง 6 กิโลเมตรบนสันเขาตะกั่ว (ประมาณ KP20-26) ซึ่งเป็นจุดสุดท้ายของการก่อสร้าง เนื่องจากเพิ่งวางท่อเสร็จเมื่อเข้าฤดูฝนในปลายเดือนตุลาคม จึงเริ่มทำการปรับสภาพอัดบดพื้นที่ ซึ่งแล้วเสร็จเมื่อกลางเดือนพฤศจิกายน ที่ผ่านมา ส่วนการปลูกพืชคลุมดิน และปลูกไม้ยืนต้นเสริมในบริเวณนี้ จะต้องรอฤดูฝนปี 2542 เพื่อให้พืชสามารถอยู่รอดได้
โครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติ แหล่งยาดานา ดำเนินการโดย ปตท. เพื่อรับก๊าซจากประเทศพม่า มาใช้ในประเทศไทย มายังจุดส่งมอบก๊าซ ณ ชายแดนไทย-พม่า บริเวณบ้านอีต่อง อ.ทองผาภูมิ จ.ปราจีนบุรี ได้ก่อสร้างแล้วเสร็จ เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2541 แนวท่อก๊าซฯ ประมาณ 50 กิโลเมตรแรกจำเป็นต้องผ่านพื้นที่ป่า คิดเป็นพื้นที่ราว 600 ไร่ ดังนั้นเมื่องานก่อสร้างแล้วเสร็จ สิ่งที่ ปตท. ได้เร่งดำเนินการต่อมา คือ การปรับและฟื้นฟูสภาพพื้นที่ให้คืนสู่สภาพเดิม ซึ่งได้ผ่านฤดูฝนแรกไปแล้วและส่วนใหญ่ได้ผลเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน อาทิ มีร่องรอยของสัตว์ป่า เช่น ช้างป่า ชะมดแผง เก้ง และ นกกาฮัง ฯลฯ กลับมาใช้พื้นที่หลังแนวท่อแล้ว ส่วนพืชคลุมดินมีอัตราการเติบโตกว่าร้อยละ 80 อย่างไรก็ดี ปตท.จะดำเนินการฟื้นฟูสภาพพื้นที่ในฤดูฝนต่อไปอย่างต่อเนื่อง--จบ--